ค่าเงินยูโรเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.1067 ดอลลาร์ต่อยูโร สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะเดียวกันค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นด้วยเช่นกัน โดยขยับมาอยู่ที่ประมาณ 37.6 บาทต่อยูโร เพิ่มขึ้นจากประมาณ 35.5 บาทต่อยูโรเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2022
การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานหลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน ส่งผลให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดภาวะ Recession ในยุโรป แต่ด้วยอากาศที่อุ่นกว่าปกติในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมาและการกลับมาเปิดประเทศของจีน ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวกลับมา
แอทานาเซียส แวมวากิดิส หัวหน้ากลยุทธ์อัตราแลกเปลี่ยนกลุ่มประเทศ G10 ของ Bank of America กล่าวว่า “ปีที่แล้วถือเป็น Perfect Storm สำหรับยุโรป ทั้งราคาพลังงานสูง, สงครามในยูเครน, นโยบาย Zoro-COVID ของจีน และ ECB ยังขึ้นดอกเบี้ยช้า แต่ปัจจุบันราคาพลังงานลดลง จีนฟื้นตัว และ ECB กลับมาขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่า Fed”
นอกจากนี้ข้อมูลจากทางการระบุว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเขตยุโรปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งมากที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้า
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปมาพร้อมการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนมีนาคมปีก่อน และขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง 8 ครั้งการประชุม โดยตลาดคาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed อีกเพียง 0.25% ก่อนที่จะกลับมาลดดอกเบี้ยอีกครั้ง
ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตอบสนองต่อเงินเฟ้อช้ากว่าฝั่งของสหรัฐฯ โดย ECB เริ่มขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อน ขณะที่นักลงทุนคาดว่าจะเห็น ECB ขึ้นดอกเบี้ยจากราว 3% สู่ระดับ 3.75% ในปีนี้
ด้านเงินเฟ้อในยุโรปลดลงสู่ระดับ 6.9% เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ต่ำสุดในรอบปี แต่เงินเฟ้อที่ไม่รวมพลังงานและอาหารยังคงเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดใหม่ที่ 5.7%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
อ้างอิง: