×

Subaru ยังอยู่! ปิดโรงงานไทย แต่ไม่ปิดแบรนด์ สัญญาณเตือนรัฐบาลไทย สิ้นสุดยุคประกอบรถในประเทศ?

05.06.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • Subaru เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้วผ่านการนำเข้ารถจากญี่ปุ่น ก่อนจะประกอบรถในมาเลเซียเพื่อลดภาษี ทำให้ยอดขายเพิ่มจากหลักร้อยมาเป็นหลักพัน จนนำไปสู่การตัดสินใจตั้งโรงงานในไทยด้วยการร่วมทุนระหว่างตันจง กรุ๊ปและซูบารุเมื่อปี 2019 พร้อมเป้าหมายยอดขาย 6,000 คันต่อปี
  • แต่วิกฤตโควิดในปี 2020 ส่งผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ยอดขายลดลงเหลือระดับ 2-3 พันคันในปี 2021-2022 ก่อนที่ปี 2023 จะเหลือเพียงหลักพันคัน จากทิศทางตลาดรถยนต์ในไทยที่หันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับผลประกอบการติดลบต่อเนื่อง จึงนำไปสู่การประกาศปิดโรงงานของ Subaru
  • การปิดโรงงานนี้ไม่ได้หมายถึงการเลิกทำตลาดในไทย เพียงแต่ Subaru จะปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการนำเข้ารถจากญี่ปุ่นแทน ในขณะที่โรงงานจะหยุดประกอบรถในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด ซึ่งแตกต่างจาก Chevrolet ที่ไม่มีรถใหม่มาจำหน่ายแล้ว
  • สถานการณ์นี้ถือเป็นสัญญาณเตือนถึงภาครัฐไทยว่า ควรมีมาตรการดึงดูดและรักษานักลงทุนเดิมให้อยู่ต่อไป ไม่เช่นนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ปิดโรงงานในลักษณะเดียวกันนี้กับแบรนด์อื่นๆ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว หากยังคงโฟกัสแต่การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

‘ปิดโรงงาน’ กระแสข่าวที่ถือว่ารุนแรงมากสำหรับแบรนด์รถยนต์ในการทำตลาด กระทบความเชื่อมั่นของลูกค้า แต่ทว่าสิ่งนี้คือความจริงของโลกธุรกิจ

 

โดย Subaru (ซูบารุ) ออกประกาศปิดโรงงานอย่างเป็นทางการ พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำตลาดในเมืองไทย

 

THE STANDARD WEALTH ชวนมาย้อนรอยดูว่าเกิดอะไรขึ้น และอนาคตของแบรนด์ Subaru กับลูกค้าของ Subaru จะเป็นอย่างไรบ้าง

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

เรื่องราวเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

 

จุดเริ่มต้นของ Subaru ยุคใหม่ ต้องย้อนกลับไปราวเกือบ 20 ปีที่แล้ว เมื่อ ‘ตันจง กรุ๊ป’ คว้าสิทธิ์ในการทำตลาดรถยนต์ Subaru ในประเทศไทย หลังจากที่สิทธิ์ดังกล่าวว่างลง

 

โดยเป็นการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในห้วงเวลานั้นรถยนต์ Subaru มีราคาสูงกว่ารถญี่ปุ่นที่ผลิตในประเทศไทยค่อนข้างมาก ด้วยอัตราภาษีอากรนำเข้าของไทยที่สูงถึง 80% (ภาษีศุลกากร) และเมื่อรวมกับภาษีอื่นๆ ทำให้ราคาจำหน่ายสูงกว่า 2 เท่าในรถญี่ปุ่นพิกัดเดียวกัน

 

จนกระทั่งราวปี 2013 ตันจง กรุ๊ป ลงทุนตั้งไลน์ประกอบรถยนต์ Subaru รุ่น XV ในมาเลเซีย (เป็นการจ้างประกอบ) และส่งมาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้ราคารถยนต์ถูกลงไปจากเดิมราวครึ่งหนึ่ง เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีอากรนำเข้า จากราคาประมาณ 2 ล้านกว่าบาท กลายมาเป็นราคาหนึ่งล้านกว่าบาท

 

จุดนี้เองทำให้ยอดขายจากหลัก 1-2 ร้อยคันต่อปี เพิ่มขึ้นมาเป็นหลัก 1 พันคัน และขยับเพิ่มมาอยู่ที่ราว 2-3 พันคันต่อปี

 

 

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

 

ยอดขายระดับ 2-3 พันคันต่อปีนั้นยังคงสูงต่อเนื่องมานานหลายปี โดยความต้องการซื้อของลูกค้าชาวไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และกำลังการผลิตที่โรงงานในมาเลเซีย ไม่สามารถจะเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศไทยได้ ทำให้ตันจง กรุ๊ป ตัดสินใจร่วมทุนกับ Subaru ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย

 

เมษายน ปี 2019 คือปีที่โรงงานในไทยเปิดดำเนินกิจการด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนตันจง กรุ๊ปราว 75% และ Subaru 25% โดยมีพนักงานรวมทั้งหมดกว่า 400 คน ซึ่งทำการประกอบรถยนต์รุ่น ‘ฟอร์เรสเตอร์’ และได้รับผลตอบรับที่ดีด้วยยอดขายรวมในปีนั้นมากถึงเกือบ 4,000 คัน เป็นตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ราว 6,000 คันต่อปี

 

ทว่า ‘ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน’ คำนี้เป็นจริงเสมอ ทิศทางที่กำลังสดใส ยอดขายเป็นไปตามเป้าตั้งแต่ปีแรก แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันในปีต่อมา 2020 คือปีที่ทุกคนได้รู้จักคำว่า ‘โควิด’ ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้

 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่โดนผลกระทบอย่างหนัก ทั้งขาดแคลนชิ้นส่วน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจำหน่าย ทำให้ยอดขายต่อปีลงมาอยู่ที่ระดับ 2-3 พันคันอีกครั้งในช่วงปี 2021-2022

 

และฟางเส้นสุดท้ายมาอยู่ที่ปีที่แล้ว 2023 ยอดขายลงมาอยู่ในระดับ 1 พันกว่าคัน โดยมีทิศทางที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากกระแสการมาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งยอดขายในระดับนี้ไม่สามารถทำให้โรงงานประกอบรถยนต์สามารถเลี้ยงตัวเองได้ และหากพิจารณาถึงผลประกอบการย้อนหลัง 5 ปีจากการนำเสนอของสื่อมวลชน จะพบว่า Subaru ในประเทศไทยขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

 

Subaru ยังไม่หายไปไหน?

 

เมื่อสถานการณ์และทิศทางของตลาดรถยนต์ในไทยอยู่ในภาวะขาลงจากยอดขายที่ตกต่ำ (ตลาดรวมติดลบกว่า 20%) ยิ่งกว่าช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ตันจง กรุ๊ปและ Subaru ประกาศอย่างเป็นทางการในการยุติการดำเนินกิจการโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ระบุสรุปใจความสำคัญคือ มีการวางแผนการผลิตครอบคลุมทั้งปีนี้ ก่อนจะประกอบรถยนต์ Subaru ในวันที่ 30 ธันวาคมเป็นวันสุดท้าย และพนักงานทั้งหมดจะถูกเลิกจ้างโดยได้รับการชดเชยตามกฎหมาย โดยมิได้แจ้งว่าจะทำอย่างไรกับโรงงานดังกล่าว

 

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าชาวไทยคือ สรุปถ้อยแถลงต่อไปนี้ “Subaru ในประเทศไทยจะยังคงดำเนินกิจการอยู่ตามปกติ แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นแทน รวมถึงกลุ่มประเทศในอาเซียนทั้งหมดที่ไทยเคยเป็นฐานการผลิตให้”

 

นั่นหมายความว่า Subaru ยังไม่หายไปไหน เพียงแต่ปรับรูปแบบมาเป็นแบบเดิมก่อนการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศไทยนั่นเอง มิใช่การปิดแบรนด์ โดยยังคงมีรถใหม่จำหน่าย

 

สถานการณ์ดังกล่าวไม่เหมือนตอนที่ Chevrolet โบกมือลาประเทศไทย ที่ขายกิจการโรงงานและไม่มีรถใหม่มาจำหน่าย คงเหลือไว้เพียงส่วนบริการหลังการขายเท่านั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าชาวไทยรวมถึงดีลเลอร์ที่เป็นคู่ค้าจึงแตกต่างกันอย่างชัดเจน

 

ท้ายที่สุด หากสถานการณ์ตลาดรวมรถยนต์ของไทยยังคงเป็นไปในทิศทางแบบนี้ และภาครัฐยังคงนิ่งเฉย ให้การสนับสนุนแต่เพียงรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น เหตุการณ์ปิดโรงงานเลิกจ้างพนักงานในลักษณะนี้จะไม่ใช่แบรนด์แรก

 

ดังนั้น นี่คือสัญญาณแรกที่ส่งถึงภาครัฐของไทยว่าควรต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อดึงให้นักลงทุนที่เคยลงทุนไปแล้วยังคงดำเนินกิจการอยู่ได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งจะเป็นผลดีกับประเทศไทยและคนไทยทุกคนในระยะยาว

 

ภาพ: Santi Lumubol, Hendra Yuwana, totojang1977 / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising