×

หยุดหัวล้านก่อนวัย รู้ทันทุกปัญหาและความเสี่ยงโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

10.03.2021
  • LOADING...
หยุดหัวล้านก่อนวัย รู้ทันทุกปัญหาและความเสี่ยงโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

HIGHLIGHTS

  • เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนชาย (Testosterone) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้จะเร่งให้เส้นผมบริเวณขมับและกลางกระหม่อมบางลง และมีอายุสั้นลง ทำให้เส้นผมจะผลัดก่อนกำหนดบ่อยครั้ง บวกกับอายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับภาวะที่มีการอักเสบของหนังศีรษะอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้มีผมร่วงมากขึ้นได้
  • ภาวะผมร่วงที่มีเส้นผมระยะ Telogen หลุดร่วงมากกว่าปกติอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงมากผิดปกติ คือมากกว่า 100 เส้นต่อวัน หรืออาจสูงถึง 1,000 เส้น ลักษณะร่วงทั่วศีรษะ แต่จะเห็นเด่นชัดบริเวณขมับ ในรายที่ผมร่วงไม่มากอาจไม่ทันสังเกต อาการผมร่วงมักจะเป็นอยู่นานประมาณ 3-6 เดือนแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น 

เส้นผมและหนังศีรษะเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่วัยเท่านั้นที่เป็นตัวเร่งให้เส้นผมเบาบางล่วงหน้าก่อนกาลเวลา แต่ยังมีปัจจัยภายนอกต่างๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ขาดสารอาหาร และแสงแดด ฯลฯ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อจำนวนประชากรเส้นผมที่หายไปก่อนวัยอันควร และเพื่อให้ตอบปัญหานี้ได้ดีที่สุด เราจึงได้ชวน รศ.ดร.พญ.รัชต์ธร ปัญจประทีป แพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคของเส้นผม หนังศีรษะ และการผ่าตัดปลูกผมมาไขข้อสงสัยว่า เพราะเหตุใดเส้นผมของเราถึงได้จากไปเร็วนัก  

 

1. โรคผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia)

 

 

พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สำหรับฝ่ายชายเส้นผมจะเริ่มจากแนวผมด้านหน้าเถิกร่น หรือผมบางบริเวณกระหม่อมด้านหลัง ปกติผู้ชายผมจะเริ่มบางเมื่อเข้าสู่อายุ 30-35 ปี และบางลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น ส่วนผู้หญิงจะเริ่มบางช้ากว่า คือมากกว่า 35 ปีขึ้นไป และจะเริ่มบางชัดในวัยเริ่มหมดประจำเดือน เส้นผมของผู้หญิงจะร่วงจากบริเวณแสกกลางของศีรษะ ซึ่งต่างจากฝ่ายชาย คนไข้ส่วนใหญ่มักมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะผมบางร่วมด้วย ส่วนสาเหตุของโรคผมบางศีรษะล้านจากพันธุกรรม เกิดจาก 3 ปัจจัยหลักร่วมกันคือ

 

1. ฮอร์โมนเพศชายเพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนชาย (Testosterone) เพิ่มขึ้น ฮอร์โมนนี้จะเร่งให้เส้นผมบริเวณขมับและกลางกระหม่อมบางลงและมีอายุสั้นลง ทำให้เส้นผมจะผลัดก่อนกำหนดบ่อยครั้ง 

 

2. พันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดเป็นยีนเด่น

พันธุกรรมอาจเป็นตัวกำหนดลักษณะของต่อมผม หลังพบว่าเซลล์รากผมบริเวณขมับและกลางกระหม่อมมีจำนวนตัวรับสำหรับฮอร์โมนชาย (Androgen Receptor) สูงกว่าผมบริเวณท้ายทอยถึง 1.5 เท่า ทำให้เส้นผมเกิดการหลุดร่วงและบางลงตามลำดับ

 

3. อายุที่เพิ่มมากขึ้นและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ 

อายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับภาวะที่มีการอักเสบของหนังศีรษะอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้มีผมร่วงมากขึ้นได้ เช่น ภาวะหนังศีรษะอักเสบจากเชื้อยีสต์ ภาวะทุพโภชนาการ ขาดสารอาหารหรือวิตามิน หรือแม้กระทั่งแสงแดดและความเครียด

 

แนวทางการรักษา

 

 

ในปัจจุบันการรักษาโรคนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ การรักษาด้วยยา และการผ่าตัดปลูกย้ายเส้นผม หากเป็นการรักษาด้วยยา ในปัจจุบันมียาสองชนิดที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา ให้นำมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคผมบางศีรษะล้านแบบพันธุกรรมในเพศชาย ได้แก่ ยาทา 5% Minoxidil และยารับประทาน Finasteride ซึ่งยาทั้งสองชนิดจะออกฤทธิ์กระตุ้นเส้นผมเดิม ซึ่งมีขนาดเล็กให้มีความหนา ดำ และยาวขึ้น และทำให้ผมมีชีวิตอยู่ยาวนานขึ้น ผมร่วงลดลง ซึ่งต้องใช้ยาอย่างน้อย 4-6 เดือนจึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ซึ่งผลการรักษาถ้าได้ผลดีจำเป็นต้องทายาและกินยารักษาต่อเนื่อง 

 

ในผู้หญิงมีเฉพาะยาทา 2-5% Minoxidil เท่านั้นที่ได้รับการรับรองให้ใช้รักษาโรค ส่วนยาอื่นๆ ที่นำมาใช้กัน ได้แก่ ยา Minoxidil ชนิดรับประทานในขนาดต่ำ และกลุ่มต่อต้านฮอร์โมนเพศชาย (Antiandrogen) เช่น Spironolactone ยาคุมกำเนิดชนิด Cyproterone Acetate และการให้ฮอร์โมนทดแทน 

 

หากเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผม (Hair Transplantation) ซึ่งเป็นการปลูกถ่ายย้ายเซลล์รากผมจากบริเวณท้ายทอยและด้านข้าง ซึ่งเป็นรากผมที่แข็งแรง มายังตำแหน่งที่มีปัญหาผมบางหรือศีรษะล้าน การผ่าตัดปลูกผมในปัจจุบันนี้ได้ผลดีและปลอดภัยมาก เนื่องจากเป็นการผ่าตัดขนาดเล็กที่ไม่ต้องดมยาสลบ ผลการรักษาผมที่ปลูกอยู่ได้ถาวรและเป็นธรรมชาติ เนื่องจากเป็นผมของตัวเอง ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน สามารถสระ โกรก ย้อม หรือดัดได้ตามปกติ แม้ในยามเล่นกีฬาก็มั่นใจ

 

2. โรคผมร่วงชนิดทีโลเจน เอฟฟลูเวียม (Telogen Effluvium) 

 

 

ภาวะผมร่วงที่มีเส้นผมระยะ Telogen หลุดร่วงมากกว่าปกติอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงมากผิดปกติ คือมากกว่า 100 เส้นต่อวัน หรืออาจสูงถึง 1,000 เส้น ลักษณะร่วงทั่วศีรษะ แต่จะเห็นเด่นชัดบริเวณขมับ ในรายที่ผมร่วงไม่มากอาจไม่ทันสังเกต ผมร่วงชนิดนี้ส่วนใหญ่เกิดตามหลังภาวะเจ็บป่วย ไม่สบาย หลังมีไข้สูง เช่น ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ ภาวะช็อก ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หลังคลอดบุตร ผู้ที่ลดน้ำหนักอย่างฉับพลัน โรคเจ็บป่วยเรื้อรัง โรคความผิดปกติของไทรอยด์หรือฮอร์โมน ภาวะขาดสารอาหาร ขาดวิตามิน ธาตุเหล็ก หรือโปรตีน มีความเครียดจัด หรือผิดหวังอย่างรุนแรง รวมไปถึงตามหลังการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น สังเกตว่าผู้ป่วยมักจะมีอาการผมร่วงตามหลังสาเหตุเหล่านี้ประมาณ 2-3 เดือน  

 

แนวทางการรักษา

อาการผมร่วงมักจะเป็นอยู่นานประมาณ 3-6 เดือนแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ผมขึ้นใหม่ได้เองหลังสาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้นหมดไป ยกเว้นในรายที่มีสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงยังคงอยู่หรือเกิดซ้ำ จนทำให้ต่อมผมถูกทำลาย ซึ่งอาจทำให้ผมขึ้นได้ไม่เต็มเหมือนเดิม โดยเฉพาะคนไข้ที่มีผมบางจากพันธุกรรมร่วมด้วย ความหนาแน่นของเส้นผมอาจขึ้นกลับมาไม่เท่าเดิม 

 

ดังนั้นการรักษาอาจพิจารณาให้ยาทาชนิด 5% Minoxidil Lotion เพื่อกระตุ้นให้ผมขึ้นกลับมาเร็วขึ้นร่วมกับการให้วิตามิน โดยวิตามินที่พบว่าขาดได้บ่อยในคนผมร่วงฉับพลัน ได้แก่ ธาตุเหล็ก สังกะสี วิตามินดี วิตามินบี 1, 5, 7 (ไบโอติน) และ 12 นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การทานโปรตีนให้เพียงพอ และกรดอะมิโนแอซิดบางชนิดก็มีส่วนช่วยให้เส้นผมกลับคืนมาแข็งแรงได้เร็ว 

 

3. โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Totalis)

 

 

อาการนี้พบได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีผมหรือขน อาจเกิดผมร่วงหย่อมเดียวหรือหลายๆ หย่อมรวมกัน ลักษณะเป็นวงกลมขอบเขตชัดเจน ไม่มีผื่นแดงหรือแผลเป็น อาการผมร่วงมักจะเกิดอย่างรวดเร็ว บางรายเป็นมากอาจมีหย่อมผมร่วงลามไป หรือเป็นทั้งศีรษะ หรือที่เรียกว่า Alopecia Totalis 

 

สาเหตุเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ที่ไปทำลายเส้นผมตัวเอง ทำให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อมขึ้น ส่วนใหญ่จะพบร่วมกับโรคไทรอยด์ ด่างขาว สะเก็ดเงิน ภูมิแพ้ เป็นต้น ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมร่วงเป็นหย่อม ได้แก่ พันธุกรรม ความเครียด การรักษาผมร่วงชนิดนี้ควรรีบมาพบแพทย์ วิธีที่ใช้รักษาจะขึ้นอยู่กับปริมาณของหย่อมผมร่วงที่เป็น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising