“เครียดงาน” นี่คงไม่ใช่คำพูดใหม่ที่คุณเคยได้ยิน โดยเฉพาะหลังจากกรำงานหนักมาทั้งสัปดาห์ แต่ถึงกระนั้น การศึกษาชิ้นใหม่ตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าความเครียดสูงที่เกิดจากการทำงานนั้นเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเมื่อมาถึงเรื่องปัญหาทางจิต เช่น ความวิตกกังวล หรือโรคซึมเศร้า
บทความที่จัดทำโดย Black Dog Institute องค์กรสนับสนุน ป้องกัน และช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตเวชของออสเตรเลีย ที่ตีพิมพ์ใน The Lancet Psychiatry เว็บไซต์ด้านจิตเวช เผยถึงผลการศึกษาที่พบว่าเราสามารถป้องกันการเพิ่มผู้ป่วยทางจิตเพิ่มขึ้นได้ราวๆ 14% เมื่อความเครียดจากการทำงานลดลง
นักวิจัยให้คำจำกัดความของ ‘ความเครียดจากการทำงาน’ โดยใช้ความเร็วของงานที่ทำ ความต้องการที่ขัดแย้งกัน รวมเข้ากับการไม่สามารถควบคุมหน้าที่นั้นๆ ได้ หรือมีหน้าที่ในการตัดสินใจต่างๆ ที่น้อย
“ในออสเตรเลีย การป่วยทางจิตนำไปสู่ต้นตอของการลาป่วยและการไม่สามารถทำงานได้ในระยะยาว โดยสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจถึง 1.1 หมื่นล้านเหรียญออสเตรเลีย (ราวๆ 2.65 แสนล้านบาทต่อปี)” รองศาสตราจารย์ซามูเอล ฮาร์วีย์ แห่ง Black Dog Institute เผยว่า “เราใช้ข้อมูลที่เก็บสะสมมากว่า 50 ปีในการทำการวิจัยในหลายๆ ด้าน เพื่อหาว่าข้อกำหนดด้านการทำงานใดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของลูกจ้าง”
การจัดทำการศึกษานี้หวังว่าจะเป็นประโยชน์และเพื่อเตือนใจนายจ้างว่าผลงานกับสภาพจิตใจของลูกจ้างนั้นมีความเกี่ยวโยงกัน “เป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ว่าสำหรับคนส่วนมากแล้ว การทำงานเป็นการส่งผลดีต่อสภาพจิตใจ แต่ผลการศึกษานี้ช่วยมอบหลักฐานที่ชัดเจนว่าองค์กรยังควรพัฒนาให้คนทำงานมีความสุขด้วยการปรับสภาพแวดล้อมการทำงานให้ดียิ่งขึ้นต่อสภาพจิตใจ”
การศึกษานี้จัดทำด้วยการให้กลุ่มคนทำงานอายุ 45 ปี ตอบแบบสอบถามที่ทดสอบถึงอำนาจการตัดสินใจต่างๆ พื้นที่ในการได้แสดงความสามารถ รวมไปถึงความเร่งรีบของงาน เนื้องานที่เคร่งเครียด ไปจนถึงความต้องการที่ขัดแย้งกันในที่ทำงาน
ขณะที่กลุ่มคนในวัย 50 ปี ทำแบบสอบถามมาตรฐาน Malaise Inventory ซึ่งเป็นแบบสอบถามทางจิตวิทยาที่ใช้ในการสำรวจสุขภาพทั่วไปถึงสภาพทางจิต โดยพบว่ากลุ่มหลังที่มีประสบการณ์ด้านการทำงานยาวนานกว่ามีอำนาจการตัดสินใจน้อยกว่าและมีความเครียดที่สูงกว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีอาการป่วยทางจิตในวัย 50 ปี
การศึกษานี้สรุปได้ว่าความเครียดที่สั่งสมจากการทำงานส่งผลต่อความผิดปกติทางจิตในอนาคตในวัยกลางคนได้ ผลงานวิจัยนี้ยังชี้อีกว่าการแก้ปัญหานั้นสามารถทำได้โดยลดปัจจัยความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดปัญหาการป่วยทางจิตได้
ดังนั้นทางที่ดีให้หมั่นสังเกตตัวเองบ่อยๆ ว่างานที่ทำอยู่เครียดมากน้อยแค่ไหน เครียดนานเกินไปหรือยัง และมีวิธีจัดการอย่างไรกับความเครียดนั้นๆ จะได้รักษาสุขภาพจิตดีๆ กันไปนานๆ
อ่านเรื่อง ไม่หวั่นแม้วันหมดแรงหมดใจ เพราะนี่คือเทคนิคต่อสู้กับภาวะ Burnout Syndrome ที่ได้ผลที่สุดได้ที่นี่
อ้างอิง: