วันนี้ (8 มกราคม) ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่สถานการณ์เงินเฟ้อในประเทศไทยติดลบติดต่อกันหลายเดือนว่า ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว ครั้งสุดท้ายขึ้นดอกเบี้ย แม้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อติดลบแล้ว ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรมากเกินปกติกว่า 2.2 แสนล้านบาท แต่ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำเพียง 2.4% ในปี 2566 ประชาชนยากจนลง คนไม่มีงานทำ ขายของไม่ได้ ธปท. จึงควรหันมาดูแลประชาชนให้มากขึ้น
ศ.ดร.สุชาติ แสดงความคิดเห็นอีกว่า เหมือน ธปท. จะต้องการกดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจนสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบกว่า -0.5% คิดเฉลี่ย 3 เดือนติดต่อกัน ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) 1-3% ที่ตกลงไว้กับรัฐบาล ความจริงทั้งผู้ว่าการและคณะกรรมการนโยบายการเงินต้องแสดงความรับผิดชอบแล้ว
ขณะเดียวกันระบบสถาบันการเงินของไทยก็ค่อนข้างผูกขาด พอ ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพาณิชย์ก็ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้มากๆ แต่ดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นน้อยๆ ขยายส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝาก (Spread) ในโอกาสต่อไปข้างหน้าคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินคงต้องติดตาม ดูแลให้เหมาะสม และรายงานเรื่อง Spread ต่อสาธารณชนอย่างสม่ำเสมอ
ศ.ดร.สุชาติ ได้เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาคือ ธปท. ต้องลดดอกเบี้ย และเพิ่มปริมาณเงิน (QE) ในระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องเพิ่มการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์จากทั้งภายในและภายนอกประเทศ พร้อมกับพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนให้มีหลากหลายทางเลือกยิ่งขึ้น ไม่ขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์มากเกินไปเฉกเช่นทุกวันนี้
ศ.ดร.สุชาติ ระบุอีกว่า การลดดอกเบี้ยลงจะทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น และยังทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง มีผลให้การส่งออกและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะไปเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตของชาติ (GDP growth) เพิ่มรายได้ประชาชน ทำให้มีเงินมาบริโภคและออมเพิ่มขึ้น ลดหนี้ครัวเรือน รัฐบาลก็จะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ลดหนี้ภาครัฐบาล ตนเองจึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายเร่งรีบพิจารณาลดดอกเบี้ยลง