×

‘เพราะบ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย’ แคมเปญยุติความรุนแรงสตรี เผยทัศนคติ ‘ชายเป็นใหญ่’

21.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ปลุกกระแส #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง ในโอกาสวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ที่ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี
  • มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเผย ทัศนคติแบบ ‘ชายเป็นใหญ่’ มักมีปัจจัยกระตุ้น นั่นคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด
  • ตัวเลขสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2559 มีสูงถึง 466 ข่าว โดยมักเป็นกรณีสามีทำร้ายภรรยา

     ท่ามกลางกระแสปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นที่พูดถึงอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ ยังมีปัญหาความรุนแรงต่อสตรี โดยเฉพาะที่เกิดในครัวเรือนที่ยังคงน่าเป็นห่วงในสังคมไทย โดยวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีตรงกับ วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) และนับเป็นเวลากว่า 36 ปีแล้วที่ทั่วโลกเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว จนเกิดการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีขึ้นอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2524 แต่คำถามคือ เราก้าวถึงไหนกันแล้ว?

“กว่าร้อยละ 60 ของผู้ชายเคยกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยพวกเขาคิดว่าเป็นวิถีชีวิต”

 

     มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล เผยถึงตัวเลขสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2559 ผ่านการเก็บข่าวตลอดปีจากหนังสือพิมพ์จำนวน 13 ฉบับคือ เดลินิวส์, ไทยรัฐ, ข่าวสด, คม ชัด ลึก, มติชน, แนวหน้า, ไทยโพสต์, กรุงเทพธุรกิจ, บ้านเมือง, สยามรัฐ, พิมพ์ไทย, ผู้จัดการรายวัน และโพสต์ทูเดย์ และพบการกระทำความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว

     โดยมักมีกรณีที่สามีทำร้ายภรรยาถึงร้อยละ 71.8 และยังพบว่าปัจจัยของการทำร้ายมาจากฤทธิ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 33.3 ข่าวการฆาตกรรมอยู่ที่ร้อยละ 21.2 และข่าวการทำร้ายร่างกายอยู่ที่ร้อยละ 14.8 โดยสาเหตุของการฆาตกรรมที่สามีเป็นคนก่อมักเกิดจากความหึงหวง หวาดระแวง หรือฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี โดยนับเป็นร้อยละ 78.6

     มูลนิธิชายหญิงก้าวไกลยังพบว่าต้นตอของปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงเป็นฝ่ายถูกกระทำนั้นมักเกิดจากทัศนคติว่า ‘ผู้ชายเป็นใหญ่’ จึงเกิดแนวคิดที่มองภรรยาหรือคู่ครองเป็นสมบัติส่วนตัว โดยถืออภิสิทธิ์ในการปฏิบัติกับภรรยาได้ตามใจชอบ

ปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหาภายในครอบครัว ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง แต่เป็นปัญหาสังคม

 

     ถึงกระนั้น ความคิดนี้หาใช่ทัศนคติของเพศชายแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะยังฝังรากลึกในความคิดของผู้หญิง ทำให้เพศหญิงที่ถูกทำร้ายไม่กล้าลุกขึ้นสู้เพื่อสิทธิและความปลอดภัยของตัวเอง โดยบ้างมองว่า ‘เป็นเรื่องของสามีภรรยา’ ที่ต้องจำใจยอมรับ กระทั่งไม่กล้าเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ทำให้ทัศนคตินี้นำไปสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่อาจปลูกฝังต่อไปยังรุ่นลูกจนเกิดเป็นปมปัญหาเมื่อโตขึ้นในที่สุด

     ทั้งนี้จุดประสงค์ของการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีคือการถอนรากถอนโคนระดับจิตสำนึก และการปฏิรูปความคิดและทัศนคติของคนที่มีต่อประเด็นปัญหาเรื่องนี้ว่าปัญหาเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ใช่ปัญหาภายในครอบครัว ไม่ใช่ความผิดของผู้หญิง แต่เป็นปัญหาสังคมที่ฝังลึกมาจากความคิดของคนยุคก่อน ซึ่งไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประสบปัญหานี้ โดยประเทศอย่างอินเดีย ตลอดจนแถบแอฟริกา ฯลฯ ก็มีอัตราการทำร้ายในครัวเรือนสูงเช่นกัน

     ดร.พุมเซเล่ มลัมโบ่-จนุคคา รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการ UN Women กล่าวขณะมาเยือนประเทศไทยเมื่อปี 2559 ว่า “กว่าร้อยละ 60 ของผู้ชายเคยกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยพวกเขาคิดว่าเป็นวิถีชีวิต” และเสริมอีกว่า “ทุกวันนี้เรายอมรับความรุนแรงต่อผู้หญิงและมีอคติต่อผู้หญิง เป็นเรื่องเศร้าที่นี่เป็นความคิดของทั้งผู้ชายและผู้หญิง และเพราะผู้นำชุมชนมักพูดว่าเราแตะต้องอะไรกับวัฒนธรรมไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วเราสามารถทำได้ เพราะวัฒนธรรมไม่ใช่สิ่งตายตัว จึงมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราก็สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมได้เช่นกัน”

     หลังจากการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 36 ปี ปัจจุบันมีจำนวนประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นจาก 7 ประเทศเป็น 127 ประเทศ จากทั้งหมด 173 ประเทศทั่วโลก ภายในระยะเวลา 25 ปี ถึงกระนั้นกฎหมายคุ้มครองแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถกำจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงได้

     เพื่อปลุกจิตสำนึกถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมอันเกิดจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ และปลุกความคิดสำหรับผู้หญิงให้รู้จักความเท่าเทียม เคารพซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ และให้รู้จักกล้าที่จะลุกขึ้นมาสื่อสารกับคนรอบข้างและสังคม กระทั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งตรงกับวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล มูลนิธิชายหญิงก้าวไกล จับมือกับ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย จัดทำภาพยนตร์โฆษณาแคมเปญสะท้อนสังคมไทยภายใต้แนวคิด ‘บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย’ โดยใช้มวยไทยซึ่งเป็นกีฬายอดฮิตของชายไทยเป็นสื่อกลาง และปลุกกระแส #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง ชวนฉุกคิดถึงถึงกติกาบนสังเวียนมวยที่ต้องจบในสังเวียน ไม่นำกลับไปที่ใช้บ้าน และสื่อว่าภรรยาหาใช่กระสอบทราย โดยในแคมเปญนำเสนอการรณรงค์จริงของผู้เคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้เวทีมวยสยามอ้อมน้อยในการถ่ายทำ

     สามารถชมภาพยนตร์โฆษณาชุด ‘บ้าน…ไม่ใช่เวทีมวย’ ได้ที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

 
 

     และบุคคลทั่วไปสามารถร่วมรณรงค์ได้โดยการถ่ายภาพชูป้าย ‘บ้าน….ไม่ใช่เวทีมวย ผู้ชายไม่ทําร้ายผู้หญิง’ เพื่อโพสต์ลงโซเชียลมีเดียในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ พร้อมติดแฮชแท็ก #ผู้ชายไม่ทําร้ายผู้หญิง

     เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นปัญหาระดับมนุษยชาติ และทุกคนมีส่วนในการหยุดปัญหาความรุนแรงได้เช่นกัน

 

อ้างอิง:

FYI
  • ในปี 2559 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยตัวเลขจากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศในรอบปี 2558 พบว่ามีข่าวความรุนแรงทางเพศ ทั้งหมด 306 ข่าว โดยข่าวที่มีมากที่สุดคือข่าวข่มขืนรุมโทรม 224 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 73.2 ขณะที่จังหวัดหรือพื้นที่ที่ใช้ก่อเหตุมากที่สุดคือกรุงเทพฯ รองลงมาคือชลบุรี และสมุทรปราการ
  • ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นศูนย์กลางความรุนแรง จากอัตราเฉลี่ยทั่วโลก มีผู้หญิงอย่างน้อย 1 ใน 3 คนประสบปัญหาความรุนแรง และความรุนแรงต่อผู้หญิงเกิดขึ้นที่บ้าน และร้อยละ 70 ของความรุนแรงที่บ้านเกิดจากสามีหรือคนรัก
  • ผลสำรวจชี้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงทั่วโลก คิดเป็นราวร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของทั้งโลกหรือราวๆ 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมาจากภาระค่าใช้จ่ายในการเยียวยาผู้ถูกกระทำ เช่น สวัสดิการสังคม กระบวนการยุติธรรม บริการที่ปรึกษาและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และปัญหาใหญ่คือการสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศที่ต้องสูญไป เพราะผู้หญิงไม่มีโอกาสในการศึกษา การจ้างงาน และการใช้ชีวิตเนื่องจากปัญหาความรุนแรง
  • สายด่วนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร 0 2513 2889
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X