×

นิสิต-ชาวบ้าน แสดงพลังค้านจุฬาฯ รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง สร้างคอนโดมิเนียม หวังพื้นที่ความทรงจำอยู่ร่วมกับการพัฒนาได้

15.06.2020
  • LOADING...

ประเด็นทางสังคมที่กำลังปะทุขึ้นอีกครั้ง คือกรณีที่ปรากฏ #SAVEศาลเจ้าแม่ทับทิม ในโลกทวิตเตอร์ สาเหตุมาจากการที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากพื้นที่ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 นั่นหมายความว่าวันนี้คือวันสุดท้ายในการยื่นคำขาดของคำสั่งดังกล่าว และจะเริ่มทำการรื้อถอนศาลเจ้าเพื่อเตรียมพื้นที่สร้างคอนโดมิเนียม 1,800 ยูนิตในบริเวณนี้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายนเป็นต้นไป 

 

ปฏิกิริยาดังกล่าวทำให้วันนี้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนทั้งที่เคยอาศัยและอาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน ตลอดจนผู้ศรัทธาในองค์เจ้าแม่ทับทิมทั้งในและต่างประเทศ ออกมาร่วมกันแสดงพลังคัดค้านการดำเนินการของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ป้ายที่ระบุข้อความ ‘อย่าทุบศาลเจ้าแม่ทับทิม มรดกและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของเรา’ อีกป้ายเขียนข้อความ ‘หยุดทำลายประวัติศาสตร์คัดค้านการรื้อศาลเจ้าแม่ฯ’​ ถูกนำมาขึงแสดงออกถึงการคัดค้านที่หน้าศาลเจ้าแม่ฯ ในวันนี้ 

 

คุณป้าท่านหนึ่งในฐานะที่เคยอาศัยอยู่ที่นี่ บอกกับสื่อมวลชนว่า “รู้สึกดีใจมากที่สุดท้ายคนที่ช่วยเราเรียกร้องเรื่องนี้กลับเป็นคนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง อยากขอให้รับฟังเสียงสะท้อนในการอยู่ร่วมกันของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และการพัฒนาที่กำลังจะมาถึง”

 

ขณะที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า จะดำเนินการก่อสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ โดยให้มีสภาพและบรรยากาศเหมือนสถานที่เดิม โดยจะย้ายไปที่อาคารในอุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

สำหรับข้อเรียกร้องที่นิสิตและประชาชนได้ยื่นเป็นข้อเสนอต่อสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ

 

  1. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรชะลอการสร้างคอนโดมิเนียมในพื้นที่ศาลเจ้าออกไปก่อน สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรจะให้ประชาชนในพื้นที่และนิสิตมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยมีอนุกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ ผู้ดูแลศาลเจ้า นิสิต และผู้มีความรู้ทางศิลปวัฒนธรรม ทั้งด้านสถาปัตยกรรมจีนและด้านประวัติศาสตร์

 

  1. สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ควรเห็นว่าครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ ‘ชุมชนที่หายไปแล้ว’ ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้อ้างเป็นเหตุผลในการย้ายศาลเจ้า จะได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เนื่องจากหลังมีข่าวการรื้อถอนศาลเจ้า ศาลเจ้าแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประชาชนจำนวนมากจากทั่วประเทศ ต่างพากันมาที่ศาลเจ้าเพื่อสักการะบูชาและศึกษาวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนสถาปัตยกรรม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงควรทำนุบำรุงศาลเจ้าแห่งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมชุมชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป มากกว่าจะนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

  1. แทนที่สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะย้ายศาลเจ้าไปยังพื้นที่ใหม่ ควรจะพิจารณาให้คอนโดมิเนียมอยู่ร่วมกับศาลเจ้าได้ อันเป็นตัวอย่างของการพัฒนาแนวใหม่ที่ผสมผสาน ‘สิ่งใหม่-สิ่งเก่า’ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่างในประเทศไทยสืบไป

 

สำหรับศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีความเป็นมาย้อนกลับไปได้มากกว่าหนึ่งร้อยปี อยู่ในบริเวณนี้มาก่อนก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จพระราชดำเนินมาถวายสักการะ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกระถางธูปสังเค็ดแก่ศาลเจ้านี้ ตั้งแต่ปี 2454 จึงกล่าวได้ว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองเป็นความทรงจำร่วมของคนในพื้นที่สามย่านมาอย่างยาวนาน ขณะที่สถาปัตยกรรมเป็นแบบ ‘เตี่ยวโผกิก’ ซึ่งต่างจากศาลเจ้าจีนแต้จิ๋วโดยทั่วไป

 

เมื่อฝ่ายหนึ่งอ้างการพัฒนา ขณะที่อีกฝ่ายต้องการรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้ จึงน่าสนใจว่าท้ายที่สุดแล้วประเด็นนี้จะจบลงอย่างไร 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X