ในเดือนตุลาคมปี 2019 มีผู้คนหลายล้านคนทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาและเอาใจช่วย เอเลียด คิปโชเก สุดยอดนักวิ่งมาราธอนแห่งยุค ที่ขอท้าทายกับสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนอย่างการวิ่งมาราธอนในระยะเวลาที่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
ท่ามกลางกำลังใจมากมายเหล่านั้น มี 5 คนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคิปโชเก ที่กลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลกที่สามารถวิ่งมาราธอนได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งพวกเขาทั้ง 5 กำลังคิดถึงการทำอีกสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
จะเป็นไปได้ไหมถ้าจะมีมนุษย์ชายและหญิงที่สามารถแข่งไตรกีฬาจบได้ในระยะเวลาต่ำกว่า 7 และ 8 ชั่วโมงตามลำดับ
5 คนที่นั่งอยู่บนโต๊ะสนทนาในประเทศบาห์เรน – ไม่กี่เดือนหลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของคิปโชเก – ประกอบไปด้วย คริส แม็คคอร์แม็ค แชมป์โลกไตรกีฬา, โม ฟาราห์ เจ้าของ 4 เหรียญทองโอลิมปิก, มาร์ก คาเวนดิช นักจักรยานชื่อดัง และนักไตรกีฬาอีก 2 คนคือ อลิสแตร์ บราวน์ลี และ ดานิเอลา รีฟ
ตามประวัติศาสตร์แล้วไม่เคยมีนักกีฬาคนใดที่จบการแข่งขันไตรกีฬาได้ในเวลาที่ต่ำกว่า 7 ชั่วโมงมาก่อน และไม่เคยมีใครคิดที่จะทำด้วย แต่เมื่อได้เห็นสิ่งที่ยอดนักวิ่งชาวเคนยาทำแล้ว สิ่งที่พวกเขาหารือแลกเปลี่ยนกันคือ ถ้าสมมติมีการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม บางทีพวกเขาอาจจะทำได้
ในการวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ ‘Sub2’ ของคิปโชเก มีทีมงานนักวิ่งอาชีพ 41 คนที่ทำหน้าที่เป็น Pacesetter และ Wind Blocker โดยที่ Pacesetter จะวิ่งตามรถนำขบวนที่กำหนดเวลาไว้ที่ระยะทาง 4 นาที 34 วินาทีต่อไมล์ มีนักจักรยานคอยส่งเจลให้พลังงานและน้ำดื่ม ขณะที่นักวิ่งทุกคนสวมใส่รองเท้าที่พื้นทำด้วยคาร์บอน
เพียงแต่สำหรับไตรกีฬาแล้ว การควบคุมปัจจัยต่างๆ เป็นไปได้ยากกว่า เพราะมันคือการแข่งขันกีฬา 3 อย่าง ไม่ใช่แค่อย่างเดียว ด้วยระยะทางรวม 140.6 ไมล์ ซึ่งประกอบไปด้วยการว่ายน้ำ 2.4 ไมล์ ขี่จักรยาน 112 ไมล์ และวิ่งอีก 26.2 ไมล์
แต่ถึงจะยากแค่ไหน ทั้ง 5 คนเห็นตรงกันว่าพวกเขาต้องการจะทำให้มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดให้ได้อีกครั้ง เช่นนั้น แม็คคอร์แม็คซึ่งเป็น CEO ของ MANA Sports and Entertainment Group ได้ร่วมกับ Pho3nix Foundation ในการคิดจัดอีเวนต์ ‘Sub7Sub8’
โปรเจกต์นี้เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 และเริ่มสำรวจหานักกีฬาที่สนใจและสนามแข่งที่มีความเป็นไปได้ โดยต้องการสร้างสนามที่ผิวน้ำเรียบนิ่งสำหรับช่วงของการว่ายน้ำ และหาเส้นทางที่วนเป็นวงกลมสำหรับการขี่จักรยานและวิ่ง ซึ่งสนามที่ได้รับการเสนอในตอนแรกมีในบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และสนามเดย์โทนาในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
สุดท้ายสนามที่เหมาะสมที่สุดคือ เลาซิตซ์ริง มอเตอร์แทร็ก ในประเทศเยอรมนี โดยมีนักไตรกีฬา 4 คนที่ได้รับเลือกให้ร่วมแข่งขัน
นิโคลา สปิริก, คัทรีนา แมตธิวส์, โจ สคิปเปอร์ และ คริสเตียน บลุมเมนเฟลต์ คือ 4 ผู้กล้าที่ขอท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์
นิโคลา สปิริก สตรีเหล็กที่เคยเกือบต้องตัดใจ เพราะเกิดอุบัติเหตุใหญ่ระหว่างซ้อม
ภาพ: @Pho3nix_Fdn
คนเหล็กทั้ง 4 ได้รับอิสระในการเลือกทีมทั้งหมด 10 คนที่จะคอยช่วยเหลือในการ Pacemaking ตลอดทั้ง 3 ประเภทของการแข่ง ซึ่งปกติแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้นทุกคนจะสามารถออกแบบทีมงานได้เองให้เหมาะสมที่สุด เช่น แมตธิวส์ เลือกนักวิ่งอัลตรามาราธอนช่วยในช่วงรอบแรกๆ ของการแข่งมาราธอน ขณะที่ทีมของสคิปเปอร์ใช้เพเซอร์ทั้งหมด 8 คนในช่วงของการขี่จักรยาน
นอกเหนือจากความช่วยเหลือจากมนุษย์แล้ว เพื่อจะไปให้ไกลกว่าขีดจำกัดให้ได้ ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเช่นกัน และเทคโนโลยีที่ใช้นั้นถือเป็นสุดยอดทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างเช่น ที่แขนของนักกีฬาแต่ละคนจะมีเครื่องมือตรวจจับที่จะวิเคราะห์ระดับนำ้ตาลในเลือด โดยจะคอยเตือนนักกีฬาว่าควรจะต้องกินหรือดื่มอย่างไรตามอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย
“มันเหมือนกับการที่พวกเขาคอยเติมข้อมูลให้แก่นักกีฬาด้วยข้อมูลในระดับเรียลไทม์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน” แม็คคอร์แม็ค ที่เคยคว้าแชมป์โลก IRONMAN World Championship ในปี 2007 และ 2010 กล่าว “มันบ้าคลั่งมาก”
มาถึงชุดว่ายน้ำบ้าง ชุดว่ายน้ำที่ใช้สำหรับนักกีฬาผลิตจากนีโอพรีนเกรดสูงสุดที่มีค่าการลอยตัวสูงกว่านีโอพรีนทั่วไปถึง 43 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งชุดนี้ทำให้เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2012 อย่างสปิริกถึงกับบอกว่า “ชุดนี้มันแทบลื่นเหมือนหนังปลาแล้ว”
จักรยานที่ใช้ก็ไปให้ถึงขั้นสุดยอดเช่นกัน โดยจะไม่มี Top Tube บนเฟรม เพื่อให้นักกีฬาสามารถที่จะปรับตำแหน่งให้ตรงตามหลักอากาศพลศาสตร์ (Aerodynamics Position) มากขึ้น รวมถึงการปรับตำแหน่งที่ใส่ขวดน้ำทั้งด้านหน้าและหลัง เพื่อให้นักกีฬาสามารถไปให้ได้เร็วยิ่งขึ้น
“เราได้ดึงคนที่เก่งที่สุดในโลกมางานนี้ และให้โจทย์กับพวกเขาว่า พวกคุณมีผ้าใบเปล่าๆ อยู่ตรงนี้” แม็คคอร์แม็คกล่าว “ทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ชายและหญิงเหล่านี้ไปให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ก็พอ”
แดน บิ๊กแฮม ผู้เชี่ยวชาญด้านจักรยาน เป็นหนึ่งในคนที่ถูกดึงมาเพื่อช่วยเหลือในการวางกลยุทธ์สำหรับช่วงการขี่จักรยาน โดยใช้ซอฟต์แวร์ในการคำนวณหาตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเพเซอร์และควบคุมการเปลี่ยนตำแหน่งในกลุ่มของเพเซอร์
ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นน่าทึ่งอย่างยิ่ง เพราะสถิติโลกใน 1 ชั่วโมง หรือระยะทางที่ขี่ได้ในเวลา 60 นาทีนั้นถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง สคิปเปอร์กับบลุมเมนเฟลต์สามารถขี่ในระยะทางเฉลี่ย 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จักรยานที่ใช้ในงานนี้มีการปรับเปลี่ยนหลายจุด เพื่อให้ทำความเร็วได้สูงสุด
ภาพ: @Pho3nix_Fdn
ในช่วงของการวิ่งมาราธอนซึ่งเป็นช่วงที่ทุกคนต้องเย็นลง สคิปเปอร์มีผู้ช่วยที่คอยขี่จักรยานไปข้างๆ โดยมีถังน้ำและสเปรย์คอยฉีดให้ และนักกีฬาทุกคนจะได้ดื่มน้ำที่ปั่นกับน้ำแข็ง เพื่อรักษาอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายให้เย็นลง
เรียกได้ว่าทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้แล้ว และที่เหลือนั้นขึ้นอยู่กับตัวของนักกีฬาเองแล้วว่าจะทำได้ไหม
โดยคนที่ทุกคนห่วงที่สุดคือสปิริกในวัย 40 ปี ที่จะลงแข่งขันเป็นฤดูกาลสุดท้ายในชีวิต แต่ประสบอุบัติเหตุในระหว่างการซ้อมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จนทำให้ปอดฉีกและไหปลาร้ากับซี่โครงหัก จนความหวังที่จะเป็นนักกีฬาหญิงที่เข้าเส้นชัยไตรกีฬาในเวลาที่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงเลือนราง
แม็คคอร์แม็คยังจำภาพที่ได้เห็นในโรงพยาบาลได้ว่า “ผมเห็นภาพเธอมีเครื่องมือกับสายระโยงระยางในโรงพยาบาล ก็เลยบอกให้เธอลืมมันไปเถอะ”
แต่สุดท้ายเธอก็กลับมาได้ และจบการแข่งขันด้วยเวลาที่เหลือเชื่อเช่นเดียวกับนักกีฬาอีก 3 คน
สปิริกเข้าเส้นชัยที่เวลา 7 ชั่วโมง 34 นาที 19 วินาที ตามหลังแมตธิวส์ที่เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 7 ชั่วโมง 31 นาที 54 วินาทีอยู่ร่วม 3 นาที แต่ทั้งคู่ทำ ‘Sub8’ ได้สำเร็จ
บลุมเมนเฟลต์ แชมป์ไตรกีฬา โตเกียวโอลิมปิก 2020 จากประเทศนอร์เวย์ ก็ทำ ‘Sub7’ ได้เช่นกันด้วยเวลา 6 ชั่วโมง 44 นาที 25 วินาที ขณะที่สคิปเปอร์ตามเข้ามาที่ 6 ชั่วโมง 47 นาที 36 วินาที
เรียกได้ว่าพวกเขาทั้ง 4 คนรวมถึงทีมงานทุกคนได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์และนำมนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดได้อีกครั้ง และทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อนักกีฬาและองค์กรอีกมากมายที่อยากจะท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ในแบบเดียวกันบ้าง
สำหรับแม็คคอร์แม็คในฐานะแม่งาน ความสำเร็จของ ‘Sub7Sub8’ ในวันนี้ทำให้เขาคิดถึงการท้าทายเวลาให้เร็วขึ้นไปอีกในอนาคต และอยากจะจัดอีเวนต์นี้เป็นประจำทุกปี รวมถึงมองหานักกีฬาที่อายุน้อยกว่านี้ในกีฬาอื่นๆ ที่หลากหลายกว่านี้ด้วย โดยเฉพาะในกีฬาฤดูหนาวอย่างสโนวบอร์ด, สเกตน้ำแข็ง และสกีครอสคันทรี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระโดดสกีที่เขาได้แรงบันดาลใจจากสารคดีของ เชน แม็คคองกี นักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ที่เสียชีวิตจากการกระโดดสกีในปี 2009 และอยากจะทลายขีดจำกัดของกีฬาเหล่านี้อีก
“เราต้องการเห็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้”
เพราะมนุษย์จะไปต่อ ‘To Infinity and Beyond’
อ้างอิง: