วันนี้ (7 มกราคม) คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของพี่น้องประชาชนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขคือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงถึง 90% ของ GDP หรือมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท ประกอบกับการก่อหนี้เพิ่มเติมมหาศาลจากการแจกเงินหมื่น ซึ่งเฟส 2 และ 3 กำลังจะถูกขับเคลื่อนในปีนี้ ทั้งที่ตัวเลขในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีความสามารถในการเพิ่ม GDP ได้เพียง 0.2-0.3% เท่านั้น
“สะท้อนให้เห็นว่าไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ใหม่ แต่เป็นเพียงการนำเงินภาษีอากรของประชาชนไปใช้ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อคะแนนนิยมทางการเมืองในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เท่านั้นหรือไม่” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
คุณหญิงสุดารัตน์เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำในปี 2568 คือการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงให้เกิดขึ้นกับประชาชน การแจกเงินหมื่นคงไม่ใช่การสร้างรายได้อย่างแท้จริง แต่สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้น ประชาชนมีกินมีใช้ ผู้มีอำนาจจะต้องกลับไปปรับการสร้างรายได้พื้นฐานของประชาชนให้เกิดความเข้มแข็ง ทั้งการสร้างรายได้จากฐานความเข้มแข็งเดิม เช่น ส่งเสริมและสนับสนุน SMEs, ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ภาคเกษตร, การท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกให้มีแต้มต่อ
“ภาคส่วนที่กล่าวมานั้นคือกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เป็นกลไกในการจ้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนไทย ให้เกิดพลังในการต่อสู้กับทุนต่างชาติที่เข้ามาทุบตลาดในประเทศไทย โดยทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างศักยภาพและทักษะให้กับแรงงานไทย เพื่อความพร้อมรองรับการลงทุนของโลกยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคของเมกะเทรนด์ เช่น บริการด้านสุขภาพ, เซมิคอนดักเตอร์, พลังงานสะอาด, ลิเธียมและแบตเตอรี่, คลาวด์, เมตาเวิร์ส”
คุณหญิงสุดารัตน์เห็นด้วยกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่ประกาศผ่านเวทีหาเสียงว่า จะทุบราคาค่าไฟให้ลงมาเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย และจะคอยติดตาม ซึ่งหากทำได้จะถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงาน แต่การดำเนินการต้องไม่ใช่รูปแบบของการนำเงินภาษีประชาชนไปอุดหนุนเพียงชั่วคราวเหมือนที่ผ่านมา หรือลักษณะควักกระเป๋าซ้ายไปจ่ายกระเป๋าขวา ซึ่งไม่ใช่การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำมันอย่างแท้จริง แต่การจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานได้นั้น รัฐบาลต้องปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ ต้องกล้าเข้าไปทลายทุนผูกขาดด้านพลังงาน จึงจะช่วยลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำมัน และค่าไฟฟ้า ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืน