×

Street Fighter ll ต้นแบบและตำนานเกมต่อสู้แบบ 1 ต่อ 1

19.10.2018
  • LOADING...

เลิกเรียนคาบสุดท้ายเตรียมแลกเหรียญไว้ให้พร้อม! จากนั้นรีบบึ่งไปเจอกันที่โซนตู้เกม เพื่อวัดฝีมือและขิงใส่กันในเกมต่อสู้แบบ 1 ต่อ 1 ที่ฮิตมากที่สุดแห่งยุค   

 

Street Fighter ll คือเกมต่อสู้ระดับโคตรฮิตของเด็กผู้ชายยุค 90s อย่างแท้จริง บรรยากาศหลังเลิกเรียนของเด็กนักเรียนวัยมัธยมต้นและมัธยมปลายล้วนแล้วแต่มีจุดหมายเดียวกันคือที่ ‘เกมอาเขต’ (Arcade) ภายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

 

ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นก่อนจะกลายเป็นตำนาน เกม Street Fighter (ภาคแรก) ถูกปล่อยออกมาในปี 1987 เมื่อ Capcom ที่ในขณะนั้นยังเป็นเพียงบริษัทเกมขนาดเล็ก ได้พัฒนาเกมต่อสู้โดยเน้นรูปแบบ 1 ต่อ 1 ออกสู่ตลาด Arcade Game (หรือที่เด็กไทยเรียกติดปากว่า ‘เกมตู้’) ขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น

 

โดยรูปแบบการเล่นของ Street Fighter ในขณะนั้นได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือการพัฒนาให้ Arcade Game มีปุ่มการต่อสู้ถึง 6 ปุ่ม ประกอบด้วยปุ่ม ‘ต่อย’ และ ‘เตะ’ ที่แบ่งระดับหนัก กลาง และเบา จากเดิมที่เคยมีเพียง 2 ปุ่ม ซึ่งการมีปุ่มกดเพิ่มเติมขึ้นมานี่เอง ทำให้ผู้เล่นเกมซึ่งต้องสวมคาแรกเตอร์เป็นตัวละครหลักคือ ริว (Ryu) (และ เคน (Ken) เมื่อเลือกโหมดเล่น 2 คน) ยังสามารถใช้ท่าไม้ตายพิเศษที่มีพลังทำลายหนักหน่วงขึ้นกว่าเดิมได้อีก และนั่นเป็นครั้งแรกที่คอเกมจากทั่วโลกได้รู้จักกับท่าไม้ตายสุดฮิตอย่าง Hadouken (ปล่อยพลังแสง),  Shoryuken (ต่อยเสยขึ้นสูง) และ Tatsumaki Senpuu Kyaku (ลูกเตะพายุหมุน)

 

หากแต่ Street Fighter (ภาคแรก) นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและปฐมบทแห่งตำนาน เพราะในอีก 4 ปีต่อมา (ปี 1991) Capcom ก็ได้ฤกษ์เปิดตัว Street Fighter II หรือชื่อเต็มว่า Street Fighter II: The World Warrior โดยเป็นการพัฒนาเพื่อต่อยอดไอเดียเดิมจนออกมาดีกว่าในทุกๆ ด้านทั้งงานกราฟิก การดีไซน์ตัวละคร ฉากการต่อสู้ การออกแบบท่าทางการต่อสู้ ฯลฯ

 

ไอเดียหลายต่อหลายอย่างใน Street Fighter II คือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน อาทิ การออกแบบให้ผู้เล่นสามารถเลือกตัวละคร (เพื่อใช้ต่อสู้) ของตัวเองได้มากถึง 8 ตัว โดยทั้ง 8 ยังมีรูปแบบการโจมตี ไปจนถึงท่าไม้ตายที่แตกต่างกันออกไป ประกอบไปด้วย ริว (Ryu), เคน (Ken), ชุนลี (Chun Li), บลังก้า (Blanka), ไกลด์ (Guild), อี. ฮอนดะ (E. Honda), ดัลซิม (Dhalsim) และซานกีฟ (Zangief)

 

และหลังต่อสู้จนชนะครบทั้ง 8 ตัว ผู้เล่นยังจะต้องผ่านด่าน Boss อีก 4 ตัว (ซึ่งผู้เล่นไม่สามารถบังคับได้) คือ บัลร็อก (Balrog), เวก้า (Vega), ซากัต (Sagat) และ เอ็ม. ไบสัน (M. Bison) (ชื่อตัวละครในด้านบอส มีการปรับเปลี่ยนออกเป็น 2 เวอร์ชัน เนื่องจากปัญหาด้านลิขสิทธิ์ในบางประเทศ)

 

แต่ในฐานะผู้เล่น อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Street Fighter II เป็นเกมการต่อสู้ที่โดดเด่น นั่นคือการวางพล็อตให้แต่ละตัวละครมีเรื่องราว มีแรงจูงใจในการต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ ทำให้ ‘ตัวละครหลักทั้ง 8 ตัว’ มี ‘ฉากจบ’ ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากจะทำให้เกมดูน่าสนใจ ชวนติดตาม แต่ยังส่งผลให้นักเล่นเกม สามารถจะสนุกกับการเล่น โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับตัวละครใดเพียงตัวละครหนึ่ง

 

และนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1991 Street Fighter ll ก็กลายเป็นราชาและตำนานแห่งเกมต่อสู้แบบหนึ่งต่อหนึ่งที่ไม่มีใครโค่นล้มลงได้ โดยเกมยังถูกพัฒนาต่อยอดความสำเร็จออกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปี อาทิ

  • Street Fighter II′: Champion Edition, Super Street Fighter II Turbo
  • Street Fighter Alpha: Warriors’ Dreams (1995), Street Fighter Alpha 2 (1996), Street Fighter Alpha 3 (1998), Street Fighter III (1997)
  • Street Fighter IV (2008) และ Street Fighter V ในปี 2016

 

สำคัญที่สุด ความโด่งดังของ Street Fighter II นั้นไม่ได้หยุดลงเฉพาะแค่ที่ตัวเกม แต่มันยังถ่ายทอดไปสู่งานสร้างสรรค์แทบทั้งแขนง ไร่เรียงตั้งแต่ มังงะ ซีรีส์ และภาพยนตร์แอนิเมชัน ไปจนถึงการถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ Live Action ฉบับคนแสดงอีกหลายครั้ง หลายเวอร์ชัน วันนี้แม้จะผ่านหลักไมค์ 30 ปีมาแล้ว แต่เชื่อเถอะ! ว่า Street Fighter ll จะไม่ปิดฉากตำนานของตัวเองลงง่ายๆ อย่างแน่นอน

 

ขอบคุณภาพจาก: www.nationalarcadehire.com/astral-fighter-arcade-machine-86-p.asp

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising