วันนี้ (9 ตุลาคม) นิกร จำนง โฆษกคณะอนุกรรมาธิการ เสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ก่อนรับหลักการ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการในขณะนี้ว่า ได้มีการพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นเกี่ยวกับการจัดทำประชามติ ประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อหมวด 1 และหมวด 2
ทั้งนี้ จากการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการได้มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ดังนี้
ประเด็นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คณะอนุกรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติว่า ญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ความเห็นว่า เป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมาธิการเสียงข้างน้อยเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือเสียงจากสมาชิกวุฒิสภาที่ยังเห็นว่าในการแก้ไขมาตรา 256 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
สำหรับประเด็นการจัดทำประชามตินั้น คณะอนุกรรมาธิการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า การจัดทำประชามติควรจัดทำภายหลังจากวาระที่ 3 หรือก่อนขั้นตอนการส่งร่างกฎหมายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ในขณะที่อนุกรรมาธิการเสียงข้างน้อยมีความเห็นว่า ควรจัดทำประชามติก่อนพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1
โดยส่วนตัวมองว่า การจัดทำประชามติก่อนพิจารณารับหลักการนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการขอจัดทำประชามติ และไม่มีกฎหมายใดที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชามติเข้ามารองรับ โดยการจัดทำประชามติเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ
อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติไว้ว่า สามารถจัดทำประชามติในกฎหมายได้ และที่ผ่านมาได้มีนักกฎหมายและนักวิชาการจากหลายภาคส่วนร่วมแสดงความเห็นว่าสามารถจัดทำได้ เช่น สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้เคยออกมาให้ความเห็นอย่างชัดเจนว่าการจัดทำประชามติสามารถทำได้
ทั้งนี้ จากการพิจารณาและจากข้อเสนอแนะทั้งหมดของคณะอนุกรรมาธิการเสนอความเห็นในข้อกฎหมายและความเห็นในชั้นกรรมาธิการใหญ่ จะถูกส่งต่อไปยังคณะอนุกรรมาธิการจัดทำรายงาน เพื่อนำบทสรุปทั้งหมดจัดทำเป็นรูปเล่ม เสนอเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล