วันพรุ่งนี้ (14 ตุลาคม) สุชาติ สวัสดิ์ศรี เตรียมยื่นฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ต่อศาลปกครอง หลังถูกเพิกถอนมติยกเลิกการเป็นศิลปินแห่งชาติ กรณีกล่าวหาว่าโพสต์ Facebook หมิ่นเหม่สถาบันกษัตริย์ พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 1.12 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ตามที่เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 3/2564 โดยมี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมลับลงมติยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2554 โดยกล่าวหาว่าได้ทำการโพสต์ข้อความที่เป็นประเด็นขัดแย้งในสังคมลงใน Facebook เป็นประจำ
โดยมีถ้อยคำหรือภาพที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อวัฒนธรรมไทยและเสื่อมเสียต่อการเป็นศิลปินแห่งชาติ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี ถือเป็นศิลปินคนแรกที่ถูกถอดถอนจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ หลังจากมีการแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 นั้น
ในวันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม 2564 เวลา 10.00 น. สุชาติ สวัสดิ์ศรี เจ้าของนามปากกา ‘สิงห์สนามหลวง’ และผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงอีกหลายชิ้น พร้อมด้วยทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะเดินทางไปยื่นฟ้องคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกระทรวงวัฒนธรรม ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ทบทวนตรวจสอบการใช้อำนาจและเพิกถอนมติของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติที่ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติการเป็นศิลปินแห่งชาติของตนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ทั้งการลงมติโดยใช้วิธีประชุมลับ ไม่เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ประกอบการพิจารณา ไม่ให้สิทธิสุชาติชี้แจงโต้แย้งก่อนการลงมติ ไม่แจ้งข้อเท็จจริงและเหตุผลในการลงมติให้ทราบอย่างชัดแจ้ง และการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ตีความข้อกฎหมายกำกวมตามอำเภอใจ และขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
พร้อมเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรม ชดใช้ค่าเสียหายต่อการถูกละเมิดสิทธิในเกียรติยศชื่อเสียง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง รวม 1,120,000 บาท และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวการเป็นศิลปินแห่งชาติของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา