×

ผู้บัญชาการตำรวจนิวยอร์กกล่าวขอโทษ กรณีใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่ม LGBTQ ในเหตุจลาจลสโตนวอลล์เมื่อ 50 ปีก่อน

07.06.2019
  • LOADING...

เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย.) เจมส์ โอนีลล์ ผู้บัญชาการตำรวจนิวยอร์ก กล่าวขอโทษต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในนิวยอร์กเป็นครั้งแรก กรณีใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่ม LGBTQ ในเหตุจลาจลสโตนวอลล์เมื่อปี 1969 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน โดยชี้ว่า การใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนั้นถือเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

 

“ผมทราบดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่สโตนวอลล์เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กทำนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมดเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติและกดขี่ข่มเหง และผมต้องขอโทษสำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น”

 

เหตุจลาจลสโตนวอลล์ปี 1969 เกิดขึ้นในช่วงที่สังคมนิวยอร์กยังไม่เปิดกว้างดังเช่นในปัจจุบัน กลุ่มคนรักเพศเดียวกันยังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมาย บาร์ Stonewall Inn ย่านกรีนวิชวิลเลจ เป็นหนึ่งในสถานที่ที่พวกเขาจะได้เป็นตัวเอง แม้อาจจะต้องเสี่ยงต่อการถูกจับกุมก็ตาม กลุ่ม LGBTQ ถูกกลั่นแกล้งขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจลงตรวจความเรียบร้อยของบาร์ในคืนนั้น จนนำไปสู่ความขัดแย้งและใช้กำลังปราบปรามในที่สุด

 

เหตุจลาจลในครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ที่กลุ่ม LGBTQ จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนเอง จะไม่ยอมเพิกเฉยและจำนนต่อการถูกละเมิดสิทธิอีกต่อไป จนเป็นหมุดหมายสำคัญ และนำไปสู่การเดินขบวนไพรด์พาเหรดทั่วทุกมุมโลกดั่งเช่นในปัจจุบัน

 

โดยสหรัฐอเมริกา รวมถึงในหลายประเทศต่างร่วมจัดงาน LGBT Pride ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ โดยยกให้เป็น Pride Month เพื่อรำลึกถึงเหตุจลาจลสโตนวอลล์ ซึ่งเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา อดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยประกาศให้บาร์ Stonewall Inn เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเกียรติให้แก่สิทธิของกลุ่ม LGBTQ ทุกคน

 

นอกจากนี้ นายกเทศมนตรีนิวยอร์กยังเตรียมตั้งรูปปั้นของ มาร์ชา พี. จอห์นสัน และ ซิลเวีย ริเวรา สองสาวทรานส์ชาวอเมริกัน ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้และเรียกร้องสิทธิให้แก่กลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในเหตุจลาจลที่สโตนวอลล์เมื่อ 50 ปีที่แล้ว นับเป็นรูปปั้นสาวทรานส์แห่งแรกของสหรัฐอเมริกา และน่าจะเป็นรูปปั้นทรานส์แห่งแรกของโลกอีกด้วย

 

ภาพ: Andy Katz / Pacific Press / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising