หากผู้อ่านติดตามข่าวความคืบหน้าของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK อย่างใกล้ชิด ท่านอาจจะมีความรู้สึกเช่นเดียวกันกับผู้เขียนที่ว่า การดำเนินการทางกฎหมายเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่ทันต่อการก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของประเทศไทยแม้แต่น้อย ความน่าเห็นใจตกแก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยและนักลงทุนจำนวนมากที่พากันเอาเงินออมหรือเงินบำนาญก้อนสุดท้ายมาลงทุนเพียงเพื่อรับผลตอบแทนตามปกติเท่านั้น
กรณีของ STARK เกี่ยวข้องกับผู้บริหารที่มีความช่ำชองต่อการจัดการธุรกรรมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากความเป็นปกติของธุรกิจ ผู้ทำบัญชีอย่าง CFO ที่ร่วมมือกันวางแผนยักยอกเงินสาธารณชนไปยังกระเป๋าสตางค์ส่วนตัว นักกฎหมายที่อาศัยช่องว่างเพียงเพื่อให้ธุรกรรมแปลกประหลาดดูเนียนขึ้นจนยากต่อการตรวจสอบ มิเพียงกลุ่มที่มีเจตนาฉ้อโกงเพื่อเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทไปเป็นของตนเองเท่านั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการกำกับดูแลและการตรวจสอบอย่างเช่นสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ก็คงหลีกหนีความรับผิดชอบต่อกรณีดังกล่าวไปไม่ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของท่านโดยตรง แม้ท่านไม่ประสงค์จะรับก็ตาม
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ถอดชุดเกราะไอรอนแมนของ STARK ภาคปฐมเหตุ
- ถอดชุดเกราะไอรอนแมนของ STARK ภาคมัชฌิมเหตุ ตอนที่ 1
- ถอดชุดเกราะไอรอนแมนของ STARK ภาคมัชฌิมเหตุ ตอนที่ 2
- ถอดชุดเกราะไอรอนแมนของ STARK ภาคมัชฌิมเหตุ ตอนที่ 3
หากพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพบัญชี ผู้เขียนเคยเรียกร้องหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนของประเทศไทยหลายกาลหลายเทศะแล้วว่า เราควรมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถตรวจสอบหรือดักกรองพฤติกรรมที่ส่อไปในทางที่ว่า งบการเงินมีความเป็นไปได้ที่ถูกบิดเบือนโดยวิจารณญาณของผู้บริหาร ดังนั้น การเข้าใจเรื่องราวของแบบแผนการตกแต่งกำไรจะช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนทั่วไปตระหนักถึงภัยคุกคามที่ปรากฏในรูปแบบของตัวเลขได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น
การตกแต่งกำไรของบริษัทจดทะเบียนมิได้มีเพียงแค่การเพิ่มตัวเลขกำไรเท่านั้น แต่การลดตัวเลขกำไรก็เป็นที่นิยมของบริษัทต่างๆ กล่าวคือ ผู้บริหารสามารถตกแต่งกำไรได้ 2 รูปแบบ คือ การลดรายได้ และการเพิ่มรายได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
หนึ่ง การตกแต่งกำไรให้ลดลง ผู้บริหารสามารถเลือกตกแต่งกำไรโดยการลดรายได้ในช่วงเวลาที่ผลประกอบการดี หรือช่วงที่กำไรสูง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบจากหน่วยงานรัฐ หรือในระหว่างการปรับโครงสร้างเพื่อล้างหนี้ หรือแม้แต่ในช่วงที่มีผลการดำเนินงานที่ตกต่ำมากๆ เพื่อให้สามารถรายงานกำไรเพิ่มขึ้นได้ง่ายในอนาคต เมื่อบริษัทเผชิญกับข่าวร้าย ผู้บริหารชอบที่จะใช้วิธี ‘ล้างไพ่’ (Big Bath) โดยลดกำไรให้มากที่สุด เพื่อแสดงผลประกอบการที่สูงขึ้นได้ง่ายในอนาคต ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริษัทเผชิญกับข่าวดี ผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะลดกำไรเพื่อแสดงผลกำไรที่ราบเรียบ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการมากขึ้น โดยทั่วไปแล้ว ผู้บริหารต้องการสำรองกำไรในช่วงเวลาที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดี เพื่อช่วยให้ตกแต่งกำไรได้ง่ายขึ้นในช่วงที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดี นอกจากนี้ ผู้บริหารสามารถตกแต่งกำไรโดยการลดรายได้โดยใช้วิธีดังตัวอย่างเช่น ผู้บริหารสามารถจัดการตกแต่งกำไรโดยการลดรายได้ลงด้วยวิธีการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา การยกเลิกการให้ส่วนลด และการลดปริมาณผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มต้นทุนต่อหน่วย
สอง การตกแต่งกำไรให้เพิ่มขึ้น ผู้บริหารอาจเลือกที่จะตกแต่งกำไรโดยการเพิ่มรายได้ เพื่อตกแต่งงบการเงินให้แสดงผลประกอบการที่ดีก่อนเสนอขายหลักทรัพย์ในตลาด หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนเรื่องการอยู่รอดของบริษัทภายหลังวิกฤต นอกจากนี้ ผู้บริหารอาจตกแต่งกำไรโดยการเพิ่มรายได้เพื่อประโยชน์ของตนเอง เช่น เพิ่มโบนัส หุ้นปันผล หรือเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการทำงาน มิเพียงเท่านั้น สัญญาเงินกู้เป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งในการตกแต่งกำไรโดยเพิ่มรายได้ของบริษัท เพื่อให้สอดคล้องตามพันธสัญญาทางการเงินที่ระบุภายใต้สัญญาเงินกู้ที่มีอยู่เดิม หรือเพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ยืมใหม่ภายใต้ข้อจำกัดที่ลดลง ตัวอย่างของวิธีการเพิ่มรายได้ เช่น ผู้บริหารสามารถตกแต่งกำไรโดยการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับรายการคงค้างหรือการเปลี่ยนแปลงรายการดำเนินงานที่แท้จริง โดยตัวอย่างว่า ฝ่ายขายคาดการณ์ว่ายอดขายจะลดลงในอนาคต ผู้บริหารสามารถเพิ่มยอดขายโดยเสนอให้ส่วนลดและขยายระยะเวลาการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ผู้บริหารสามารถตกแต่งกำไรเพิ่มขึ้นโดยการชะลอการรายงานต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เช่น ลดค่าใช้จ่ายหนี้สูญ ลดการตัดจำหน่าย ลดค่าโฆษณา หรือลดค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา
วิธีการตกแต่งกำไรที่ผู้บริหารนิยมใช้เป็นเรื่องของการจัดการรายการคงค้าง กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้ว การจัดการกับตัวเลขกำไรมักจะหมายถึงการจัดการรายการคงค้าง เนื่องจากผู้บริหารสามารถใช้ดุลพินิจตามที่มาตรฐานการบัญชีให้ทางเลือกในการจัดทำงบการเงินตามเกณฑ์คงค้าง และภายใต้มาตรฐานการบัญชี การใช้เกณฑ์คงค้างจะแสดงกำไรที่ราบเรียบกว่าและสามารถวัดผลการดำเนินงานได้ดีกว่าการใช้เกณฑ์เงินสด อย่างไรก็ตาม เกณฑ์คงค้างจะมีส่วนประกอบของข้อมูลที่ไม่แน่นอนมากกว่าเกณฑ์เงินสด เนื่องจากยอดรายการคงค้างเป็นผลมาจากการประมาณการเพื่อใช้ในการตัดสินใจ เช่น วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา วิธีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวมถึงผู้บริหารต้องใช้ดุลพินิจในการประมาณการยอดลูกหนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ การประมาณการสินค้าคงเหลือล้าสมัย หรือการเปลี่ยนวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาสำหรับอาคารและอุปกรณ์ ดังนั้น ผู้บริหารจึงใช้ดุลพินิจที่มีอิทธิพลต่อตัวเลขกำไรอย่างไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ ผู้บริหารยังสามารถตกแต่งกำไรโดยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการดำเนินงานและรูปแบบธุรกิจ เช่น การขยายธุรกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการให้สินเชื่อ มากไปกว่านี้ ผู้บริหารยังสามารถตกแต่งกำไรโดยวิธีการย้ายรายการภายในงบกำไรขาดทุน หรือใช้รายการพิเศษเพื่อเพิ่มหรือลดกำไรตามที่ต้องการได้อีกด้วย
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการรายการคงค้าง ได้แก่ การตกแต่งกำไรด้วยวิธีการจัดการรายการคงค้างจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงประมาณการและนโยบายการบัญชี การประมาณการทางบัญชี คือ การประมาณการเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต เช่น อายุการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ และมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับของสินทรัพย์ระยะยาว ค่าเผื่อภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ขาดทุนจากหนี้สูญ การด้อยค่าของสินทรัพย์ ภาระผูกพันเกี่ยวกับผลประโยชน์พนักงาน เงินบำนาญและผลประโยชน์หลังออกจากงาน อีกทั้งผู้บริหารต้องตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการประเมินมูลค่าสินค้าคงเหลือและนโยบายเกี่ยวกับลูกหนี้ ซึ่งมีผลต่อการปันส่วนต้นทุนและรายได้สุทธิ
รายการคงค้างที่แสดงในรายงานทางการเงินจะขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณของผู้บริหารในการตัดสินใจเลือกนโยบายการบัญชี หรือกำหนดเกณฑ์เพื่อประมาณการภายใต้ข้อจำกัดของหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น นโยบายการคิดค่าเสื่อมราคา ผู้บริหารสามารถเลือกใช้วิธีการคำนวณได้หลายวิธี อาทิ แบบเส้นตรงหรือแบบยอดลดลงทวีคูณ หรือวิธีการประเมินมูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวด ผู้บริหารสามารถใช้ดุลพินิจในการเลือกประเมินมูลค่าโดยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักหรือวิธีเข้าก่อนออกก่อนก็ได้
บัญชีลูกหนี้การค้า สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์ที่มีตัวตน และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ถูกจัดอยู่ในประเภทสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือค่อนข้างต่ำ ผู้บริหารมีโอกาสในการกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้การค้า นโยบายการขายสินค้าคงเหลือ นโยบายการคิดค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์อื่นๆ เช่น บัญชีลูกหนี้การค้าจะเกี่ยวข้องกับการประมาณการลูกหนี้ที่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ และผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรโดยการรับรู้รายได้ก่อนกำหนดหรือกระตุ้นยอดขายสินค้าโดยการให้ส่วนลด หรือให้สินเชื่อนานๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย บัญชีสินค้าคงเหลือจะเกี่ยวข้องกับการปันส่วนต้นทุน โดยผู้บริหารสามารถเลือกวิธีการทางการบัญชีได้หลากหลาย เช่น วิธีเข้าก่อนออกก่อน วิธีเข้าหลังออกก่อน และวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก นอกจากนี้ ผู้บริหารสามารถใช้วิจารณญาณตนเองในการประมาณการมูลค่าสินค้าคงเหลือปลายงวด โดยอิงจากการประมาณการมูลค่ายุติธรรม บัญชีสินทรัพย์ถาวรและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการคำนวณค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และการตัดบัญชีขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ผู้บริหารอาจใช้ทางเลือกที่มาตรฐานการบัญชีอนุญาตในการตกแต่งกำไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างที่ตนประสงค์
กล่าวโดยสรุปแล้ว บนข้อสมมติฐานที่ว่า หน่วยงานกำกับดูแลยังมิได้มีเครื่องมือที่มีประสิทธิผลอย่างที่ควรจะเป็นในการตรวจสอบกิจกรรมการตกแต่งกำไร นักลงทุนควรต้องใช้ความสามารถของตนเองในการวิเคราะห์รายการทางบัญชีที่ผิดปกติ โดยเฉพาะรายการคงค้าง ไม่ว่าจะเป็นบัญชีลูกหนี้ หรือบัญชีสินค้าคงเหลือ แต่ทั้งนี้ การวิเคราะห์รายการดังกล่าวคงต้องพิจารณาแรงจูงใจทางเศรษฐกิจของผู้บริหารหรือบริษัทจดทะเบียนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่น่าเชื่อถือ และนำไปใช้ในการลงทุนในตลาดทุนไทยให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป