เรื่องอื้อฉาวคาววงการตลาดทุนไทยในรอบไม่กี่วันมานี้คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือตัวย่อในกระดานซื้อ-ขายว่า STARK
ความน่าสนใจของกรณีของ STARK เป็นเหตุการณ์ศึกษาว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ดูดีมีอนาคตในสายตาของนักลงทุน ทั้งนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนต่างประเทศ และนักลงทุนรายย่อย กลับล้มครืนลงมาด้วยการเป่าลมเข้าไปในผลประกอบการของบริษัทที่ข้อเท็จจริงถูกเปิดเผยเมื่อสายไปเสียแล้ว
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความสูญเสียจะเกิดขึ้นแล้ว แต่กรณีนี้ก็ยังนับว่ามีประโยชน์อยู่ไม่น้อยสำหรับแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาทางด้านการบัญชีและการกำกับดูแลกิจการ บทความชุดนี้จึงไล่เรียงความเป็นมาเกี่ยวกับการถือกำเนิดขึ้นของ STARK แรงจูงใจที่ขับเคลื่อนผลประโยชน์ทางการเงินและมิใช่การเงิน วิธีการตกแต่งกำไรและการทุจริตทางการบัญชีที่บริษัทเลือกใช้ รวมถึงแนวทางป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวในอนาคต ตลอดจนบทบาทที่คาดหวังจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนไทยอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยลำดับ
ทุกคนจำเป็นต้องตระหนักว่าจุดเริ่มต้นของ STARK มิได้ผิดกฎหมายหรือจริยธรรมแต่ประการใด เพราะ STARK ใช้วิธีการในการเข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผ่านวิธีที่เรียกว่า ‘การจดทะเบียนทางอ้อม’ หรือ Backdoor Listing และไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจเช่นเดียวกัน เพราะหลายกิจการทั่วโลกต่างก็เลือกใช้วิธีการประเภทนี้ เพราะเหมาะสมกับกลยุทธ์ทางธุรกิจและทางการเงินของตนเอง เป้าหมาย หรือ Target ที่ถูกครอบงำกิจการสำหรับกรณีนี้คือ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM
ไม่ว่าใครต่างก็รู้ว่าธุรกิจของ SMM เป็นธุรกิจตะวันตกดิน เพราะรายได้หลักมาจากการผลิตและจำหน่ายหนังสือประเภทการ์ตูน นวนิยายจีนประเภทกำลังภายใน และพ็อกเกตบุ๊กประปราย SMM มีรายได้จากธุรกิจอื่นบ้าง แต่ก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรเท่าไรนัก เช่น การเปิดเว็บไซต์กีฬาสยามสปอร์ต และรับจ้างผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นต้น มิพักต้องกล่าวถึงราคาหุ้นที่เป็นตัวชี้วัดการคาดการณ์อนาคตในสายตานักลงทุน หุ้น SMM ดำดิ่งไปตามความมืดมนของธุรกิจเช่นเดียวกัน เว้นเสียแต่ในช่วงที่มีข่าวว่า SMM กำลังจะถูก Backdoor จากกลุ่มธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล หรือสตาร์ค คอร์เปอเรชั่น นั่นเอง
ท่วงท่าของการเข้ายึดบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของกลุ่มธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลคือ การทำสัญญาโอนกิจการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลระหว่าง SMM กับบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยการให้บริษัท ทีม เอ โฮลดิ้ง 2 จำกัด (TAH2) โอนหุ้นที่ TAH2 มีอยู่ในบริษัท เฟล้ปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ PDITL และบริษัท พีดีทีแอล เทรดดิ้ง จำกัด (PDTL Trading) และโอนหนี้สินของ PDITL ให้แก่ SMM
แต่ SMM มิได้มีเงินสดมากพอที่จะชำระเงินตามสัญญา SMM จึงชำระโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทมูลค่ากว่าหมื่นล้าน ผลลัพธ์ที่เห็นต่อมาคือ ผู้ถือหุ้นเดิมของ SMM ก็หมดความเป็นเจ้าของไป และเจ้าของธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลก็ได้กลายมาเป็นเจ้าของที่แท้จริงของ SMM หลังดีลการ Backdoor เสร็จสิ้น
คนในวงการการเงินต่างรู้กันดีว่า การทำ Backdoor เป็นวิธีการหาเงินอย่างหนึ่ง หากจะอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นก็คงได้ความว่า แต่เดิมนั้นหุ้นของ SMM หาได้มีราคาค่างวดในตลาด แต่ทันทีที่มีธุรกิจใหม่เข้ามา ราคาหุ้นของ SMM ก็จะกลายเป็นสินค้าราคาถูกในทันที และก็ไม่ใช่เรี่องที่น่าแปลกใจว่านักลงทุนจำนวนไม่น้อยจะวิ่งกระโจนเข้าซื้อหุ้นของ SMM จนราคากระโดดพรวดพราดอย่างทันทีทันใด มิหนำซ้ำกลเกมทางการเงินที่มุ่งตีข่าวเล่นสตอรีเพื่อให้หุ้นของ SMM น่าสนใจ ก็ยิ่งโหมกระหน่ำแรงซื้อหุ้นให้เด้งจนนับกันเป็นเท่า ฉากนี้ใครมีหุ้นราคาต่ำก็กวาดกำไรที่เป็นเงินสดรอบที่หนึ่งไปแล้ว
ขณะที่สถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นเรื่องของการรักษาชื่อเสียงและความน่าสนใจของบริษัทเอาไว้ หากถามว่ามูลเหตุจูงใจของบทละครที่ STARK สร้างขึ้น แท้จริงแล้วคืออะไร คำตอบก็คงเดาได้ไม่ยาก และนี่คือ ‘เกมแห่งผลประโยชน์’ ของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้บริหารจริงๆ ที่อาศัยวิธีการและเทคนิคทางการบัญชี เสกคาถาให้นักลงทุนทั้งหลายหลงในมายาภาพที่วาดขึ้นบนพื้นฐานแห่งความกลวงหรือความว่างเปล่า
โดยทฤษฎีแล้ว พฤติกรรมของผู้บริหารที่มีเป้าหมายที่จะรายงานผลประกอบการและฐานะทางการเงินของบริษัทให้แตกต่างไปจากเรื่องราวที่แท้จริง ก็เพราะเหตุด้วยผู้บริหารมีแรงจูงใจที่จะกระทำการดังกล่าว แรงจูงใจของการตกแต่งกำไรถูกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม อันได้แก่ ความคาดหวังของตลาด (Market Expectations), ข้อตกลงตามสัญญา (Contractual Arrangement), ตลาดหนี้ (Debt Market) และแรงกดดันจากสาธารณะ (Public Scrutiny or Pressure)
หากกล่าวเฉพาะเจาะจงแล้ว กรณีของ STARK เป็นเรื่องของการสร้างและตอบสนองต่อความคาดหวังหรือการคาดการณ์ของตลาดหรือนักลงทุนที่ STARK พยายามฉายภาพมาตั้งแต่ต้น งานวิจัยที่เกี่ยวกับการตกแต่งกำไรเสนอว่า ผู้บริหารพยายามที่จะประกาศกำไรให้เป็นไปตามเป้าหมายแต่ละขั้นตามลำดับ กล่าวคือ ขั้นแรกผู้บริหารจะตกแต่งกำไรสูงขึ้น และลดการใช้นโยบายตามหลักความระมัดระวังในการรายงานผลประกอบการ เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุนในปีที่มีผลประกอบการแย่ โดยผู้บริหารมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงผลประกอบการขาดทุน โดยเปลี่ยนผลขาดทุนจำนวนเล็กน้อยไปเป็นผลกำไรจำนวนเล็กน้อยแทน
การตกแต่งกำไรลำดับขั้นถัดไปเกิดขึ้นหลังจากการที่บริษัทรายงานกำไรในปีก่อนหน้าคือ การตกแต่งกำไรเพื่อต้องการแสดงกำไรที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นข่าวดีและทำให้บริษัทมีมูลค่าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้บริหารยังมีแนวโน้มที่จะตกแต่งกำไรเพื่อแสดงรายได้ที่ราบรื่นหรือรักษากำไรได้อย่างต่อเนื่อง การตกแต่งกำไรลำดับสุดท้าย ได้แก่ บริษัทมีแรงจูงใจในการตกแต่งกำไรเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของนักวิเคราะห์ เพื่อการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท
ข้อเสนอทางทฤษฎีที่เกี่ยวกับการตกแต่งกำไรสามารถนำไปอธิบายแรงจูงใจในการตกแต่งกำไรของ STARK ได้อย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ผู้บริหารของ STARK พยายามสร้างภาพว่า STARK เป็นบริษัทที่มีอนาคตและน่าลงทุน พวกเขาจึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะรายงานว่า STARK มีกำไร และกำไรนั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกำไรที่ประกาศยังเป็นไปตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์อีกด้วย
คำถามถัดมา การตอบสนองต่อความคาดหวังของตลาดหรือนักลงทุนจะให้ผลลัพธ์อย่างไรกับบริษัท หลักฐานทางวิชาการพบว่า บริษัทที่มีกำไรบรรลุหรือเกินเกณฑ์การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จะมีผลตอบแทนสูงกว่าบริษัทที่ไม่บรรลุเป้าหมาย ในทำนองเดียวกัน เมื่อระดับกำไรตรงกับความคาดหวังของนักวิเคราะห์ทางการเงิน หรือนักลงทุนจะทำให้บริษัทมีอิทธิพลต่อผลตอบแทนของหุ้นสูงขึ้น ดังนั้นผู้บริหารจึงมีแรงจูงใจที่จะบรรลุการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาเชิงลบของตลาด โดยการเลือกวิธีการทางการบัญชีหรือการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมที่แท้จริงเพื่อตกแต่งกำไร
นอกจากนี้บริษัทที่แสดงกำไรเกินหรือบรรลุกับเกณฑ์ที่คาดหวังไว้มักจะได้รับการจัดอันดับเครดิตที่สูงขึ้น โดยสาเหตุหลักประการหนึ่งของการตกแต่งกำไรคือ เพื่อให้ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่น่าพอใจ ไม่เพียงเท่านั้นการที่บริษัทมีกำไรที่บรรลุหรือเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างสม่ำเสมอมีความสำคัญ เนื่องจากบริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหรือเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอย่างต่อเนื่อง จะมีราคามูลค่าหุ้นที่สูงกว่าหรือได้รับการประเมินมูลค่าที่สูงขึ้นกว่าบริษัทที่มีกำไรบรรลุหรือเกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ครั้งแรก หลังจากการควบคุมการเจริญเติบโตและความเสี่ยง
แรงจูงใจที่นำไปสู่การตกแต่งกำไรและการทุจริตทางการบัญชี นำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ชัดเจนสำหรับผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ STARK อย่างชัดเจน นั่นคือราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นที่สร้างกำไรจากผลต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาต้นทุนในหุ้น STARK ความน่าสนใจในเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ที่ผูกกับราคาหุ้น เช่น การเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้น การออกใบแสดงสิทธิการซื้อหุ้นล่วงหน้า เป็นต้น และการเพิ่มระดับหนี้สินผ่านเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ที่อาศัยอันดับเครดิตเป็นข้อมูลพื้นฐาน
โดยสรุปแล้ว เหตุเบื้องแรกที่นำไปสู่การตกแต่งกำไรของ STARK ก็เป็นเรื่องเดิมๆ หรือเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ใครๆ ก็เข้าใจได้ไม่ยาก การบรรลุความคาดหวังของตลาดที่สร้างขึ้นจากสตอรีที่บริษัทสร้างขึ้น ก็ย้อนกลับมาเป็นแรงกดดันที่ผู้บริหารย่อมเลือกที่จะใช้วิธีการทางการบัญชีที่จะรักษาความมั่งคั่งของพวกเขาไว้ แต่จะเลือกใช้วิธีการแบบใด ขอยกไปตอนหน้านะครับ