พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการส่งมอบยานเกราะลำเลียงพลสไตรเกอร์ (Stryker M1126) ว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ส่งถึงประเทศไทยจำนวน 2 คัน
ทั้งนี้ตามสัญญาจะมีการส่งมอบให้ครบ 60 คันภายในสิ้นปีนี้ และเป็นไปตามการจัดหาในปีงบประมาณ 2562 ที่กองทัพบกได้ซื้อจำนวน 37 คัน และสหรัฐฯ ให้เปล่าอีก 23 คัน
สำหรับปีงบประมาณหน้า คาดว่ามีงบประมาณพอที่จะจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 50 คัน และสหรัฐฯ อาจให้เปล่าอีก 30 คัน จะทำให้กองทัพบกไทยจัดตั้ง ‘กรมยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์’ ที่มียานเกราะบรรจุในอัตรากว่า 100 คัน
พลเอก อภิรัชต์ กล่าวว่ายานเกราะนี้มีหลายรุ่น เช่น M1126, M1127, M1129 โดย 60 คันแรกจะเป็น M1126 และ M1127 คละกัน มีการติดเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มม. โดยแต่ละรุ่นออกแบบมาใช้ในภารกิจต่างกัน ขึ้นอยู่กับอัตราการจัดของหน่วย โดยราคาแต่ละรุ่นไม่แตกต่างกันมากนัก
ระหว่างนี้กำลังพล 30 นายของกองทัพบกกำลังเดินทางไปฝึกที่สหรัฐฯ และสหรัฐฯ เองก็ได้ส่งช่างซ่อมมาสนับสนุนเราด้วย เพราะถือว่ายังเป็นยุทโธปกรณ์ที่สหรัฐฯ ใช้อยู่ ซึ่งจะแตกต่างจากการซื้ออาวุธในโครงการความช่วยเหลือทางด้านทหารของสหรัฐฯ หรือระบบ FMS ที่ผ่านมา เช่น รถถังบางประเภทที่ไม่ได้ใช้งาน หรือโอนไปให้หน่วย National Guard ใช้ก็จะจำหน่ายให้ประเทศอื่นได้
แต่สำหรับสไตรเกอร์แล้ว ทางผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิกยืนยันว่าเป็นยานเกราะที่สหรัฐฯ ใช้ประจำการอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปีแน่นอน เพราะฉะนั้นจะดูแลเรื่องอะไหล่เป็นพิเศษ
ส่วนที่มีข้อมูลทางเว็บไซต์ว่าสไตรเกอร์เป็นยานเกราะเก่ามือสองนั้น พลเอก อภิรัชต์ กล่าวว่าหลายสื่อพยายามไปหาข้อมูล แต่อยากให้เข้าใจว่ายานเกราะที่กองทัพบกไทยซื้อเป็นยานเกราะที่ถูกปรับปรุงซ่อมบำรุงใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการซื้อตามสภาพ บางคันกลับจากภารกิจในอิรัก อัฟกานิสถาน แล้วนำมาเปลี่ยนชิ้นส่วนที่สำคัญทุกอย่างให้ ทั้งระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และยาง เขาใส่ใจเพราะเป็นรถที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ประจำการอยู่
ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวด้วยว่า ถือได้ว่ากองทัพบกสหรัฐฯ โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนในการที่รัฐบาลที่มีการเลือกตั้งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีผู้นำสหรัฐฯ หลายระดับให้ความสนใจและให้การสนับสนุน
ส่วนการสนับสนุนด้านการทหารเป็นไปตามโครงการ FMS และทุนการศึกษา IMET ให้กำลังพลในกองทัพ การกลับมาของสหรัฐฯ ครั้งนี้คงมีความช่วยเหลือต่างๆ อีกเยอะ โดยวันที่ 7-8 กันยายนนี้จะมีการประชุมผู้บัญชาการทหารบกภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกันระหว่างกองทัพบกไทยและสหรัฐฯ จะมีผู้บัญชาการทหารบก 32 ประเทศร่วมปรึกษาหารือ ทั้งนี้เป็นไปตามแผนงานอินโดแปซิฟิกของกองทัพบกสหรัฐฯ
เมื่อถามว่าจะสะท้อนให้สาธารณชนให้รับทราบว่าทำไมต้องซื้ออาวุธเยอะขนาดนี้ ทั้งที่ไทยไม่มีภัยคุกคามเรื่องการสู้รบแล้ว
ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวว่า “เดี๋ยวพูดไปก็ไปเข้าเรื่องการเมืองอีก ไม่เป็นไร รอให้มาเยอะๆ ก่อน”
ภาพ: U.S. Embassy Bangkok
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์