×

สุดารัตน์เปิดวงเสวนาที่ถนนข้าวสาร ทุกข์ผู้ประกอบการ-คนทำงานกลางคืน ชี้มาตรการไม่ตรงความต้องการคนตัวเล็ก

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2021
  • LOADING...
สุดารัตน์เปิดวงเสวนาที่ถนนข้าวสาร ทุกข์ผู้ประกอบการ-คนทำงานกลางคืน ชี้มาตรการไม่ตรงความต้องการคนตัวเล็ก

วานนี้ (24 กุมภาพันธ์) เวลาประมาณ 18.00 น. ที่ถนนข้าวสาร สถาบันสร้างไทยจัดเสวนานักดนตรีและผู้ประกอบการ เพื่อศึกษาผลกระทบเชิงลึกจากมาตรการของรัฐต่อตัวธุรกิจ พร้อมหามาตรการหรือแนวทางที่ภาคธุรกิจอยากนำเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปได้ รวมถึงศึกษาความเสี่ยงที่ต้องกังวล หากกลับมาเปิดดำเนินการ และการจัดหาสวัสดิการที่ควรมีสำหรับอาชีพอิสระ พร้อมเดินสำรวจธุรกิจร้านค้าย่านถนนข้าวสารที่เป็นไปอย่างเงียบเหงา ไร้นักท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้าปิดตัวหนีวิกฤตเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานกลุ่มสร้างไทย เรียกร้องให้ภาครัฐมองผู้เดือดร้อนทุกกลุ่ม เห็นสภาพความเป็นจริงซึ่งกำลังยากลำบากสำหรับคนตั้งใจทำกิน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเคยเสนอว่า เงินช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการล้มและรักษาตำแหน่งงานให้กับลูกจ้าง เงินยังมีอยู่ อยากให้เกาให้ถูกที่คัน โดยหลักการคือต้องให้รักษาตำแหน่งงาน และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ พร้อมระบุด้วยว่า การขายแอลกอฮอล์ก็ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะกฎหมายที่ระบุว่า การดำเนินการต้องผลิตในปริมาณไม่น้อยกว่า 1 แสนลิตร จึงต้องตั้งคำถามว่ามีวิธีคิดต่อเรื่องดังกล่าวอย่างไร

 

คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำว่า ภาครัฐไม่ได้ขาดเม็ดเงิน แต่ ‘เกาไม่ถูกที่คัน’ แม้แต่การแจกเงินก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่าสิ่งที่ต้องทำเพื่อการแก้ปัญหาคือการรักษาสภาพงานไม่ให้คนตกงานไปมากกว่านี้ รักษา SMEs อย่าให้ล้ม​ โดยเฉพาะเรื่อง Soft Loan และเงินช่วยเหลือ ขอให้ลงไปที่ผู้เดือดร้อนให้ตรงคนที่เดือดร้อนอย่างทั่วถึง ต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการ โดยเฉพาะขั้นตอนการลงทะเบียน เพื่อให้เงินช่วยเหลือลงไปถึงผู้เดือดร้อน​ และควรจ่ายเป็นเงินสด  

 

คุณหญิงสุดารัตน์ระบุด้วยว่า การออกกฎหมาย การขอใบอนุญาต ยังเป็นอุปสรรค เน้นการควบคุม มองผู้ประกอบการเป็นผู้ร้าย ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวให้รวดเร็วที่สุดคือการออก พ.ร.ก. มายกเลิกข้อบังคับหรือใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน โดยปล่อยให้ผู้ประกอบการเดินหน้าประกอบอาชีพ แต่อย่าทำผิดกฎหมาย โดยดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการขออนุญาตต่างๆ ให้ถูกต้อง 

 

ด้าน ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมเหล้าเบียร์ ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการ คนทำมาหากิน จะไม่ตายเพราะโควิด-19 แต่ตายเพราะไม่มีจะกิน จึงขอให้รัฐทบทวนมาตรการที่ออกมา และขอให้ลงมาดูข้อเท็จจริงว่าแต่ละพื้นที่มีมาตรการในการดูแลอย่างไร อนุญาตให้ขายแอลกอฮอล์อย่างไรให้เหมาะสม ส่วนการขายแอลกอฮอล์ออนไลน์ต้องมีการควบคุมอย่างเหมาะสม ไม่ใช่จัดการในลักษณะที่ออกมาตรการกำจัดการขายหรือปิดกั้นการขายของผู้ประกอบการรายย่อย 

 

ธนากรกล่าวด้วยว่า ขณะที่การออกกฎหมายก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งการออกมาตรการต้องทำให้คนค้าขายอยู่ได้ ซึ่งผู้บริหารประเทศจะต้องมีวิสัยทัศน์ ขณะเดียวกันเห็นว่าภาษีที่เรียกเก็บจากยอดขายหนักมากสำหรับผู้ประกอบการ ส่วนร้านค้า ที่พัก โฮสเทล หรือร้านนวด ลำบากมาก แต่คนเหล่านี้ก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง แต่ปัญหาสำคัญคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแต่ละส่วนอย่างละเอียด 

 

ส่วน สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าถนนข้าวสาร เผยว่า ถนนข้าวสารไม่เคยเงียบแบบนี้ ต่างชาติหาย ทำให้ธุรกิจการค้าตกลงกว่าร้อยละ 80 จึงต้องมาคิดว่าจะทำอย่าไรให้ร้อยละ 20 ซึ่งเป็นคนไทยกลับมา แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะยังมีข้อจำกัดในหลายเรื่อง แม้ล่าสุดจะมีการผ่อนคลายให้กลับมาเปิดได้ถึงเวลา 23.00 น. ก็ตาม เพราะสถานบันเทิงยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ โดยเฉพาะผับ บาร์ ซึ่งเวลาดังกล่าวจะได้ประโยชน์เฉพาะในส่วนของร้านอาหารเท่านั้น 

 

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าผู้ประกอบการพยายามตอบสนองมาตรการของภาครัฐและพยายามปรับตัว แต่รัฐบาลก็ควรมีแผนบริหารจัดการที่ดีกว่า ออกมาตรการที่ชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรกลับไปทบทวน และขอให้รัฐปรับแก้ไขกฎหมายให้เอื้อต่อการทำมาหากินให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยเฉพาะในแง่ของธุรกิจท่องเที่ยว และขอให้ทบทวนกฎหมายว่าจะบริหารจัดการอย่างไรในแต่ละส่วนให้เหมาะสม ไม่ใช่เหมารวมทุกธุรกิจ 

 

ขณะที่ ไตรเทพ ศรีกาลรา นักดนตรีอิสระ เปิดเผยว่า รายได้หายไปกว่าร้อยละ 90 แต่ค่าใช้จ่ายยังเท่าเดิม ถือเป็นช่วงที่ลำบากที่สุดในรอบ 17 ปี รัฐต้องเข้ามาช่วยเยียวยา แบ่งเบาผู้ประกอบการ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ แม้แต่เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำก็ไม่ถึงผู้ประกอบการ 

 

ด้านผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายต้องเชื่อมต่อการทำมาหากินของประชาชน ไม่ใช่ออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ประชาชนทำตามความต้องการของผู้มีอำนาจ

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X