×

Studio Avocado รับจบทุกปัญหางานออกแบบ บทบาทใหม่ของ สาธิต กาลวันตวานิช

โดย THE STANDARD TEAM
20.10.2023
  • LOADING...

หากพูดถึงผู้นำแห่งวงการโฆษณาไทย ไม่พูดถึง Phenomena ที่มีเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคงไม่ได้ 

 

หากไม่มี Propaganda ที่เขานั่งแท่นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ วงการดีไซน์คงขาดต้นแบบสำคัญในการพาไอเดียคนไทยบุกไปเวทีโลก 

 

หลังจากใช้เวลามากกว่าครึ่งชีวิตกับการผจญภัยในอุตสาหกรรมโฆษณาและงานดีไซน์ ‘สาธิต กาลวันตวานิช’ ในวัย 64 ปี ไม่ใช่แค่ไม่ยอมหยุดทำงาน แต่เขาเลือกที่จะกระโจนสู่โลกใบใหม่ด้วยการเปิด Studio Avocado บริษัทที่ปรึกษาด้านงานดีไซน์และครีเอทีฟโซลูชัน ที่ออกตัวว่าทั้งบริษัทมีเขาและ ณรากุญ คูสุโรจน์ เพียง 2 คน แต่ฝากผลงานไว้ในหลากหลายโปรเจกต์ เช่น อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ (​FYI Center), ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) และทรู ดิจิทัล พาร์ค เฟส 2 

 

 

ทั้งหมดเริ่มต้นจากคำชักชวนของ วู้ดดี้-ธนพล ศิริธนชัย Country CEO แห่ง Frasers Property Thailand ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในโปรเจกต์อาคารเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ ที่มาพร้อมโจทย์ ‘ทำอย่างไรให้พื้นที่ของอาคารสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ผ่านไปมา’ 

 

 

จากตัวตึกที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งาน แต่ยังขาดการปฏิสัมพันธ์กับผู้ที่ผ่านไปมา สาธิตได้นำเอาประติมากรรม Mr. & Mrs. Spark มาติดตั้งไว้ด้านหน้าอาคาร เพื่อสะท้อนถึงการติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งวิถีชีวิตเช่นนี้กำลังขับเคลื่อนโลกให้หมุนไปข้างหน้า 

 

หลังจบโปรเจกต์แรก ไอเดียของการก่อตั้ง Studio Avocado ก็กลายเป็นรูปเป็นร่าง นำไปสู่โปรเจกต์ใหม่ๆ ที่มาพร้อมโจทย์ใหม่ๆ ทำให้การผจญภัยในโลกใบใหม่ของสาธิตท้าทายและสนุกยิ่งขึ้น 

 

The Rice & The Seed เมล็ดพันธุ์สะท้อนศักยภาพคนไทย 

 

สาธิต: “พอทำโปรเจกต์แรกจบ ทาง Frasers Property Thailand เขามองเห็นว่าพวกเราจับแกนได้แม่น จึงชวนไปลุยต่อในโปรเจกต์ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คราวนี้โจทย์คือให้นำเอาพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘สืบสาน รักษา ต่อยอด’ มาเป็นไอเดียตั้งต้น” 

 

 

จนเกิดเป็นงานประติมากรรมที่สร้างขึ้นอย่างวิจิตรบรรจง The Rice เมล็ดข้าวที่มีความยาวถึง 8 เมตร และ The Seed เมล็ดพันธุ์ที่สะท้อนถึงศักยภาพของคนไทย ที่สามารถงอกงามได้บนผิวน้ำและผืนดินที่อุดมสมบูรณ์​ 

 

ณรากุญเล่าถึงกระบวนการ Connect the Dots ที่ทำให้ได้ความคิดสร้างสรรค์และไอเดียในการออกแบบ ซึ่งมักเกิดขึ้นในหลายๆ โปรเจกต์ของ Studio Avocado 

 

ณรากุญ: “การได้มาของไอเดียเราไม่ได้นั่งญาณคิด แต่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดของลูกค้า ประกอบกับการสัมภาษณ์คนทำงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น Landscape Designer และ Interior Designer ซึ่งจะทำให้เกิดหลายๆ Dots จากนั้นนำมาร้อยเรียงให้เป็นเส้นเรื่องเดียวกัน เรื่องที่แปลกแต่จริงคือ หลายๆ ครั้งลูกค้ามีแกนที่แม่นมากๆ อยู่แล้ว แต่พอแตกไปสู่การทำงานของแต่ละฝ่ายกลับไม่ร้อยเรียงเป็นเส้นเรื่องเดียวกัน กลายเป็นต่างคนต่างทำ ซึ่งในที่สุดก็ไม่สามารถตอบโจทย์แบรนด์ได้” 

 

Metamorphosis การกลายร่างของสตาร์ทอัพสู่ยูนิคอร์นสยายปีก 

 

โปรเจกต์ต่อมาคือ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เฟส 2 ที่ Studio Avocado ได้เข้าไปให้คำปรึกษาทั้งในเรื่อง Brand Narrative รวมถึงการ Execution หรือการแตกไอเดียมาสู่การออกแบบ 

 

สาธิต: “ตอนแรกที่เข้าไปเราเจอแต่คีย์เวิร์ดมากมายเต็มไปหมด ผมว่าเราน่าจะขมวดให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด จึงย้อนกลับมาที่จุดตั้งต้นของการเกิดขึ้นของพื้นที่ มันคือความตั้งใจสร้างให้เป็น Start-Up Hub ที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และฝันอยากให้มียูนิคอร์นสัญชาติไทยเกิดขึ้นที่นี่”

 

 

“ก็เลยนึกถึงคำว่า Metamorphosis หรือกระบวนการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างหน้าตาและพฤติกรรม เช่น จากหนอนเป็นดักแด้ แล้วกลายเป็นผีเสื้อ พอเอามาเปรียบเทียบกับการเจริญเติบโตของสตาร์ทอัพก็ดูเป็นสิ่งที่สื่อความหมายที่ดีและทำให้เห็นภาพตรงกัน” 

 

Generous Space พื้นที่ที่มีน้ำใจ 

 

KingBridge Tower คือโปรเจกต์ล่าสุดของ Studio Avocado ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง นับเป็นครั้งแรกของการร่วมงานกับธุรกิจเครือสหพัฒน์ และบริษัทสถาปนิก 49 (A49) 

 

 

สาธิต: “โจทย์ของงานนี้คือให้นำหลักคิดในการทำธุรกิจของสหพัฒน์ ‘มองไกล น้ำใจ สัญญา’ มาใส่ลงในพื้นที่ของอาคารสำนักงานแห่งใหม่ที่เขากำลังจะเปิดให้เช่า โดยส่วนตัวผมชอบโจทย์นี้ตรงที่มันมี Sense ของการให้ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน

 

“โจทย์ว่าสนุกแล้ว แต่เวลาทำงานร่วมกันสนุกยิ่งกว่า เพราะเราได้ Brainstorm กันโดยเอากระบวนการ Design Thinking มาใช้ในการหาไอเดีย ตั้งกฎไว้ว่าจะไม่มีการพูดว่า ‘ไม่’ จะไม่มีการฆ่าไอเดียกัน จนในที่สุดนำมาสู่ประโยคหนึ่งที่ว่า ‘อยู่ตึกนี้แล้วต้องยิ้ม’ ซึ่งประโยคนี้เองที่ช่วยปลดล็อกทุกอย่าง” 

 

 

KingBridge Tower จึงไม่ใช่อาคารสำนักงานแบบเดิมๆ ที่พื้นที่ทุกตารางนิ้วต้องมุ่งสู่การทำกำไรสูงสุด (Profit) แต่เป็นพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับคน (People) และชุมชนที่อยู่แวดล้อม (Community) โถงกลางออกแบบเป็นอัฒจันทร์ให้คนทั่วไปเข้ามานั่งพักผ่อนหย่อนใจ และมีหนังสือให้นั่งอ่านกันฟรีๆ สมกับคอนเซปต์ ‘พื้นที่ที่มีน้ำใจ’

 

ณรากุญ: “ตอนประชุมกันมีคนทักขึ้นมาว่า ถ้าเราวางหนังสือไว้ให้คนทั่วไปเข้ามาอ่านได้ไม่จำกัด แล้วถ้าเกิดมีคนขโมยหนังสือขึ้นมาจะทำอย่างไร พี่อาร์ต สถาปนิกจาก A49 ตอบว่า ปัญหานี้คือ Good Problem เพราะการที่หนังสือหายถือเป็นเรื่องที่ดี แปลว่ามีคนอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อเราเป็นพื้นที่ที่มีน้ำใจ เราปล่อยเลย ตามสบาย โอ้โห พอได้ยินแบบนี้การทำงานร่วมกันยิ่งสนุก”

 

 

ส่วนผสมแห่งความสำเร็จ 

 

ถ้าจะนิยามการมีอยู่ของ Studio Avocado ให้เข้าใจง่ายๆ ณรากุญเรียกว่า เป็นงาน ‘รับจบปัญหา’ หรือเป็น ‘ข้อต่อ’ ระหว่างเจ้าของโครงการกับฝั่งนักออกแบบ บางครั้งหลักคิดหรือแกนของแบรนด์ส่งไปไม่ถึงฝั่งของนักออกแบบ ทำให้เกิดช่องว่าง จนหลายครั้งโปรเจกต์สะดุดเพราะออกแบบอย่างไรก็ไม่ผ่าน 

 

สาธิต: “บางงานไม่ได้รื้อหรือเปลี่ยนอะไรมากมายเลย แต่เราแค่เข้าไปช่วยแปลงความต้องการของลูกค้าให้เป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจร่วมกัน (Common Language) เพื่อให้โปรเจกต์เดินต่อไปได้ และไปถึงเป้าหมายเดียวกัน นี่คือความสนุกและความท้าทายของการทำงานในช่วงนี้” 

 

 

ถามว่า Studio Avocado ที่มีกันอยู่แค่ 2 คน ทำงานโปรเจกต์ใหญ่ๆ ระดับประเทศได้อย่างไร? ทั้งคู่ช่วยกันตกผลึกออกมาเป็น 4 ส่วนผสมแห่งความสำเร็จ 

 

1. Interdisciplinary

 

ไม่ใช่แค่อายุการทำงานที่ยาวนานเท่านั้น แต่แบ็กกราวด์การทำงานและความหลงใหลส่วนตัวของสาธิตทำให้เขาเข้าใจคนทำงานในหลายๆ อุตสาหกรรม สามารถเชื่อมความรู้ความเข้าใจที่มีมาสู่การทำงานในปัจจุบันได้ ทั้งงานกราฟิก ดีไซน์ โฆษณา การตลาดและแบรนดิ้ง รวมถึงงานเชิงสถาปัตย์ 

 

2. Partnership

 

รวมถึงการได้เจอพาร์ตเนอร์ในการทำงานอย่างณรากุญ ที่เข้ามาซัพพอร์ตในส่วนที่สาธิตไม่ถนัด เช่น เรื่องการประสานงาน การทำเอกสาร งานบัญชี กฎหมาย และในหลายๆ ครั้งยังเป็นคนช่วยโยนไอเดียใหม่ๆ และช่วยกันเกลาให้แหลมคมยิ่งขึ้น  

 

3. Networking

 

Studio Avocado ยังมีเครือข่ายของคนทำงานสร้างสรรค์ในหลากหลายวงการ โดยเฉพาะทีมงานที่เคยผ่านประสบการณ์ในบริษัทออกแบบและโฆษณาระดับท็อปๆ ของประเทศ อย่างเช่น ‘สามหน่อ’ ‘Phenomena’ และ ‘Propaganda’ ฯลฯ 

 

4. Growth Mindset

 

มายด์เซ็ตของการไม่ยอมแพ้และไม่หยุดเรียนรู้สำคัญที่สุด สาธิตขยายความต่อว่า “เราเข้าไปทำงานในวงการไหน เราเริ่มจากการเป็น Underdog เสมอ เริ่มต้นจากความหลงใหล ความไม่รู้ แล้วกระโจนเข้าไปทำ ชีวิตจึงมีบทเรียนแห่งความผิดพลาด ล้มเหลว เรียนรู้ ไม่ยอมแพ้ ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีงานไหนยากเกินกว่าความพยายามหรือความตั้งใจ” 

 

รู้จัก Studio Avocado เพิ่มเติม www.facebook.com/profile.php?id=100057336344471

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X