รูดม่านปิดฉากลงไปอย่างสมบูรณ์แบบเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงาน STYLE Bangkok 2025 งานจัดแสดงสินค้าด้านไลฟ์สไตล์และแฟชั่นระดับนานาชาติของประเทศไทยที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 2-6 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ในฐานะที่ THE STANDARD มีโอกาสได้ตบเท้าเข้าเยี่ยมเยือนงานนี้ ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ศักยภาพด้านการเป็นผู้ผลิตงานสร้างสรรค์ทั้งในเชิงไลฟ์สไตล์และแฟชั่นของบรรดาผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะกลุ่ม OEM นั้นน่าจะถูกจัดอยู่ให้ในลำดับต้นๆ ของเวทีโลกเลยก็ว่าได้
พิสูจน์ได้จากทั้งการที่ในตัวงาน มีบูธจัดแสดงสินค้าไลฟ์สไตล์ หรือแฟชั่นที่น่าสนใจมากมายจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาจัดแสดง โดยที่ผลิตภัณฑ์และสินค้าเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่ได้คุณภาพทั้งในเชิงการผลิต สวยงามและดูน่าใช้งานเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญ การได้เข้าร่วมงานดังกล่าวในบทบาทของการเป็นผู้บริโภคยังทำให้เราได้สังเกตเห็นถึงความสนใจที่เหล่านักลงทุน หรือผู้ประกอบการจากต่างประเทศมีให้ต่อสินค้าไลฟ์สไตล์ และแฟชั่นสัญชาติไทยเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นทั้งสะพานและแพลตฟอร์มชั้นดีที่จะช่วยให้เหล่าผู้ผลิต นักออกแบบ แบรนด์ท้องถิ่นจากไทยมีโอกาสได้พบปะ เจรจาปิดดีลการค้ากับผู้ซื้อจากนานาประเทศ
พบงาน STYLE Bangkok 2025 สร้างเม็ดเงินสะพัดมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท เผย จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น ให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากสุด
หนึ่งหลักฐานที่เป็นเครื่องยืนยันได้ถึงความสำเร็จของ STYLE Bangkok ซึ่งสามารถจับต้องได้จริงคือการที่ พิชัย นริพทะพันธุ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาเปิดเผยว่า งานดังกล่าวได้สร้างมูลค่าซื้อขายตลอดงานเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 1.4 พันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยออกมาอีกด้วยว่า งานจัดแสดงครั้งนี้ได้เปิดประตูต้อนรับเหล่าผู้ซื้อจากทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 25,000 ราย จาก 60 ประเทศ ทั่วโลกทั้งจากเอเชีย ยุโรป ตะวันออกกลาง
โดยพบว่า จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร คือชาติที่มีผู้ซื้อเดินทางเข้าร่วมงานมากที่สุดตามลำดับ
ภายในงานมีแบรนด์ผู้ผลิตสัญชาติไทยที่ได้รับความสนใจจากผู้ซื้อนานาชาติมากมาย ตัวอย่างเช่น แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ ‘YOTHAKA’ ที่ปรากฏในฉากซีรีส์ดัง และจัดแสดงในงาน Maison & Objet ประเทศฝรั่งเศส
แบรนด์ ‘KORAKOT’ ซึ่งมีผลงานการตกแต่งภายในกับแบรนด์ใหญ่ระดับโลก รวมถึงแบรนด์ Rati, Qualy, AmoArte และอีกหลากหลายแบรนด์จากวงการหัตถอุตสาหกรรม ที่ใช้เทคนิคจักสานจากวัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่น และวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาสินค้า
พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความสำเร็จของงานว่า STYLE Bangkok 2025 ได้พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้งว่า ความคิดสร้างสรรค์และฝีมือของนักออกแบบไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก แม้จะมีความท้าทายทางการค้าระหว่างประเทศ แต่ไทยยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการส่งออกผ่านสินค้าไลฟ์สไตล์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง พัฒนาสินค้าให้มีฟังก์ชันการใช้งานใหม่ๆ และผลิตสินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก
“ผมได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด คัดเลือกผู้ประกอบการท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆ ของไทยที่มีศักยภาพและความพร้อมในการก้าวสู่ตลาดสากล มาจัดแสดงในงานนี้ ซึ่งปรากฏว่ามีบริษัทและวิสาหกิจชุมชนที่เข้าร่วมงานหลายรายได้ผลตอบรับที่ดีเกินคาด
“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด จะสามารถช่วยเชื่อมโยง ส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้สามารถเติบโตในระดับสากลเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ข้อมูลที่น่าสนใจเปิดเผยโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ระบุว่า STYLE Bangkok 2025 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นประตูส่งเสริมผู้ประกอบการจากภูมิภาคมากเกือบ 150 รายมาจัดแสดงสินค้าภายในงาน นับเป็นการทดสอบตลาด สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดก้าวสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างแข็งแรง
นอกเหนือจากกลุ่มแบรนด์ท้องถิ่นหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการร่วมงานซึ่งเราได้กล่าวไปในตอนต้น เคสของ ‘บริษัท ลีฟ ครีเอชั่น จำกัด’ ผู้ผลิตสินค้าจากหนังวีแกน จากใบสัก ก็ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จเป็นงานมากเช่นกัน เนื่องจากพวกเขาได้รับออร์เดอร์จากผู้ซื้อรัสเซีย และฝรั่งเศส เป็นมูลค่ามหาศาล
เช่นเดียวกันกับวิสาหกิจชุมชนจักสานก้านจากบ้านนายอดทอง ที่ได้ออร์เดอร์จากผู้ซื้อฮ่องกง ซึ่งมีการสั่งซื้อสินค้าภายในงานทันที นับเป็นมูลค่าถึง 16 ล้านบาท!
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดโซนนิทรรศการอื่นๆ อีกมากมาย นอกเหนือจากโซนจัดแสดงสินค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น เช่น นิทรรศการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ภายใต้โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกตามแนวพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
นิทรรศการ ‘DEmark และ G-Mark’ จัดแสดงผลงานออกแบบที่ได้รับรางวัลระดับประเทศและระดับนานาชาติ, นิทรรศการ ‘ASEAN Furniture Design Award 2025 จัดแสดงผลงานนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์รุ่นใหม่ที่ผ่านเข้ารอบการประกวดรางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์แห่งอาเซียน 2025
‘Sustainable Gifts and Decorative Exhibition’ ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ของขวัญและของตกแต่งที่สร้างสรรค์จากวัสดุ Zero Waste เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม,นิทรรศการ Qurated Trend Spring/ Summer 2026 จัดแสดงแนวโน้มแฟชั่นของไทยและเทรนด์แฟชั่นสปริง/ซัมเมอร์ 2026, นิทรรศการ ‘Excellent Domestic Sustainable Supply Chain’ นำเสนอการจัดการห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยร่วมสมัย, นิทรรศการ ‘Art Toy Thailand’ นำเสนอผลงานของอาร์ตทอยสุดสร้างสรรค์จาก 30 ศิลปินอาร์ตทอยไทย
หรือ ‘STYLE Gallery’ จัดแสดงผลงานโดยนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘Designers’ Room / Talent Thai / Creative Studio’ จัดแสดงผลงานนักออกแบบไทยรุ่นใหม่มาแรง, นิทรรศการ ‘The Niche Showcase’ นำเสนอสินค้าเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ เช่น สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง สินค้าแม่และเด็ก สินค้ากลุ่ม Glamping และสินค้าผู้สูงอายุ 60+ เป็นต้น
ความสำเร็จแบบไปต่อไม่มีพัก! พาณิชย์ประกาศกร้าวเร่งเดินหน้าจัดงานนานาชาติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์โลก
ไม่เพียงแค่จัดงาน STYLE Bangkok 2025 เท่านั้น แต่ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยกระทรวงพาณิชย์ยังออกมาเปิดเผยอีกด้วยว่า พวกเขายังเตรียมเดินหน้าจัดงานแสดงสินค้าท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงศักยภาพสินค้าไทยสู่สายตาชาวโลก
ตัวอย่าง เช่น งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 70 และ 71, งาน THAIFEX-HOREC Asia 2025 ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าการค้ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
งาน Thailand International Auto Parts & Accessories Show 2025 (TAPA 2025) และงานแสดงสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ของไทย (ระหว่างวันที่ 3-5 เมษายน 2568)
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2568 ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังเตรียมจัดงานใหญ่ระดับภูมิภาคอีกครั้ง คือ งาน THAIFEX – Anuga Asia 2025 งานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ซึ่งทั้ง 3 งานสำคัญนี้ คาดว่าจะสร้างมูลค่าการค้ารวมกว่า 102,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
นับเป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจและน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งสำหรับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นไทยโดยตรงให้สามารถผลักดันสินค้าและผลงานการออกแบบ การผลิตของพวกเขาให้ก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลกได้อย่างสง่าผ่าเผย และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ทั้งยังมีส่วนช่วยในทางหนึ่งทำในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบการ เจ้าของแบรนด์เหล่านี้ให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ