วันนี้ (15 ตุลาคม) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดกิจกรรมรำลึกครบ 46 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2562 โดย ธีรยุทธ บุญมี ได้บรรยายพิเศษเรื่อง ‘ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤตใหม่ประเทศไทย’
ธีรยุทธกล่าวว่าปีที่แล้วพูดถึงการก่อตัวของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีอำนาจเหนือสังคมและเหนือการเมือง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
ส่วนปีนี้จะเสนอสิ่งใหม่ คือมันมีการเปลี่ยนกระบวนความคิดใหม่ในสังคมไทยขึ้น ซึ่งก่อตัวไม่นาน แต่ส่วนต่างๆ ในสังคมมีส่วนร่วมในระบบคิดใหม่นี้ค่อนข้างเยอะ ในฐานะนักวิชาการก็มีหน้าที่ติงเตือนสังคมว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
ธีรยุทธย้ำว่าในปัจจุบันไม่มีใครกลุ่มใดในสังคมเป็นศัตรู ไม่มองในฐานะที่เป็นกลาง ไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มใด
สังคมไทยไม่มีเป้าหมายจนกลับมาติดกับดักตัวเอง
สังคมไทยปัจจุบันไม่มีเป้าหมายจนกลับมาติดกับดักตัวเอง เป้าหมายการปฏิรูปประเทศเกิดมา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2535-2557 ดูเหมือนหดตัวไปเรื่อยๆ จนพูดได้ว่าการปฏิรูปตายแล้วหรือไม่ และผู้ที่ทำให้ตายคือการรัฐประหาร คสช.
นับจากปี 2500 กล่าวได้ว่าเมืองไทยมี 3 ยุค คือ
1. ยุคพัฒนา (2505-2535) สมัยของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อด้วย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสียสลับกันไป เพราะยังมีการคอร์รัปชันของนักการเมืองสูงจนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน
2. ยุคปฏิรูป (2535-2557) สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชันและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกันคือการปฏิรูปการเมือง แต่กลับล้มเหลว เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรฯ และ กปปส. มีการรัฐประหาร 2 หน ก็สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงฝ่อลงไปเรื่อยๆ
3. ยุคปัจจุบัน (2557-2562) คือยุคติดกับดัก เพราะไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ อันที่จริงมีเป้าหมายหนึ่งคือ
‘ประชาธิปไตยที่กินได้’ หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้านจนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน
ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า สองพรรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็น ซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ
ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา 5 ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง ไม่มีเป้าหมายที่กินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้
กระบวนทัศน์ใหม่ครอบงำคนไทย อยู่ด้วยกันแบบมองกลุ่มอื่นเป็นศัตรู
ในวงการรัฐศาสตร์ มีความคิดหนึ่งซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นคือความคิดว่าสิ่งที่สะท้อนแก่นแท้ของสังคมมนุษย์มากกว่า ‘การเมือง’ (The Politic) คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเมือง’ (The Political) คำว่าการเมืองซึ่งนิยามว่าเป็นพื้นที่การแข่งขันของความคิดที่ต่างกัน เป็นความไม่ชอบ ไม่พอใจ (Innimicus) หรือโกรธชังกัน (Exthrós) ระหว่างบุคคลก็ได้ แต่ก็สามารถหาข้อสรุปโดยเสียงส่วนใหญ่ได้
แต่ทัศนะใหม่เรื่องความเมืองเป็นเรื่องการต่อสู้แบบรวมเบ็ดเสร็จ (Totality War) ของกลุ่มคน ซึ่งมองอีกกลุ่มในแง่เป็นพวกเรากับศัตรู (The Enemy) เป็นความสัมพันธ์เชิงสงคราม (Hostis, Polémios) ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดในท้ายที่สุดคือองค์อธิปัตย์ (Sovereignty) ของกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นผู้นำรัฐหรืออำนาจทางกฎหมายก็ได้
“พวกการเมือง (The Politic) เชื่อในกระบวนการธรรมดา เลือกตั้งมาแล้วก็แสดงจุดยืนของตัว วิจารณ์จุดอื่นหรือคนอื่นเพื่อให้ความคิดของตนบรรลุผลและให้ความคิดคนอื่นล้มเหลว จนนำไปสู่การยุบสภาหรือเลือกตั้งใหม่ นี่คือประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม คนทะเลาะกันได้ แต่กฎเกณฑ์ในสังคมจะช่วยให้บรรลุข้อตกลงได้
“แต่ความเมือง (The Political) ซึ่งปัจจุบันคนไทยส่วนหนึ่งกำลังรับเข้ามา มองกลุ่มอื่นเป็นศัตรูที่ต้องล้มล้าง มองแบบนี้แม้ในภาวะปกติโดยไม่มีวิกฤตใดๆ
“ทำให้เราได้เห็นว่าจากการเล่นการเมืองกลายเป็นเล่นความเมือง ทหารฝ่ายความมั่นคงเป็นทหารฝ่ายความเมือง ใช้ทุกวิถีทางที่จะขยายความเกิดเหตุเกิดผล สร้างความ ต่อความ เติมความ รวมทั้งคดีความมาทำลายฝ่ายตรงข้าม ถึงที่สุดก็จะกลายเป็นสงคราม” ธีรยุทธกล่าว
ธีรยุทธกล่าวด้วยว่าการเกิดขึ้นของกระบวนทัศน์ ‘การเมือง’ ตั้งแต่หลัง 14 ตุลากำลังเปลี่ยนเป็นกระบวนทัศน์ความเมือง เน้นต่อสู้ทำลายล้าง ซึ่งตนมองไปที่ความผิดพลาดในยุทธศาสตร์ของทหารเป็นหลัก
ฝ่ายประชาชนที่ขัดแย้งยังยอมรับสภาพ แดงยังเป็นแดง เหลืองยังเป็นเหลือง ที่ถูกกระบวนการต่างๆ เพิ่มพูนเป็นความขัดแย้งที่แรงขึ้น
รัฐบาลและทหารมองปัญหาใจกลางผิด จัดการปัญหาผิดพลาด
ธีรยุทธกล่าวต่อว่าทหารเอาค่านิยมของทหารเองในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยกให้เป็นปัญหาหลักของประเทศ ปัญหานี้มีความสำคัญยิ่ง แต่ที่จะหยิบยกให้เป็นปัญหาหลักโดยแง่ความเร่งด่วนอาจผิดพลาดทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี ปัญหาที่ควรหยิบยกเพื่อให้ได้ใจประชาชนส่วนใหญ่ควรเป็นปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งกระทบประชาชนสูงมาก ปัญหาความมั่นคงควรแก้ไขในลักษณะที่นิ่มนวลแบบแสดงความเข้าใจกันและกัน
เพราะประชาชนทั้งประเทศยึดอยู่ในค่านิยมนี้อยู่แล้ว แต่ส่วนที่อาจจะไม่ชื่นชมหรือติติงสถาบันเป็นเพียงส่วนน้อย ไม่มีพลังที่เป็นนัยสำคัญเลย และที่พวกเขาพูดถึงก็มักจะเป็นการพูดถึงสถาบันกับโลกยุคใหม่เพื่อให้ประเพณีปกครองประเทศส่วนนี้ยั่งยืนสถาพรต่อไป ส่วนการพูดถึง ซุบซิบนินทาผู้นำประเทศหรือดารา เป็นเรื่องสนองความอยากรู้ของมนุษย์ที่มีมาทั่วโลกทุกยุคทุกสมัย จะห้ามปรามอย่างไรก็ไม่สำเร็จ การที่กองทัพโยงประเด็นความมั่นคงเข้ากับสงครามไฮบริดสะท้อนว่าทหารเชี่อว่าสังคมไทยซึ่งในยุครัฐประหารของ คสช. ยังอยู่ใน ‘ภาวะสงครามกลางเมือง’
แต่พอ 5 ปีผ่านไป สังคมก็ได้พัฒนาความขัดแย้งมาเป็นสงครามไฮบริด ซึ่งร้ายแรงกว่าเดิม เพราะเป็นสงครามยุคหลังสมัยใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบการต่อสู้ แต่ที่จริงแล้วคติสงครามที่ไร้รูปแบบมีมาตลอด เช่น วัสการพราหมณ์ในสมัยพุทธกาล ยุคอาณาจักรลานนา เชียงใหม่ก็ส่งไส้ศึกไปบ่อนทำลายลำพูน ทหารลำปางเคยก่อวินาศกรรมในเชียงใหม่ พม่าส่งสายลับมาทำแผนที่กรุงธนบุรี ปัจจุบันทุกชาติพยายามโฆษณาชวนเชื่อแนวทางของตัวเอง เอาข้อมูลความลับทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารของกันและกันอย่างเป็นปกติ การนำเอาภาวะไม่ปกติแบบภาวะสงครามมาขยายภาพเกินจริงในภาวะปกติของประเทศหรือโลก มักจะทำให้ความรุนแรงขยายตัวและเกิดสงครามจริงๆ ขึ้นในที่สุด
ประเทศไทยเคยเกิดความขัดแย้งแบบ ‘พวกเรา-ศัตรู’ เพียงหนเดียว คือการสร้างความคิดฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป และถือนักศึกษาเป็นภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องฆ่าทำลายล้างในช่วง 6 ตุลาคม 2519 แต่การเกิด ‘ระบบความเมือง’ ในขณะนี้มีการเคลื่อนไหวกว้างขวางจากหลายฝ่ายในสังคม ทั้งฝ่ายมวลชน การใช้สื่อออนไลน์ เฟกนิวส์ สื่อทางการ นักเคลื่อนไหว นักกฎหมาย หน่วยราชการ กองทัพ กระบวนการศาล ฯลฯ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น เป็นวิกฤตใหม่ที่ควรกังวลและต้องช่วยกันให้ทุกฝ่ายคลี่คลาย ผ่อนความขึงตึงจนเกินไปลง
“ผมสรุปยืนยันว่าคนในสังคมยึดมั่นในชาติ ศาสน์ กษัตริย์อยู่แล้ว สถาบันกษัตริย์ซึมลึกอยู่กับสังคมไทยมาก สถาบันปกป้องตัวเองได้แบบที่นายกฯ พูด มีส่วนน้อยที่อาจจะไม่ชื่นชม แต่เป็นส่วนน้อยที่ไม่มีพลังนัยสำคัญ พลังที่ไม่มีนัยสำคัญไม่ควรถึงขั้นทหารหรือนายกฯ มาพูดให้คนตกใจ เพราะทหารเป็นผู้ถืออาวุธสงครามหนึ่งเดียวของประเทศ การพูดอะไรต้องระวัง
“ส่วนการพูดถึงหรือซุบซิบนินทาเป็นเรื่องปกติของสังคมที่ต้องยอมรับ เป็นกันทั่วโลกและเป็นกันทุกยุคสมัย ใครจะห้ามอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ ต้องยอมรับว่าเป็นความจริงของมนุษย์และต้องปล่อยผ่าน จะมาเอาเป็นเรื่องเป็นทางการไม่ได้ มันเป็นการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการ” ธีรยุทธกล่าว
หนทางแก้ไข หยุดยัดเยียดภาวะสงครามในยามปกติ
1. สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบมิตร รับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น
2. ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมใช้ ‘ความเมือง’ ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ ‘ความเมือง’ หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่ารัฐบาลมีความเชื่อว่า ‘กำลังมีสงครามภายใน’ หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง ศาลและระบบยุติธรรมเองก็ต้องตริตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและใช้หลักยุติธรรมอย่างแท้จริง บางทีอาจต้อง Devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง (Devolution = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐฯ และเกือบทุกประเทศ ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทัศน์ ‘ความเมือง’ ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้
“ถ้าเราเอาภาวะสงครามไปยัดเยียดให้ในภาวะปกติ อนาคตสงครามจริงๆ จะเกิดได้ เพราะเราไปยัดเยียดให้มันเกิดขึ้น โดยอาจจะทำด้วยความกลัวหรืออะไรต่างๆ” ธีรยุทธกล่าว
งานที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ ควรทำคือโฟกัสการแก้ปัญหาปากท้อง
รัฐบาลประยุทธ์ในช่วงรัฐประหารมีผลงานจับต้องได้จำนวนหนึ่ง คือโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และการรักษาความสงบไม่ให้มีการชุมนุมประท้วง ส่วนการปฏิรูประบบไม่เกิด การสร้างความสมานฉันท์ก็ไม่เกิด รัฐบาลประยุทธ์ซึ่งมาจากการเลือกตั้งจะยิ่งทำงานลำบากกว่าเดิมมาก เพราะโดยโครงสร้างรัฐบาลจะอยู่รอดต่อไปได้ต้องจัดสรรผลประโยชน์มาให้ทุกกลุ่มการเมือง ซึ่งในที่สุดจะต้องพึ่งพากลุ่มทุนใหญ่
ดังนั้นภารกิจหลักของรัฐบาลในช่วงหน้าก็จะกลายเป็นการดำเนินนโยบายโครงการให้กับกลุ่มทุนใหญ่ เป็นรัฐบาลทหารเพื่อกลุ่มธุรกิจใหญ่นั่นเอง อย่างไรก็ตาม คาดว่าคนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ ควรปรับปรุงวิธีการทำงาน เพราะการควบคุมประสานพรรคร่วมลำบากยากขึ้นเรื่อยๆ ควรตั้งเป้าหมายระยะยาว แต่ต้องทำให้ได้ผลจริงจังสัก 2-3 เรื่องก็พอ
อย่างแรกคือโฟกัสการแก้ปัญหาปากท้องของชาวบ้าน ที่ผมเคยเรียกว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน’ (กระจ้อน = แคระ แกร็น) อย่างจริงจัง เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำมีสูง คนจนและคนชั้นกลางก็ลำบากจริงๆ การแก้ปัญหานี้ความจริงทำได้ยาก แต่นายกฯ ก็ต้องทุ่มเททำ
อย่างที่สองคือการเพิ่มคุณภาพของคนทุกวัยในด้านการศึกษาพัฒนาทักษะใหม่ อาชีพใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบ Disruptive ที่เกิดขึ้นรวดเร็วในหลายๆ ด้าน ต้องใช้อำนาจบารมีของตัวนายกฯ ประยุทธ์มาลงมือแก้ปัญหาเอง การแก้ปัญหาครบทั้งต้นน้ำปลายน้ำ เช่น ต้องมีการประกันรายได้การงานให้ และควรทำแบบเลือกสรรเฉพาะส่วน เพราะการปฏิรูปทั้งระบบใหญ่โตเกินไป ไม่สามารถทำได้จริง
ถ้าทำเช่นนี้ก็จะเป็นการเลือกลำดับความสำคัญได้ถูกต้องใกล้เคียงมากที่สุด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์