×

ถอดชุดเกราะไอรอนแมนของ STARK ภาคมัชฌิมเหตุ ตอนที่ 3

19.09.2023
  • LOADING...

ความน่าสนใจสืบเนื่องจากกรณีการทุจริตทางการบัญชีของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK คือ การตกแต่งกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนไทยมีมากน้อยเพียงใด อย่างที่ได้กราบเรียนไปในครั้งก่อนแล้วว่า การตกแต่งกำไรมีทั้งกรณีที่ข้ามไปถึงการทุจริตทางการบัญชี และกรณีที่ผู้บริหารเพียงแต่ใช้วิจารณญาณของตนเองในการรายงานตัวเลขต่างๆ ในงบการเงินให้บรรลุเป้าหมายที่ตนเองคาดหวังไว้

 

ผู้เขียนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘ภูมิทัศน์ของการบิดเบือนงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนไทย’ ที่ศึกษาถึงความแพร่หลายของการตกแต่งกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเห็นว่าน่าจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากผู้อ่านได้รับทราบถึงแบบแผนและความเคลื่อนไหวของผู้บริหาร ที่ใช้ข้อมูลทางการบัญชีเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือผลประโยชน์ส่วนบุคคล

 

ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า การเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง การปิดบังข้อมูลที่แท้จริง หรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อแสวงหาประโยชน์จากนักลงทุน จะส่งผลให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นและบั่นทอนประสิทธิภาพของตลาดทุนอย่างรุนแรง เช่น กรณีของ STARK ที่จงใจเปิดเผยข้อมูลซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงร่วมกับจิตวิทยาในการลงทุน เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในด้านการเติบโตของกิจการ จนนำไปสู่ความเสียหายทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินจำนวนมหาศาล 

 

ด้วยเหตุนี้ การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงและการตกแต่งกำไรโดยการสร้างรายได้เทียมในภาคเอกชนเพียงบริษัทเดียว ย่อมส่งผลไปถึงการเคลื่อนไหวของมูลค่าการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดทุนโดยรวมอย่างมีสาระสำคัญ

 


บทความที่เกี่ยวข้อง: 


 

งานวิจัยมีขอบเขตงานวิจัยครอบคลุมเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552-2561 ซึ่งประกอบด้วย 1,159 รายการ รวมระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดที่ ก.ล.ต. ประกาศไว้ในเว็บไซต์ การเลือกตัวอย่างบริษัทที่ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เนื่องมาจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวถูก ก.ล.ต. สั่งแก้ไขงบการเงิน อันเป็นผลจากการตกแต่งกำไรของผู้บริหาร และส่งผลให้งบการเงินขัดต่อหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปอย่างชัดเจน

 

ในเบื้องต้นข้อมูลให้ข้อเท็จจริงว่า ข่าวที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% เมื่อเปรียบเทียบกับข่าว ก.ล.ต. ทั้งหมด และข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสั่งแก้ไขงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนคิดเป็น 1 ใน 4 ของข่าวที่เกี่ยวข้องกับงบการเงิน การบิดเบือนงบการเงินมีความแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดในอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานการบัญชีที่ซับซ้อน และมักจะเกิดในช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมภายนอกมีผลกระทบด้านลบต่อผลการดำเนินงานของบริษัท นอกจากนี้รายการประเภทค่าใช้จ่าย ถือเป็นรายการบัญชีที่ผู้บริหารมักเลือกใช้ในการตกแต่งงบการเงิน

 

หากพิจารณาเฉพาะข่าว ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินนั้นจะเห็นว่า จำนวนข่าวเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามดัชนีของตลาดที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น และลดลงในปี 2559 ซึ่งดัชนีของตลาดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน และข่าวที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2560 ซึ่งดัชนีของตลาดก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้งเช่นเดียวกัน 

 

ด้วยเหตุนี้ ข้อสังเกตที่มีความเป็นไปได้คือ จำนวนข่าวที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินและการเคลื่อนไหวของดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีความสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นได้ว่าการบิดเบือนงบการเงินถูกผลักดันจากแรงจูงใจของผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับรางวัลของตลาดทุน (Equity Incentives)

 

จากข่าวที่เกี่ยวกับงบการเงินทั้งหมด 152 รายการ เหตุการณ์ที่ปรากฏในแต่ละรายการที่ ก.ล.ต. ดำเนินการกลับมีจำนวนทั้งสิ้น 180 กรณี อันประกอบไปด้วย ข่าวทั่วไปจำนวน 75 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 41.67% ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสั่งแก้ไขงบการเงินจำนวน 44 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 24.44% ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกรณีพิเศษ หรือ Special Audit จำนวน 14 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 7.78% ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการกล่าวโทษจำนวน 29 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 16.11% ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเปรียบเทียบปรับจำนวน 3 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 1.67% และข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสั่งให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมจำนวน 15 กรณี คิดเป็นสัดส่วน 8.33%

 

เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งแก้ไขงบการเงินจำนวนทั้งสิ้น 44 กรณีนั้นประกอบด้วย บริษัทจดทะเบียนที่ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินจำนวน 29 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET จำนวน 25 บริษัท คิดเป็น 86.21% และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หรือ mai จำนวน 4 บริษัท คิดเป็น 13.79% 

 

การที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนน้อยกว่าจำนวนเหตุการณ์ เนื่องจากบางบริษัทอาจได้รับคำสั่งให้แก้ไขงบการเงินหลายครั้ง เช่น คำสั่งที่ปรากฏในข่าว ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย ข่าวที่ 93/2552, ข่าวที่ 52/2554 และข่าวที่ 83/2554 เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ตาม งบการเงินของบริษัทที่ถูกสั่งให้แก้ไขอยู่ในช่วงระหว่างปี 2547-2559 หรืออีกนัยหนึ่งคือ ก.ล.ต. ตรวจพบการตกแต่งกำไรหลังจากงบการเงินของบริษัทถูกประกาศต่อตลาดไปแล้วระยะหนึ่ง

 

หากพิจารณารายละเอียดของคำสั่งแก้ไขงบการเงินของ ก.ล.ต. แล้วจะพบว่า การตกแต่งงบการเงินมีทั้งที่เกิดขึ้นในงบการเงินรายไตรมาสและงบการเงินรายปี ความแตกต่างสำคัญของทั้งสองประเภทนี้ ได้แก่ งบการเงินรายไตรมาสจะได้รับการสอบทาน แต่งบการเงินรายปีจะได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และหากงบการเงินรายไตรมาสได้รับการแก้ไขภายในงวดปี จะส่งผลให้งบการเงินรายปีถูกต้อง 

 

ทั้งนี้ คำสั่งแก้ไขเฉพาะงบการเงินของงวดปีประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 23 บริษัท โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวน 20 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 86.96% และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ จำนวน 3 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 13.04%

 

หากตั้งคำถามว่า การบิดเบือนงบการเงินแพร่หลายในอุตสาหกรรมใด คำตอบคงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มีจำนวนบริษัทที่ถูกสั่งแก้ไขงบการเงินมากที่สุดถึง 7 บริษัท หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนบริษัทที่ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความซับซ้อนกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การรับรู้รายได้หรือการรับรู้ต้นทุน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี หมวดธุรกิจที่มีความถี่ของการตกแต่งงบการเงินมากที่สุด ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง คิดเป็นสัดส่วน 13.04% ถัดมาจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในหมวดธุรกิจประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และยานยนต์ แต่ข้อมูลให้ข้อเท็จจริงว่า การตกแต่งงบการเงินมีความแพร่หลายไปทั้งตลาด ไม่ได้จำกัดอยู่ในหมวดธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอย่างชัดเจน

 

ความน่าสนใจของข้อมูลอีกมิติหนึ่งคือ ความถี่ของบริษัทจดทะเบียนที่ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินแยกตามปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลกระทบทางเวลามีอิทธิพลต่อการตกแต่งกำไรหรือไม่ จากข้อมูลที่แสดงจะเห็นได้ว่า ระหว่างปี 2553-2554 และปี 2557 มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ตกแต่งงบการเงินสูงกว่าปีอื่นๆ ซึ่งในช่วงปีดังกล่าวมีเหตุการณ์สำคัญคือ การชุมนุมใหญ่ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 และอุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 รวมทั้งรัฐประหารในปี 2557 

 

การคาดการณ์ที่เป็นไปได้คือ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องตกแต่งงบการเงิน เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของตลาดและนักลงทุน

 

แล้วบัญชีใดถูกตกแต่งมากที่สุด? 

 

ประเภทของบัญชีที่บริษัทจดทะเบียนใช้เป็นช่องทางในการตกแต่งกำไรหรือบิดเบือนรายงานทางการเงินก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่ควรได้รับความสนใจ ประเภทหรือรายการบัญชีที่ผู้บริหารมักใช้เป็นช่องทางในการตกแต่งกำไรมากที่สุดคือ บัญชีประเภทค่าใช้จ่าย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของรายการทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การไม่บันทึกค่าใช้จ่าย, การบันทึกสินทรัพย์แทนที่จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่าย หรือการโอนกลับรายการขาดทุน เป็นต้น 

 

ในขณะเดียวกันการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้บริหารมักเลือกใช้ เนื่องจากบัญชีหนี้สงสัยจะสูญเป็นรายการคงค้าง (Accruals) ที่ผู้บริหารสามารถใช้ดุลพินิจในการกำหนดนโยบายได้ และผู้บริหารสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเลขบัญชีสำรองในแต่ละปีได้อย่างไม่ยากนัก 

 

นอกจากนี้การไม่บันทึกหนี้สินอย่างเหมาะสมก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ฐานะทางการเงินดีขึ้นอีกด้วย อาทิ อัตราหนี้สินต่อทุนที่อยู่ในระดับต่ำ เป็นต้น 

 

ดังนั้นด้วยข้อมูลที่ปรากฏสามารถสรุปได้ว่า บริษัทจดทะเบียนที่ถูกสั่งให้แก้ไขงบการเงินนำเทคนิคการตกแต่งบัญชีที่หลากหลาย เพื่อปิดบังอำพรางฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่ไม่เป็นที่น่าประทับใจของตลาด เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจผิดในตัวบริษัทอย่างมีสาระสำคัญ

 

การตกแต่งกำไรที่เกินขอบเขตของหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปและการบิดเบือนงบการเงิน ถือเป็นพฤติกรรมที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบริษัทจดทะเบียนและตลาดทุนโดยรวม ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากการบิดเบือนงบการเงินมีมหาศาลดังตัวอย่างของ STARK หน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ดำเนินการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุนในตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง

 

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในตลาดทุนไทย แรงจูงใจของผู้บริหารเป็นปัจจัยหลักของการบิดเบือนงบการเงิน การตกแต่งกำไรมีความแพร่หลายในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนทางด้านการบัญชี และผู้บริหารนิยมใช้บัญชีประเภทค่าใช้จ่ายเป็นช่องทางในการตกแต่งงบการเงิน 

 

นอกจากนี้การเร่งตัวของสภาพแวดล้อมภายนอกก็มีความสอดคล้องกับระดับความถี่ของการบิดเบือนงบการเงิน เช่น เหตุการณ์ทางการเมืองหรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising