พ่อแม่ยุคนี้มีค่านิยม ‘ไม่ตีลูก’ เพราะศาสตร์การเลี้ยงลูกยุคใหม่แนะนำว่า การเลี้ยงเชิงบวกให้ผลดีกว่าการกำราบให้หลาบจำ
ขณะเดียวกัน พ่อแม่ในยุคโลกอยู่ยาก หลายคนกลับทุบตีลูกด้วยคำพูดโดยไม่รู้ตัว บ่น ด่า ดราม่า เพราะอารมณ์ชั่ววูบก็มี บางทีก็ใช้อารมณ์จนเกินเหตุ
การสื่อสารที่ควรจะเป็น ‘สะพาน’ สร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว กลับกลายร่างเป็น ‘ไม้เรียว’ ที่สร้างบาดแผลในใจ
ตำราการเลี้ยงลูกไม่ว่าเล่มไหน ล้วนพูดตรงกันว่า เด็ก…โดยเฉพาะเด็กเล็กในช่วงวัย 2-6 ปี ที่กำลังเรียนรู้และจดจำได้ดี จะชอบเลียนแบบคนใกล้ตัว ยิ่งพฤติกรรมที่เห็นเป็นประจำจะส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกมาก มีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวต่อไปในช่วงวัยที่โตขึ้น
ลูกจึงเป็น ‘ภาพสะท้อน’ ของพ่อแม่ เช่นเดียวกับที่พ่อแม่เป็น ‘ต้นแบบ’ ของลูก
คำถามคือ พ่อแม่จะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ทุบตีลูกด้วยคำพูด และเป็นต้นแบบการสื่อสารที่ดีของลูกได้อย่างไร
คำตอบกลับไปพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการสื่อสาร นั่นคือการ ‘ฟัง’
พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน หนึ่งในสปีกเกอร์งาน Alpha Skills Summit 2025 ที่จะมาสอนวิชา Effective Communication เพื่อสื่อสารให้เข้าถึง (ใจ) ลูก กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการสื่อสารที่ดีมาจากการฟัง ส่วนใครจะสื่อสารได้ดีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าเราฟังได้ ‘ลึก’ ในระดับใด
การ ‘ฟัง’ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ
- ฟังระดับสมอง 🧠 แค่ได้ยิน และมีปฏิกิริยาตอบกลับแบบไม่คิด ซึ่งจะนำมาสู่การตอบเพียงผ่านๆ หรือมีท่าทีตอบรับแบบเออๆ ออๆ โดยไม่ได้ใส่ใจ
- ฟังระดับความคิด 💭 นำสิ่งที่ได้ยินมาไตร่ตรอง ตั้งคำถาม ทำไม เพราะอะไร ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น หรือควรจะเป็นแบบไหน ซึ่งจะนำไปสู่การสั่งสอน
- ฟังระดับหัวใจ ❤️ นอกจากสิ่งที่ได้ยิน จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึก รู้ว่าผู้พูดกำลังรู้สึกอะไร เวลาสื่อสารก็จะนึกถึงใจของอีกฝ่าย
- ฟังลึกถึงข้างใน (Insight) 🎯 มากกว่ารู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอะไร คือรู้ว่าลึกๆ ข้างในใจอีกฝ่ายต้องการอะไร ซึ่งช่วยให้สื่อสารได้ตรงใจ และช่วยคลี่คลายปมปัญหาหรือความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ตรงจุด
คนที่เป็นพ่อแม่ที่ฟังระดับสมอง การสื่อสารระหว่างเรากับลูกจะแห้งแล้งไร้ความหมาย
คนที่เป็นพ่อแม่ที่ฟังระดับความคิด มีความเป็นไปได้ว่าบรรยากาศในบ้านจะมีแต่คำสั่ง คำสอน ตรรกะ และการโต้เถียง
ขณะที่คนที่เป็นพ่อแม่ที่ฟังระดับหัวใจ การสื่อสารระหว่างเราและลูกจะไม่มีอะไรรุนแรงหรือเลยเถิด เพราะทุกครั้งที่พูดหรือสื่อสาร จะนึกถึงใจอีกฝ่ายเสมอ
ส่วนคนที่เป็นพ่อแม่ที่ฟังระดับลึกถึงข้างใน การสื่อสารจะเป็นการสานสัมพันธ์ สร้างพื้นที่ปลอดภัย และเป็น ‘ฟูก’ ทางใจระหว่างกัน
ความเป็นจริงพ่อแม่ทุกคนล้วนมีการฟังในทุกระดับ ต่างกันที่สัดส่วนของพฤติกรรม ลองสังเกตตัวเองว่า คุณเป็นพ่อแม่ที่ ‘ฟัง’ ลูกในระดับใด สมอง ความคิด หัวใจ หรือลึกถึงข้างใน
ถ้าเป็นสองระดับแรก มีความเป็นไปได้ที่คำพูดของคุณจะเป็น ‘ไม้เรียว’ โบยตีและสร้างบาดแผลในใจลูก
แต่ถ้าเป็นสองระดับหลัง การสื่อสารระหว่างคุณกับลูกจะเป็น ‘สะพาน’ ที่คอยสร้าง สาน และเชื่อมสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น และเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ลูกอยากพักพิง
คำถามคือ วันนี้คุณเป็นพ่อแม่ที่ ‘ฟัง’ ลูกแบบไหนมากกว่ากัน
📌 ครบทุกความรู้และแรงบันดาลใจ เพื่ออนาคตลูกในงานเดียว! Alpha Skills Summit 2025
ดูรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/alphass2025cpc