×

สุชัชวีร์ มองกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเดิมหลังลงพื้นที่หาเสียง กทม. เป็นงานช่าง มากกว่างานการเมือง

05.04.2022
  • LOADING...
สุชัชวีร์ มองกรุงเทพฯ ไม่เหมือนเดิมหลังลงพื้นที่หาเสียง กทม. เป็นงานช่าง มากกว่างานการเมือง

HIGHLIGHTS

15 mins. read
  • การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง ปัจจุบัน สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ได้หมายเลข 4 
  • ใจความสำคัญของการสัมภาษณ์ได้ครอบคลุมในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวตน การตัดสินใจ คำถามค้างคาใจที่สังคมอยากรู้ รวมถึงนโยบาย
  • สุชัชวีร์ชิมลางการเมืองครั้งแรกด้วยการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ก่อนหน้านี้เขาคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษาและวิศวกรรม ก่อนขยับสู่ถนนการเมืองในการเลือกตั้งรอบใหม่ในรอบ 9 ปี 

THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ เผยแพร่ทาง Facebook และ YouTube ของ THE STANDARD วันที่ 17 มีนาคม 2565

 

 

สัมภาษณ์ ‘สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ แคนดิเดตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) จากพรรคประชาธิปัตย์ จากเส้นทางชีวิตที่เหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ สู่เส้นทางผู้สมัครท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ที่เหมือนเดินบนฟุตปาธ เอ้ สุชัชวีร์ เป็นกระแสตั้งแต่เริ่มเปิดตัวภายใต้ปีกของพรรคประชาธิปัตย์ สู่วาทะมากมาย จนกลบกระแสไอเดียแก้ปัญหากรุงเทพฯ 

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะอดีตอธิการมหาวิทยาลัยคนดัง เขาคนนี้คือผู้เต็มไปด้วยไฟและไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาจนได้รับการยอมรับไม่ใช่น้อย และวันนี้เมื่อปี่กลองการเมืองดังขึ้นอีกครั้ง เราจึงเชิญเขามาพูดคุยกันอย่างจริงจังถึงปัญหาของกรุงเทพฯ ที่คุณต้องห้ามพลาด

 


 

  • ได้ข่าวเมื่อวาน (16 มีนาคม) ข้อเท้าพลิก 

 

เมื่อวานไปลงพื้นที่ดูปัญหาที่มีนบุรี คันนายาว ไปเดินฟุตปาธ แถวจตุจักร 2 เท้าพลิกจริงๆ ฟุตปาธสุดๆ ไม่เรียบไม่พอ มีตะปุ่มตะป่ำเยอะแยะ แต่พี่เอ้ไม่เท่าไหร่ แค่เท้าพลิก ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. ต้องไปโรงพยาบาลเลย คือล้มไปเลย ที่จริงเห็นปัญหามานานแล้ว แต่มาเจอด้วยตัวเองและทีมงานล้มดังตุ้บเลย

  • ความฝันวัยเด็ก

 

ความฝันตั้งแต่แรก เนื่องจากเกิดในยุคที่ นีล อาร์มสตรอง ลงดวงจันทร์ได้ไม่นาน คือ ปี 2512 พี่เอ้เกิด 2512 ตอนนั้นอยากเป็นนักบินอวกาศ ซึ่งยังเป็นความฝันอยู่    

 

แต่จากนั้นที่ฝันจริงๆ และมีโอกาสได้ทำ ก็คือการเป็นนักประดิษฐ์ โชคดีว่าพ่อแม่เป็นอาจารย์สอนวิทยาลัยเทคนิค พ่อเป็นหัวหน้าแผนกช่างยนต์ แม่หัวหน้าแผนกคหกรรม ดังนั้นก็อยู่ในวิทยาลัยเทคนิค อยู่กับเด็กโต อยู่กับพี่ๆ อาชีวะ ปวช. ปวส. มีโอกาสซึมซับความเป็นนักประดิษฐ์เยอะเลย ได้ลองทำเยอะ เพราะอยู่ในโรงเรียนช่าง และพ่อแม่ส่งเสริมซื้ออุปกรณ์อะไรต่างๆ ให้

 

อยู่ต่างจังหวัด รอบๆ เป็นป่าละเมาะ ได้ขี่จักรยาน เตะฟุตบอล ไม่มีกวดวิชา ชีวิตสนุกมาก ไม่ใช่เด็กเรียบร้อย ไม่ดื้อกับพ่อแม่กับครู แต่ก็ทโมน มักจะเป็นหัวโจกเรื่อยๆ

  • ทีมฟุตบอลที่ชอบ 

 

ชอบลิเวอร์พูล 

  • ตัดสินใจเรียนวิศวะ 

 

เพราะชอบเป็นนักประดิษฐ์ เพราะรู้สึกว่ามันตรงกับตัวเรา และงานวิศวะเป็นงานที่ได้สร้างสรรค์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลง รู้สึกว่าได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ ก็เลยเลือกเรียนวิศวกรรมโยธา เพราะอยากจะสร้าง เห็นรูปในหนังสือที่คุณพ่อซื้อมาให้ เขาสร้างสะพานโกลเดนเกต อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำ ลอดใต้ทะเลได้ ก็หวังว่าวันหนึ่งอยากจะทำบ้าง จึงเลือกเรียนวิศวกรรมโยธา

  • มีลังเลไหม เลือกอันดับรองเป็นคณะอื่น 

 

ไม่มีเลย 

  • ให้นักศึกษาเรียกว่า พี่เอ้ 

 

ที่จริงเขาเรียกมาตั้งแต่เราจบปริญญาเอกแล้ว เพราะเราจบมาก็ 29-30 ปี น้องๆ นักศึกษาเขาก็ 20 ปีนิดๆ แล้วลาดกระบังมีลักษณะแบบนี้มาอยู่แล้ว ให้เด็กค้างที่มหาวิทยาลัยได้ ก็มีวัฒนธรรมเรียกอาจารย์ซึ่งเคยเป็นรุ่นพี่ว่าพี่อยู่แล้ว กลับมาก็เป็นพี่เอ้เลย 

 

เป็นพี่เอ้ตั้งแต่เป็นอาจารย์โยธา หัวหน้าภาค คณบดี อธิการ ปัจจุบันก็ยังพี่เอ้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่เขาหรือคุณตาคุณยายก็เรียกพี่เอ้ตามไปด้วย 

  • กลัวไหมว่าเด็กๆ จะไม่เคารพนับถือศรัทธา ถ้าเรียกพี่เอ้ 

 

ไม่เลยครับ ดีด้วยซ้ำไป เพราะเรารู้สึกว่าเป็นกันเอง เรารู้สึกว่าเรามีอะไรคุยกันได้ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกัน กล้าคุยกันมากขึ้น 

  • มีเหตุการณ์รับมือยากไหม 

 

ประจำ เขาอยากทำโน่นทำนี่ ติดระเบียบโน่นระเบียบนี่ บางครั้งเราอธิบายก็ยากเหมือนกัน ดีที่สุดคือต้องรับฟัง อันนี้สำคัญที่สุด บางทีเขาไม่เข้าใจตอนนั้น แต่วันหนึ่งเขาอาจจะเข้าใจ สำคัญคือต้องฟังเขา คิดบวกว่าตอนเราเป็นเด็กก็เป็นแบบนี้  

  • มีรูปเต็มมหาวิทยาลัยสมัยเป็นอธิการจริงหรือไม่ 

 

มีเฉพาะช่วงรับปริญญาเท่านั้น เป็นการแสดงความยินดีกับน้องๆ นิสิตนักศึกษา แต่กระนั้นก็ตาม การที่มีรูปอธิการหรือคณบดีในมหาวิทยาลัยบ้างก็ดี คนไปเรียนจะได้ทราบว่าใครจะมาแก้ปัญหาให้นิสิตนักศึกษาได้ 

  • เป็นอธิการที่ดูจะใกล้ชิดกับนักศึกษามากกว่ามหาวิทยาลัยอื่น 

 

ไม่กล้าตอบแทน ตั้งแต่จบมาเขาก็เรียกพี่มาตลอด เขาก็รู้สึกเป็นพี่เป็นเพื่อนเขา ฉะนั้นตรงนี้ก็ยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ ไม่ว่าจะผ่านมา 20 ปีแล้วนะ ก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม ยังเป็นพี่น้องเหมือนเดิม ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นก็คงมีความพยายามเช่นกัน

 

  • อะไรทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนจากวงการการศึกษามาเป็นคนวงการการเมือง ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. 

 

ที่จริงแล้วตัดสินใจมา 30 ปีแล้ว ตั้งแต่เรียนวิศวะ ลาดกระบัง เคยมีโอกาสไปพบผู้ว่าฯ กทม. ในยุคนั้น ท่านอาจารย์กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา สมัยก่อนเด็กที่เรียนสายพระจอมเกล้า เขาจะให้เรามีโอกาสทำโปรเจกต์ เขาบอกว่าเราต้องรู้ทฤษฎีด้วย รู้ปฏิบัติด้วย ช่วงนั้นนั่งรถเมล์ไปเรียน ไป-กลับลาดกระบังสมัยก่อนไปยากสุดๆ ต้องต่อรถไฟ หรือไปทางถนนอ่อนนุชก็ไม่เคยเรียบ ลำบากมาก เราเจอปัญหาอย่างนี้ ทำไมมันหนักขนาดนี้

 

ก็คิดว่าอยากจะแก้ปัญหา ก็เลยทำโปรเจกต์วิธีการออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน ตั้งแต่วันนั้นยังไม่มี BTS แล้วก็ไปรอพบผู้ว่าฯ กทม. พอได้เจอ ตรงนั้นเป็นแรงบันดาลใจ เพราะผู้ว่าฯ บอก กำลังคิดอยู่นะว่าจะทำลอยฟ้าหรือใต้ดินดี เมื่อเอามาให้ก็จะได้เอาไปพิจารณา แล้วผู้ว่าฯ ก็เขียนจดหมายแนะนำพี่ไปเรียนต่อปริญญาโท ปริญญาเอกด้วย 

 

จุดนั้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็เป็นจุดว่า เมื่อเราเห็นปัญหาแล้วเราก็ได้โอกาสมีผู้ใหญ่สนับสนุนเรา เราก็อยากทำ แต่ว่าในแบบไทย บางทีเราก็ไปพูดไม่ได้ 

 

ในต่างประเทศเขาส่งเสริมให้เด็กอยากจะเป็นอะไรก็พูด อยากจะเป็นประธานาธิบดี อยากจะเป็นนักบินอวกาศ อยากจะเป็นนักร้องดังก็พูดได้ 

 

บางทีเราพูดไปก็เสียวๆ ไม่รู้คนอื่นคิดว่าอย่างไรนะ เราก็เก็บไว้ ตลอดเส้นทางที่เราทำงานมาตลอด ซึ่งเราก็รักงานที่เราทำ ในฐานะวิศวกรอาชีพ ในฐานะนักการศึกษา ผู้นำองค์กร ชอบไปสร้างการเปลี่ยนแปลง ตลอดเส้นทางมา วันนี้โอกาสเปิด 

  • ความฝันที่บอกว่าคิดว่าจะสมัครผู้ว่าฯ กทม. 30 ปีมาแล้ว เคยมีเบี่ยงไปทางอื่นไหม เช่น ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ว่าฯ หรือจะใหญ่กว่านั้น เช่น ระดับ ส.ส. หรือระดับรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี 

 

ไม่เลยครับ เพราะว่าบังเอิญสายงานผู้ว่าฯ ก็เกี่ยวข้องกับงานช่าง ผู้ว่าฯ กทม. ก็เปรียบเสมือนหัวหน้าช่างคนหนึ่งนะ ก็ต้องปะผุ ปะให้ถูกที่ ซ่อมให้ถูกจุด ไม่ใช่ต้องมาปะผุอย่างที่เราเห็นซ้ำซากทุกวัน ปัญหาน้ำท่วมปัญหาอะไรต่างๆ ก็ตรงกับที่เราเรียนวิศวะสาขานี้มา 

 

พี่เอ้จบด้านธรณีเทคนิค เกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้างใต้ดิน เราได้ทำงานที่ตรงกับงานสายนี้ เช่นเดียวกัน ชอบเป็นอาจารย์ เพราะรู้สึกว่าการศึกษามันเปลี่ยนทุกอย่าง แล้วเราก็ทำได้ดี แล้วก็มาเป็นผู้บริหารการศึกษา รู้สึกว่าเออ เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงนะ ซึ่งก็ตรงกับงาน กทม. นี่แหละ ดูแลการศึกษา สาธารณสุข ดูแลชีวิตคนด้วย แล้วเรายิ่งทำงานที่เราได้เดินทาง เราก็สนุกกับงานของเรา เมื่อมีโอกาสเปิดแล้ว 30 ปีที่เราได้ก็พอที่จะมีความรู้มีประสบการณ์ ก็คิดว่าเราน่าจะมาช่วย กทม. ได้ 

  • ชอบการสร้างความเปลี่ยนแปลง เรื่องรถไฟฟ้าเป็นปัญหาคาราคาซังที่คน กทม. เองก็ปวดหัวว่า ตกลงแล้วอนาคตของรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่เป็นคนละเจ้าสองเจ้ากันอยู่นี่จะเป็นอย่างไร ค่าโดยสารที่ว่าแพงหูฉี่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. สมมติถ้าพี่เอ้ได้เป็น เราจะสามารถไปจัดการเรื่องรถไฟฟ้าที่เป็นปัญหาทั้งสัมปทานทั้งอะไรที่ยุ่งเหยิง ทำได้จริงหรือ 

 

ทำได้จริง เพราะว่าเราไม่ใช่ประเทศแรกที่มีรถไฟฟ้าใช้ คนอื่นก็มีเป็นร้อยปีแล้ว คำถามที่ถามอยู่ ประเทศอื่นก็เผชิญมาตลอดแล้ว แต่สิ่งที่เขาทำได้ดีกว่าเราก็คือ เขามองว่าเรื่องของรถไฟฟ้านั้นเป็นสวัสดิการพื้นฐานของคน เขามองว่าเป็นเรื่องที่รัฐต้องช่วย แล้วตอนนี้น้ำมันก็แพง รถไฟฟ้าดีกว่าตั้งเยอะ เขาคิดมาก่อนล่วงหน้า แต่ทำไมเขาทำรถไฟฟ้าของเขาต่อรายได้ขั้นต่ำให้คนสามารถจ่ายได้ เขาคิดตั้งต้นอย่างนั้น 

 

ของเรากลัดกระดุมเม็ดแรกก็ผิด เพราะเราตั้งราคาแล้วโยนภาระให้กับประชาชน จริงๆ แล้วรัฐต้องคิดว่านี่คือสวัสดิการแห่งรัฐ และต้องคิดว่าประชาชนจ่ายได้เท่าไหร่ เราคิดเอาง่ายๆ ว่าต้องไม่เกิน 20% ของรายได้ขั้นต่ำ เพราะทุกคนต้องขึ้นได้ รายได้ขั้นต่ำคือ 300 บาท 20% ก็ต้องไม่เกิน 60 บาท ตีซะ 50 บาท แสดงว่าเที่ยวหนึ่งต้องไม่เกิน 25 บาท ถ้าตั้งตรงนี้เป็นจุดตั้งต้น กลัดกระดุมเม็ดแรกถูกนะ มันเป็นไปได้ และโครงสร้างพื้นฐานพวกเสาตอม่อ รัฐต้องเป็นคนช่วยดูแล เพราะไม่มีใครขโมยย้ายไปไหนได้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการเดินรถก็มาคำนวณจากตรงนี้ว่าพอไหม 

 

ยกตัวอย่าง ถ้ารถไฟฟ้าเฉลี่ย 20-25 บาท เอา 20 บาทก็ได้ ยิ่งราคาถูก คนยิ่งขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นคนขึ้นล้านคนแน่นอน ล้านคนได้วันละ 20 ล้านบาท ปีหนึ่งก็ได้ 7-8 พันล้านบาท พอต่อค่าเดินรถ เพราะค่าเดินรถปัจจุบันประมาณ 7 พันล้านบาท แสดงว่าค่าเดินรถโดยสารเอาอยู่ แสดงว่า 20 บาทคิดได้ แต่รัฐต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกถูก ไม่ใช่เอาโครงสร้างพื้นฐานมาโยนให้ประชาชน เหมือนคิดค่าน้ำประปา ต้องไม่คิดค่าท่อประปา 

 

 

  • ตอนนี้กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดไปแล้ว จะทำอย่างไร จะรื้อเม็ดแรกใหม่ หรือว่าจะทำอย่างไร

 

ยังทำได้ ถ้ากลัดถูกทุกอย่างจบ แล้วเรื่องรถไฟฟ้า สาธารณูปโภค ควรเป็นท้องถิ่นคอยดูแล เพราะไม่ใช่เฉพาะสายรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่มีการเชื่อมโยงคลอง ฟุตปาธ ถนน ซอย รถวิ่งรับ-ส่งต่างๆ ต้องเป็นงานของเมือง อย่างกรุงโตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน ก็ทำได้แบบเบ็ดเสร็จ ตรงนี้ทำได้

  • ตอนนี้ยังมีคนแซวอยู่หรือไม่ว่าเป็น เอ้ ไอน์สไตน์ 

 

เราไปห้ามเขาไม่ได้หรอกครับ พี่เอ้ไม่ได้รู้สึกอะไร แล้วก็คงจะไปเปลี่ยนเขาไม่ได้ แต่อยากจะบอกว่าสิ่งหนึ่งที่พี่เอ้ไม่เปลี่ยนเลย ก็คือความรักความศรัทธาต่ออาจารย์ที่ปรึกษาพี่เอ้คือโปรเฟสเซอร์ไอน์สไตน์ ก็ยังเหมือนเดิม

  • คลื่นลูกต่อมาที่มากระทบก็คือ การแจกแจงบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน จนถึงขณะนี้เรื่องราวไปถึงไหน และจากวันนั้นรู้สึกว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามากระทบเราหรือไม่

 

แรกๆ ก็คิดนะ เพราะรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเราเคยแจงทรัพย์สินมาอยู่แล้ว และ ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลอยู่ก็เป็นคนดูแล การแสดงทรัพย์สินก่อนล่าสุดในปี 2561 ป.ป.ช. ก็ออกมาว่าไม่มีรายการใดที่ผิดปกติ ส่วนปี 2564 ที่เป็นข่าว ก็ชี้แจงมาแล้วว่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ประจำปีเท่าไหร่ แล้วพี่เอ้ก็เสียภาษีให้เห็นชัดๆ เลย ก็มีรายการภาษีแนบอยู่ เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรผิดปกติเลย อยากจะขอความเป็นธรรม 

  • ฉะนั้นไม่ห่วงเรื่องนี้แน่นอน ชี้แจงทุกอย่างได้หมด 

 

ใช่ครับ                  

          

  • วันที่ตัดสินใจจากวงการการศึกษามาเป็นวงการการเมือง ปรึกษารุ่นพี่ทั้ง 2 วงการหรือไม่

 

แน่นอน เขาก็รู้ หมายถึงในครอบครัวเขารู้ว่าวันหนึ่งเราน่าจะมาทางนี้ แต่เราไม่ได้พูดเรื่องนี้บ่อย เพราะชอบพูดเกี่ยวกับเรื่องที่เราไปเรียนเพราะอะไร เราพูดถึง กทม. แต่เขาเห็นบทบาทเราหลายๆ บทบาท นอกจากอธิการ เพราะเราเคยเป็นวิศวกรอาสา ฝนตก น้ำท่วม รถติด โรงงานระเบิด เครนพัง ตึกถล่ม ก็จะเห็นเราอยู่ เพราะฉะนั้นหลายคนก็เห็นว่าเราน่าจะพอจะไปช่วย กทม. ได้ เขาก็เลยมาถาม ประกอบกับให้คำแนะนำ และได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ พี่ๆ และครอบครัว

  • ครอบครัวคัดค้านไหมก่อนมาการเมือง 

 

ไม่มี และคุณพ่อคุณแม่บอกว่าในเมื่อเอ้มีแพสชัน มีความมุ่งมั่นมาตลอด ถึงเวลาแล้วที่เอ้ต้องทำ แล้วเอ้อย่าไปคิดอะไรมาก ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถึงวันนี้พ่อแม่ยังพูดทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อเจอเรื่องนู้นเรื่องนี้มา กลับไปบ้านก็กอดให้กำลังใจ แล้วบอกคำเดียวให้นอนให้หลับ พรุ่งนี้ลุยกันใหม่ แล้วเราก็นอนหลับ อันนี้คือแม่ 

 

ส่วนภรรยาก็เข้าใจเพราะเราแต่งงานกัน เขาก็เห็นแล้วว่าภาระหน้าที่พี่เอ้หนักจริงๆ ตั้งแต่เป็นอธิการ หรือตำแหน่งอื่นๆ เขาก็พอรู้แล้วว่าเขาอยู่กับเราก็ต้องเข้าใจ ภรรยาพี่ก็มีงานทำ แค่งานเขาก็วุ่นมากอยู่แล้ว วันนี้ก็ได้แต่ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

 


 

  • คนในแวดวงการเมือง ใครเป็นคนแรกของพรรคประชาธิปัตย์ที่มาชวน 

 

ที่จริงแล้วหลายท่านมาพูดคุย พี่เอ้โชคดีรู้จักกับพี่ๆ ทางการเมืองบ้าง ไม่ได้รู้จักเพราะเราไปทำการเมือง แต่เพราะไปเรียนในหลักสูตรอะไรต่างๆ ก็มีโอกาสเรียนด้วยกัน เจอกัน คุ้นเคยกัน แต่ว่าไม่รู้ว่าไปจังหวะไหน ต้องถือว่าค่อยเป็นค่อยไปมาพอสมควร 

  • คุยนานแล้ว

 

พอสมควรนะครับ เพราะอย่าลืมว่า ผู้ว่าฯ กทม. ยึกยักว่าจะเลือกมากี่ปีแล้ว หลายปีนะ 

  • 7 ปี

 

เห็นไหมหลายปีแล้ว ฉะนั้นการพูดก็เริ่มมาพอสมควร ไม่ใช่มาปุบปับ ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี 

  • อะไรทำให้ตัดสินใจไม่ลงอิสระ แต่ลงกับประชาธิปัตย์ 

 

คิดนะไม่ใช่ไม่คิด ใช้เวลาในการคิดนาน หลายคนบอกอิสระจริงๆ มีข้อดี แต่ข้อเสียมีเยอะกว่า เพราะข้อแรกก็คือ การออกแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะท้องถิ่น หรือระดับประเทศ ก็มีผู้นำ แล้วจากนั้นก็ต้องมีเสียง ส.ส. ถ้าเป็นนายกฯ ถ้าเป็น กทม. ก็คือ ส.ก. มันควรจะเป็นทีมเดียวกัน เพราะเมื่อเรามีนโยบาย เราสัญญาไป ทีมเราก็จะไปพร้อมกับคำสัญญาหรืออุดมการณ์เดียวกัน กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก นั่นคือข้อที่ 1 แต่ถ้าไปตายเอาดาบหน้า บางทีไม่ใช่เขาไม่ชอบเราหรอก แต่เขาไปสัญญากับประชาชนอย่างอื่น อาจจะไม่เหมือนกับที่เราสัญญาก็ได้

 

วันนี้ยิ่งเห็นเลยเมื่อเดินจะครบ 50 เขต เห็นเลยว่าถ้าเราไม่มีคนที่เป็นคนในพื้นที่ซึ่งเขาอยู่พื้นที่นานๆ ก็จะไปไม่ถูกเหมือนกันนะ เพราะเขาจะชี้เลยนี่คือปัญหาจริงๆ เขาบอกเลยว่าฟุตบาธช่วงไหนแย่จริงๆ  

 

เพราะฉะนั้นการลงกับพรรคการเมือง แล้วมี ส.ก. ทั้ง 50 เขต พี่เอ้มองแล้วมีประโยชน์มาก 

  • น่าจะดีกว่าการลงอิสระ 

 

แน่นอนครับ 

  • นับแต่วันที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ มาจนถึงวันนี้กลางเดือนมีนาคมแล้ว เป็นอย่างไรกับการลงพื้นที่มา แล้วก็การที่มาลุยเต็มตัวในสนามการเมือง ความคิดวันแรกที่เปิดตัวกับวันนี้ยังเหมือนเดิมหรือไม่ 

 

ไม่เหมือนเดิม 

  • อะไรเปลี่ยนไป 

 

กรุงเทพฯ แย่กว่าที่คิดเยอะ นโยบายเราส่วนหนึ่งได้จากทีมงานที่เก่งๆ ไปเดินพื้นที่ แล้วต้องฉีดยาแรงกว่านั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นคนตายต่อหน้าต่อตาจากโควิด พี่กำลังยกมือไหว้สวัสดีจะแนะนำตัว เขาก็คล้องมาลัยแล้วตายต่อหน้าต่อตาตรงนั้นเลย อายุแค่ 60 กว่า เพราะเขาไม่สามารถไปติดต่อโรงพยาบาลได้ คือสุดๆ 

 

ไปศูนย์เลี้ยงเด็ก ซึ่งพี่มีแพสชันว่าจะดูแลเด็กเล็ก แต่ กทม. ให้เด็กหัวละ 20 บาท แล้วช่วงนี้เด็กมาโรงเรียนไม่ได้ เขาก็ต้องทำกับข้าวส่ง พี่ไปดูว่าเขาส่งอะไร มีข้าวเบ้อเร่อเลย แล้วก็แกงจืดวิญญาณหมู มีหมูน้อยมาก มีนมกล่องเล็กๆ กล่องหนึ่ง แล้วก็ผลไม้เสี้ยวเดียวเล็กๆ ก็ 20 บาท ทำได้เท่านั้น นี่คือศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีเด็กมากกว่า 60 คนนะ เขาเลยทำได้ 

 

แต่บางศูนย์มีเด็ก 13-20 คน เขาส่งทุกวัน เขาไม่มีเงิน เขาส่งเดือนละครั้ง เป็นนม 24 กล่อง ไข่ 15 ฟอง แสดงว่าเด็กไม่ได้กินนมครบทุกวัน แล้วไข่ 15 ฟองไปถึงบ้าน พ่อแม่พี่น้องก็คงทอดกินกันหมดแล้ว นี่ก็คืออย่างที่เป็นอยู่ แล้วเดินอยู่ก็ขาพลิก เดินไปทางขาด ประตูระบายน้ำกรุงเทพฯ ไม่ได้มีคนมาดูแล เพราะฉะนั้นแย่กว่าที่คิดเยอะ แย่กว่าที่คิดจริงๆ อันนี้คือสิ่งที่เราไปได้เห็นมาจริงๆ

 

  • สโลแกน กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว พี่เอ้ไปเจอมาแล้วเป็นอย่างไร ดูจะสวนทางกัน แล้วถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะแก้จุดไหนก่อน

 

คำถามดีมาก เพราะประเดประดังมาทุกจุด คือมันต้องจัดระเบียบการทำงานให้มันดีกว่านี้ แต่ข้อแรกคือ ผู้ว่าฯ กทม. งานมันหนักสุดๆ มันต้องอายุไม่มาก เป็นงานกายภาพ เป็นงานที่บางทีต้องเท้าสะเอวชี้ ฟุตปาธไม่เรียบสักทีต้องเท้าสะเอวชี้ เป็นงานที่เหมือนงานช่าง เป็นงานที่ปะผุเยอะมาก แล้วก็เป็นงานที่ต้องไปดูแลคนเหมือนกับพ่อบ้านเยอะมาก ต้องลงพื้นที่หนักหน่วง 

 

หัวใจต้องแกร่ง และที่สำคัญที่สุด ต้องมีความรู้หลายๆ อย่างอย่างลึกซึ้ง ไม่เช่นนั้นแล้วเหมือนหลายอย่างประเดประดังเข้ามา จัดลำดับไม่ถูก หรือสั่งการไปแล้วก็ต้องย้อนกลับมาอยู่เรื่อย เช่น ฟุตปาธ ก็ต้องถามว่ามาตรฐานสากลเป็นอย่างไร การตั้งคำถามแบบนี้ต้องมาจากความรู้หรือการศึกษา, ทำไม 20 บาท ทำไมไม่ 40 บาท ขณะที่เด็กเกิดน้อยลง หลายอย่างพวกนี้ต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงจะทำงานได้ เป็นงานเฉพาะจริงๆ แทบไม่ใช่งานการเมืองเลย เป็นการเมืองอย่างเดียวคือมีการเลือกตั้ง แต่นอกจากนั้นเป็นงานที่ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจตรงนั้น 

  • นโยบายที่จะหาเสียงเปลี่ยนไปจากตอนแรกหรือไม่ 

 

มีเปลี่ยน มีหลายอย่างต้องเข้มข้นขึ้นเยอะเลย เช่น การศึกษาก่อนหน้านี้บอกจะดูแลเด็กโต แต่เมื่อลงพื้นที่แล้ว การดูแลเด็ก ต้องรวมถึงเด็กก่อนอนุบาลที่โภชนาการอาหารหลัก 5 หมู่ยังไม่ได้กิน อันนี้สุด นอกจากดูแลเด็กที่เข้าอนุบาลแล้ว ต่ำกว่าอนุบาลก็ต้องดูแล นโยบายต้องลงไปตรงนี้มาก 

  • สโลแกน เป้าหมายต้องชัด วิสัยทัศน์ต้องเวอร์ 

 

ยังยืนยัน คือในชีวิตคน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ถ้าเป้าหมายไม่ชัด รวนเร เดี๋ยวก็ไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่มีทางหรอก หลักการที่เขาบอกว่าการพัฒนาชีวิตคน 3 ข้อ 1-3 ก็คือ โฟกัสจึงจะสำเร็จ แล้วคำว่าวิสัยทัศน์ต้องเวอร์ ไม่อยากให้มองเป็นลบ ถ้าเกิดมองเป็นลบก็หมายถึงว่า กดตัวเองไว้ พี่เอ้ก็โดนประจำว่าโม้ ถูกไหม เพราะความคิดคนที่เป็นลบ ก็คิดว่ากดตัวเองไว้ คำว่าเวอร์ก็คือ โอเวอร์สแตนดาร์ด คือการที่เรามีวิสัยทัศน์ให้มันเกินสแตนดาร์ดไป ถ้าอย่างน้อยไม่ถึง ก็ต้องเท่ากับ THE STANDARD ถ้าไม่คิดอย่างนี้ ไม่ได้ 

 

แล้วพี่เอ้ไม่ได้ใช้คำนี้คนแรก แต่ทฤษฎีการบริหารในยุคใหม่ๆ เขาบอกแบบนี้ว่าเป้าหมายต้องชัด บางคนบอกเลเซอร์โฟกัส คือเป๊ะเลย วิสัยทัศน์ต้องโอเวอร์สแตนดาร์ดไว้ จะได้คิดบวก มองให้ไกลๆ สูงๆ ไว้ ลงมานิดหนึ่งก็อย่างที่บอก ได้มาตรฐาน พอลงมาก็เท่ากับ THE STANDARD ก็อยากให้คิดบวก 

  • ตั้งแต่เปิดตัวมาจนถึงวันนี้ มีอะไรที่คิดว่าเป็นความผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมาไหม

 

ในชีวิตคนก็มีถูกมีผิด แต่ไม่ถึงขนาดทำให้เราต้องมาท้อ คือในอนาคตก็คงต้องมีอะไรผิดพลาดบ้าง เมื่อวานขนาดตั้งใจเดิน ใส่รองเท้าผ้าใบคล่องแคล่ว ขายังพลิกได้เลย ก็ธรรมดานั่นแหละ เดินไปก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้นเอง 

  • ล่าสุด สกลธี ภัททิยกุล เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในนามอิสระ นักวิเคราะห์หลายท่านก็มองว่าจะมาแย่งคะแนนจากฐานพี่เอ้ รู้สึกอย่างไรกับเรื่องนี้  

 

ตอบยากมาก เพราะว่าถ้าตอบได้การเมืองก็ไม่มีอะไรพลิกล็อกอย่างที่เราเห็น พลิกล็อกมาก่อนจริงๆ แล้วไม่มีใครรู้

 

 

  • หลายคนมองว่า ถ้าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับวิโรจน์ ลักขณาอดิศร จะแย่งคะแนนกันเอง ส่วนพี่เอ้กับสกลธีก็จะตัดกันเอง เป็น 2 ขั้วมาปะทะกันในสนาม กทม. 

 

ไม่คิดอย่างนั้น มันตอบยากข้อแรก เพราะใน กทม. ต้องดูแลทุกคน เอาเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่น้องๆ มัธยมปลายจนถึงเข้ามาเรียนปริญญาตรีก็เป็นกลุ่มหนึ่ง คนที่ออกมาทำงานกลุ่มหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่กลุ่มหนึ่ง ผู้สูงอายุก็กลุ่มหนึ่ง เพศก็กลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นมีอะไรเหลื่อมไปหมด มันยากเหลือเกิน แล้วถ้าเกิดเขาเข้าใจว่าตำแหน่งหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. มันไม่ใช่การเมือง มันไม่ใช่เป็น ส.ส. ไปดูเรื่องกฎหมาย งบประมาณ อภิปรายไม่ไว้วางใจ  

 

ผู้ว่าฯ กทม. อย่างที่เราคุยกันวันนี้ มันเป็นงานเฉพาะจริงๆ คือถ้าเกิดเขามองตรงนี้ได้ พี่เอ้ว่าคงตอบยากว่าใครที่จะไปแย่งคะแนนใคร 

  • ผลโพลพี่เอ้มาอันดับ 5 จากคะแนนตอนเปิดตัวมากกว่านี้ หนักใจไหม 

 

โพลก็มีหลายสำนัก แล้วโพลก็เป็นการสุ่มตัวอย่าง เราพูดแบบวิทยาศาสตร์นะ บางทีสุ่ม 1,000 คน แต่ กทม. คนเป็นสิบล้านคน เลือกตั้งได้ก็ 5-6 ล้านคน เพราะฉะนั้นอย่าเอาโพลมาเป็นจุดที่ทำให้เราต้องมาปวดหัว เพราะอย่างที่รู้ในอดีตโพลบางคนนำมา สุดท้ายก็คนละเรื่อง ปี 2562 เราก็เห็นนะครับ ผู้ว่าฯ กทม. ก่อนๆ เราก็เห็น เพราะฉะนั้นเอาเรื่องนี้มาเป็นพลังใจให้เราได้ขยับเพิ่มขึ้นดีกว่า แต่ว่าตอนนี้จริงๆ แล้วไม่อยากให้ทุกคนไปมองโพล ให้มองดูอดีต หรือมองแบบวิทยาศาสตร์ก็ได้ว่าการสุ่มตัวอย่างมีจำนวนนิดเดียว อาจจะไม่ได้สะท้อนภาพใหญ่หรือทั้งหมดของคน กทม. อย่างที่พี่เอ้บอก ทุกอย่างต้องคิดบวก เอามาเป็นพลังให้ทำงานหนักขึ้น คิดเท่านี้พอ

  • ล่าสุดผู้ว่าฯ อัศวิน จะลาออกมาลงในนามอิสระ ถ้ามาลงอีกคน พี่เอ้หนักใจเพิ่มไหม

 

พี่ว่าก็เป็นสิทธิของคุณอาอัศวินนะ เพราะจะไปบอกว่าใครจะลงหรือไม่ลงมันพูดกันไม่ได้ มันอาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้นะ เพราะยังไม่ได้สมัคร พอมาสมัครก็อาจจะมีเซอร์ไพรส์อีกก็ได้ เราก็ไม่รู้ 

  • ช่วงนี้มีข่าวรับน้องโหด น้องเปรมนักศึกษาปี 1 วัย 19 ปีที่ถูกรับน้องจนน้องเสียชีวิต ในฐานะพี่เอ้เคยเป็นอธิการบดี แล้วก็ตอนนี้มาเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. คิดเห็นอย่างไรที่การรับน้องยังคงมีระบบโซตัส 

 

รับไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นที่ที่พ่อแม่เขามาฝากไว้ ตรงนี้รับไม่ได้เลย 

  • สมัยเป็นอธิการมีเรื่องแบบนี้หรือไม่ 

 

แทบไม่มีนะ เพราะว่าเด็ก 2-3 หมื่นคน จะดูทุกกระเบียดนิ้วไม่ได้ แต่สิ่งที่พี่เอ้ได้ทำมาโดยตลอดคือ เรารู้ว่ามันสนุกนะการรับน้อง เราก็เคยรับน้องแต่ไม่โหดนะ หรือถูกรับ หลังจากที่น้องๆ นิสิตนักศึกษาเข้ามาแล้ว อธิการจะเรียกคณบดี บอกคุณต้องรับผิดชอบลูกๆ เรียกมาพร้อมทั้งจดหมายด้วยนะ ว่าลูกๆ คุณแต่ละคณะ คุณต้องรับผิดชอบ

 

พอตรงนี้แล้วเขาก็เป็นหูเป็นตา ไม่มีอะไรที่หนัก อาจจะมีบ่นถูกรุ่นพี่ทำโน่นทำนี่บ้าง แต่ไม่เคยมีเรื่องความรุนแรง 

  • คำถามจากทางบ้าน ขึ้นไปบน BTS เจอพี่เอ้เยอะมาก แบบนี้จะผลักดันต่อสัมปทาน หรือจะมีผลอะไรเกี่ยวข้องกับ BTS หรือไม่ 

 

ไม่ได้เกี่ยวกัน เพราะพรรคจ่ายเงิน แล้วก็พี่เอ้ตอนออกมาคนไม่ได้รู้จักในวงกว้างนะ คนที่เขาสนใจเรื่องการศึกษา งานด้านวิศวกรรม หรือสื่อบางสื่ออาจจะรู้จัก แต่ชาวบ้านชาวช่องไม่ได้รู้จัก เพราะฉะนั้นอันดับแรกก็คือให้เขาเห็นหน้า คนนี้เป็นใคร อันนี้เป็นเรื่องของพรรค 

  • คิดอย่างไรกับปัญหาชุมชนแออัดตามที่ดินริมคลองหรือที่ดินของทางรถไฟ ที่มักจะมีเรื่องข้อพิพาทเรื่องการบุกรุก

 

ช่วยดูแลได้นะ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีโอกาสไปที่บางเขน เราไปชุมชนบางบัว สะพานไม้ 2 มีบ้านมั่นคง เห็นแล้วเราอยากจะไปอยู่ นี่พูดจริงๆ ทางเดินสะอาดมาก ทำเขื่อนแบบอย่างดีเลย เป็นทางเดิน ที่อยู่ 2 ชั้นอยู่ได้สบาย แสดงว่าทำได้ มีตัวอย่างแล้วเรื่องบ้านมั่นคง ตรงนี้ก็อยากจะเอาเรื่องบ้านมั่นคงไปขยายต่อในทุกคลอง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนแออัด ทำได้ครับ

 

  • ทำอย่างไรจะได้ใจคนรุ่นใหม่ที่ออกไปใช้สิทธิใช้เสียง บางคนครั้งแรกที่จะออกไปเลือกตั้ง

 

มีหนทางเดียวคือให้เขาเห็นความตั้งใจ เขาต้องเห็นว่าพี่เอ้ตั้งใจจริงนะ พิสูจน์ได้ว่าตั้งใจจริงๆ เตรียมพร้อมมานาน แล้วก็ให้เห็นผลงานของคนที่มุ่งมั่น กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่กลัวเจ็บ ก็พร้อมที่จะเป็นตัวแทนของน้องๆ ได้ แล้วก็อยากจะบอกน้องๆ ว่า พี่เอ้ก็มีลูกเล็ก เพราะฉะนั้นไม่ได้ทำเฉพาะรุ่นน้องๆ เท่านั้นนะ มันต้องทำเผื่อรุ่นลูกด้วย ก็อยากให้น้องๆ เชื่อมั่นว่าในความตั้งใจ ความรู้ที่พี่พอมี แล้วพี่เอ้เองก็เป็นผู้ประสบภัยด้วย เมื่อวานก็ขาพลิก จะปล่อยกรุงเทพฯ ไปแบบนี้แล้วลูกพี่จะอยู่อย่างไร ตรงนี้ล่ะครับ อยากจะสื่อสารกับน้องๆ รุ่นใหม่ๆ  

  • มีคนสบประมาทว่า ยิ่งลงในนามประชาธิปัตย์ เดี๋ยวก็แพ้ชัชชาติ แพ้คนอื่น คิดว่าเรามีอะไรที่เหนือกว่า ที่ทำให้คน กทม. ต้องออกไปกากบาทเรา 

 

เราคงจะไปพูดว่าเราเหนือกว่าใครไม่ได้ เอาเป็นว่าเรามีอะไร อันดับแรก เรามีความพร้อมนะ ความพร้อมลำดับแรกคือ ช่วงอายุของพี่เอ้กำลังดี มันยังแข็งแรง เพราะ กทม. บางทีงานหนัก งานเท้าสะเอว งานลุย คือมันต้องลงไปดูด้วยตัวเอง อายุมากกว่านี้ก็ยาก เรายังแข็งแรง สติปัญญา หัวใจเรา พร้อมสู้ได้ แล้วก็เราอยู่ในวัยที่คุยกับรุ่นผู้ใหญ่ได้ รุ่นเด็กๆ ก็ได้ เด็กเล็กๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นก็อยู่แบบพอดีๆ 

 

ข้อที่สองก็คือ พี่เอ้พอที่จะมีความรู้ ประสบการณ์ตรงนะ เพราะงาน กทม. เป็นงานช่าง งานวิศวะ เยอะจริงๆ ที่เราจบมา เราได้ทำงานในฐานะวิศวกรอาชีพ เราทำเกี่ยวกับเรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องการทรุดตัว น้ำท่วม การก่อสร้าง นั่นคือสายถนัด 

 

เช่นเดียวกัน กทม. ยังมีเรื่องการศึกษา สาธารณสุข เรื่องคน พี่เอ้ก็ทำเกี่ยวกับเรื่องโรงเรียน ทำตั้งแต่เด็กก่อนอนุบาลถึงเด็กมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเราก็ทำมา หรือเครื่องมือแพทย์เราก็ทำมา เราเห็น เราก็เป็นนักต่อสู้ตั้งแต่เรื่อง PM2.5 เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้าง ประสบการณ์เรามีสะสมมา 

 

แล้วสุดท้าย พี่อยากจะสื่อสารว่า พี่เอ้กล้า ไม่กลัวที่จะต่อสู้กับปัญหา สามข้อนี้ ก็อยากขอโอกาส

  • ฝากแฟนๆ

 

วันนี้เดินจะครบ 50 เขตแล้วครับ เห็นกรุงเทพฯ วันนี้สุดๆ จริงๆ เราไม่สามารถจะปล่อยไปถึงลูกหลานได้

 

หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง ผมมั่นใจว่าเราเปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้ เพราะมีหลายเมืองทั่วโลกที่เขาเจอวิกฤตยิ่งกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำท่วม เรื่องการศึกษา เรื่องสาธารณสุข ผมมั่นใจนะครับว่าสิ่งที่ผมนำเสนอนโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนชีวิตคน เปลี่ยนเมือง เราสามารถทำได้ เรามาทำด้วยกันนะครับ 

 

เราช่วยให้กรุงเทพฯ วันนี้ดีสำหรับทุกคน และเตรียมพร้อมให้กรุงเทพฯ อยู่ต่อไปอย่างดีที่สุดให้กับลูกหลานเรา  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising