วันนี้ (13 มกราคม) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย กุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และพนักงานสอบสวนคดี ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือ ตู้ห่าว นำสำนวนทั้งสิ้น 13 ลัง ภายในมีเอกสาร 67 แฟ้ม หรือ 20,000 กว่าหน้า ส่งมอบให้อัยการสูงสุดพิจารณาความเห็นทางคดีสั่งฟ้องตู้ห่าวกับพวกรวม 43 ราย ประกอบด้วยผู้ต้องหาเป็นบุคคลจำนวน 38 ราย และนิติบุคคลอีก 5 ราย โดยในจำนวนนี้ยังมีผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีการจับกุมจำนวน 18 ราย ซึ่งเป็นบุคคล
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า คดีนี้ พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้ทำหนังสือถึงอัยการสูงสุดให้พิจารณาดำเนินคดีกับตู้ห่าวและพวก ในความผิดฐานอาชญากรรมข้ามชาติหรือคดีนอกราชอาณาจักร ต่อมาอัยการสูงสุดรับพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร จึงสั่งตั้งคณะทำงานพนักงานสอบสวนของอัยการสูงสุดขึ้นมาทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอัยการสูงสุดรับคดีนี้เข้าสู่การสอบสวนในวันที่ 16 ธันวาคม 2565
สำหรับการดำเนินคดีกับตำรวจ 6 นายที่มีส่วนกระทำผิดในคดีตู้ห่าว พบว่ามีตำรวจ 5 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ต้องหาในคดีตู้ห่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแล้ว หลังพบว่ามีส่วนทำให้คดีเสียหาย ส่วน พ.ต.อ.หญิง วันทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ ภรรยาของตู้ห่าว ซึ่งพบพยานหลักฐานเชื่อมโยงว่ารู้เห็นกับการฟอกเงิน ก็ต้องให้ออกจากราชการเช่นเดียวกัน
ในคดีนี้ตำรวจสามารถสอบปากคำพยานได้กว่า 70 ปาก มีพยานหลักฐานเป็นเอกสาร นิติวิทยาศาสตร์ และวัตถุพยานอื่นๆ อีกจำนวนมาก และสามารถยึดอายัดทรัพย์ได้กว่า 5,000 ล้านบาท จึงมั่นใจว่าสำนวนทั้ง 13 ลัง จะสามารถเอาผิดผู้ต้องหาทั้งหมดได้
ด้านกุลธนิตกล่าวว่า สำนวนที่นำมาส่งให้อัยการสูงสุดในวันนี้ถือว่าสิ้นสุดการสอบสวนแล้ว หลังจากนี้จะเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะพิจารณาสำนวนเพื่อนำไปสู่ความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา
โดยระหว่างที่คณะพนักงานสอบสวนนำสำนวนมาส่งมอบให้อัยการสูงสุด ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย