จากเหตุการณ์ที่โค้ชและทีมนักฟุตบอลเยาวชน ‘หมูป่าอะคาเดมีแม่สาย’ จำนวนทั้งหมด 13 คนที่สูญหายไปขณะท่องเที่ยวบริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในวนอุทยานขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ขณะนี้ทีมกู้ภัยต่างๆ ทั้งหน่วยซีล เจ้าหน้าที่ไทย ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่างเริ่มปฏิบัติการพาน้องกลับบ้าน ค้นหาผู้สูญหายทั้ง 13 คนอย่างสุดความสามารถ รวมถึงผู้คนในโลกออนไลน์ ก็ต่างส่งกำลังใจให้ทุกคนกลับออกมาได้อย่างปลอดภัย แม้เวลาจะผ่านไปนานกว่า 6 วันแล้วก็ตาม
ในโอกาสนี้ THE STANDARD จะพาคุณย้อนมองเหตุการณ์สำคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ภายในถ้ำ และใต้พื้นดินที่ประสบผลสำเร็จทั่วโลก
ทีมนักสำรวจ 15 คน เอาชีวิตรอดจากถ้ำที่ได้ชื่อว่า ลึกที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แอนดรูว์ ไวท์ (Andrew Wight) คริส และโซเนีย บราวน์ คือหนึ่งในทีมนักสำรวจทั้ง 15 คนที่รอดชีวิต ขณะสำรวจเส้นทางภายในถ้ำ Pannikin Plains Cave ซึ่งเป็นหนึ่งในถ้ำที่ได้ชื่อว่ามีความลึกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย เมื่อปี 1988 ความลึกของถ้ำแห่งนี้ท้าทายเหล่านักสำรวจไม่น้อยไปกว่าการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์
ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่การสำรวจจะแล้วเสร็จ พายุฝนพัดกระหน่ำลงมาอย่างหนัก ทำให้มวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลทะลักเข้าไปยังพื้นที่ภายในถ้ำ เพดานและผนังถ้ำบางส่วนพังทลายลงมา
นักสำรวจทั้ง 15 ชีวิตต่างติดอยู่ภายใน ก่อนที่พวกเขาจะตั้งสติ ว่ายน้ำ ปีนป่ายโขดหิด หาทางขอความช่วยเหลือและออกมาจากถ้ำดังกล่าวได้ในที่สุด หวิดดับชีวิตภายในถ้ำที่ลึกที่สุดแห่งนี้
เหตุการณ์เอาชีวิตรอดในครั้งนี้ เมื่อหลายทศวรรษก่อน เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Avatar ของผู้กำกับหนังชื่อดังอย่าง เจมส์ แคเมรอน รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง Sanctum ที่ไวท์ทำหน้าที่เป็นทีมเขียนบทและผู้กำกับร่วมเองด้วย
คนงาน 33 ชีวิต ติดอยู่ในเหมืองใต้พื้นดินของชิลีนาน 69 วัน
กลายเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์หน้าประวัติศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยใต้พื้นดิน จนต้องนำเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The 33 เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา โดยสร้างอิงจากเหตุการณ์เหมืองโกปิเอโป้ (Copiapó) ถล่มลงมา เป็นเหตุให้มีคนงานชาย 33 คนติดอยู่ใต้พื้นดินเบื้องล่างราว 700 เมตร
ทีมช่วยเหลือจะต้องหาทางเข้าไปถึงพื้นที่ที่คนงานอยู่ โดยไม่ให้เหมืองถล่มทับลงมาอีกเป็นอันขาด ซึ่งพวกเขาสื่อสารกันด้วยข้อความที่ถูกเขียนลงแผ่นกระดาษและถูกหย่อนลงไปเบื้องล่าง ท้ายที่สุดคนงานทั้ง 33 คนรอดชีวิตหลังติดอยู่ใต้ดินนานกว่า 69 วัน ด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ทางกองทัพชิลีและองค์การนาซาร่วมกันออกแบบ
นักปีนเขาติดอยู่ในถ้ำน้ำแข็งในรัฐวอชิงตัน หลังกองหิมะถล่ม
ช่วงเดือนธันวาคม ปี 2014 นักปีนเขาชาวอเมริกัน 2 คน หาทางเอาตัวรอด หลังจากติดอยู่ภายในถ้ำน้ำแห่งหนึ่งที่ Big Four Ice Cavesในรัฐวอชิงตัน ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดฮิตของเหล่าบรรดาคนรักการปีนเขาตัวยง พวกเขาติดอยู่ภายในถ้ำนานหลายชั่วโมง โดยไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
ทางการรัฐวอชิงตันเผยว่า ตลอดเส้นทางการปีนเขามีป้ายและสัญลักษณ์เตือนบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลาย ห้ามเข้าไปในถ้ำน้ำแข็งโดยเด็ดขาด ซึ่งอาจเกิดเหตุการณ์ผนังถ้ำพังถล่มลงมาได้ เนื่องจากปริมาณหิมะจำนวนมหาศาลที่ตกลงมากองรวมกันอยู่ด้านบนเชิงเขา และอาจจะนำไปสู่การสูญเสียได้ ซึ่งไม่ใช่นักท่องเที่ยวหรือนักปีนเขาทุกคนที่ติดอยู่ภายในถ้ำจะโชคดีและรอดชีวิตกลับมาได้ ดังนั้นการปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อแนะนำจึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
นักประดาน้ำชาวสเปนติดอยู่ในถ้ำใต้น้ำ แทบไม่มีออกซิเจน เกือบตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง
กลางเดือนเมษายน ปี 2017 ซิสโก้ กราเซีย (Xisco Gracia) คุณครูภูมิศาสตร์ที่มีประสบการณ์ด้านการสำรวจถ้ำ พร้อมบัดดี้ดำน้ำอย่าง กีเย็ม มาสกาโร (Guillem Mascaró) ตัดสินใจสำรวจถ้ำใต้น้ำขนาดเล็กแห่งหนึ่ง บริเวณเกาะมายอร์ก้า (Mallorca) เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสเปน บ้านเกิดของนักเทนนิสมือวางอันดับ 1 ของโลกอย่าง ราฟาเอล นาดาล
เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หลังทั้งคู่คำนวณปริมาณการใช้ก๊าซในถังออกซิเจนผิดพลาด และทำให้ก๊าซที่จะใช้ในการเดินทางกลับมีไม่เพียงพอ แม้ว่าพวกเขาจะว่ายน้ำไปถึงช่องว่างเก็บอากาศเหนือน้ำ (Air Pocket) ที่พอจะต่อลมหายใจไปได้อีกสักระยะ แต่ปริมาณออกซิเจนบริเวณนั้นมีจำกัดและเพียงพอสำหรับแค่คนเดียว นายกราเซียจึงตัดสินใจมอบถังก๊าซออกซิเจนที่เหลือให้กับเพื่อน เพื่อกลับออกไปขอความช่วยเหลือ
นายกราเซียเริ่มมีอาการเหนื่อยล้า สายตาพร่ามัว เขาเกือบตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองแต่ก็ยังพอดึงสติกลับมาได้ ในที่สุดทีมกู้ภัยก็สามารถให้ความช่วยเหลือเขาได้สำเร็จ แม้จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากความขุ่นของกระแสน้ำ เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที หลังจากติดอยู่ภายในถ้ำใต้น้ำนานกว่า 60 ชั่วโมง
นักศึกษาปีที่ 1 แดนมะกัน ติดอยู่ในถ้ำนานเกือบ 3 วัน กินแมลงและน้ำหยดตามผนังประทังชีวิต
เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน ปี 2017 ลูคัส คาวาร์ (Lukas Cavar) นักศึกษาปีที่ 1 วัยเพียง 19 ปีของมหาวิทยาลัยอินเดียนา สหรัฐอเมริกา รอดชีวิตหลังจากไปทัศนศึกษากับชมรมสำรวจถ้ำ แต่เกิดพลัดหลงและติดอยู่ภายในถ้ำแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของมหาวิทยาลัย เป็นระยะเวลานานเกือบ 3 วัน
ลูคัสประทังชีวิตด้วยการเลียกินน้ำหยดตามผนังถ้ำ แมลงและเศษแครกเกอร์ที่ตนนำติดตัวมา แม้จะยังพอมีแสงสว่างจากหน้าจอโทรศัพท์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีสัญญาณที่จะใช้สื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือ เขาใช้เวลาอยู่หลายชั่วโมงกว่าจะพบทางเข้าปากถ้ำ แต่ทางเข้าออกกลับถูกปิดเอาไว้ ลูคัสตะโกนร้องขอความช่วยเหลืออยู่ราว 6-8 ชั่วโมง ในสภาพที่อ่อนแรง ด้วยความหวังที่ว่า จะมีใครในละแวกนั้นได้ยิน
พ่อแม่ของลูคัสตัดสินใจแจ้งเรื่องการหายตัวไปของลูกชายกับทางมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เขาได้รับการช่วยเหลือและถูกพาส่งกลับบ้านอย่างปลอดภัย
แม้เหตุการณ์ที่หยิบยกมาอาจแตกต่างกัน และมีบางรายละเอียดที่ไม่ตรงกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในถ้ำหลวง แต่สิ่งที่ทุกเหตุการณ์มีเหมือนกันคือ ‘ความหวัง’ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดสำหรับทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้รอคอยการช่วยเหลือ
อ้างอิง:
- www.cavediving.net.au/index.php/articles/204-pannikin-plains-cave-the-amazing-escape
- www.adelaidenow.com.au/ipad/cave-divers-in-deep-trouble-underground/news-story/6d1a588f3d58ff48daa93e6276f451a5?sv=f2511d5c363b50d9bf4282b54049914f
- listverse.com/2017/01/20/10-true-horror-stories-of-people-trapped-in-caves
- www.wta.org/news/signpost/ice-caves-are-dangerous
- komonews.com/news/local/2-safe-following-rock-slide-near-big-four-ice-caves
- www.straitstimes.com/world/europe/spanish-diver-survives-60-hours-in-air-bubble-after-equipment-malfunction
- nypost.com/2017/09/22/college-student-gets-trapped-in-cave-for-nearly-3-days
- www.idsnews.com/article/2017/09/iu-freshman-found-after-surviving-three-days-in-a-cave
- www.bbc.com/news/world-us-canada-41371549