หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศปลดล็อกส่วนของกัญชาและกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ส่งผลให้หลายธุรกิจเริ่มที่จะมีการศึกษาโอกาสทางธุรกิจจากสรรพคุณบางอย่างของกัญชาและกัญชง
โดยหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดูเหมือนจะนำกัญชาและกัญชงมาต่อยอดได้คือกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งแต่ละบริษัทได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการนำวิตามินหรือสารที่เป็นประโยชน์บางอย่างมาผสมในเครื่องดื่ม
ล่าสุดราคาหุ้นในกลุ่มเครื่องดื่ม เช่น บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) +5.69%, บมจ.โอสถสภา (OSP) +2.17%, บมจ.อิชิตัน กรุ๊ป (ICHI) +7.76% และ บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE) +2.00% ต่างตอบรับในเชิงบวกต่อกระแสข่าวความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว
หมิ่นหลิง หวัง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่าหนึ่งในเซนทิเมนต์เชิงบวกต่อหุ้นในกลุ่มเครื่องดื่มคือเรื่องของกัญชง ซึ่งปัจจุบันสามารถปลูก แปรรูป และจัดจำหน่ายได้แล้ว แต่ยังต้องศึกษาในส่วนของรายละเอียด เช่น สามารถปลูกได้มากน้อยเพียงใด หรือผู้ที่จะดำเนินการต้องขอใบอนุญาตหรือไม่ ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิเคราะห์จะมีการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้อีกครั้ง
“การปลดล็อกดังกล่าวอาจเป็นกิมมิกใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ซึ่งกัญชงนั้นมีสารที่เรียกว่า CBD ให้คุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงสารอื่นๆ ที่มีสรรพคุณบางอย่างต่อร่างกาย อาทิ ช่วยผ่อนคลาย ซึ่งการนำสารเหล่านี้ไปผสมในเครื่องดื่มจะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องดื่มวิตามิน และทำให้สินค้ามีความแตกต่าง รวมถึงจะช่วยดันให้ตลาดเครื่องดื่มขยายใหญ่ขึ้น”
นอกจากนี้จะเห็นว่าหุ้นอย่าง บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) +6.60% เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ดูเหมือนจะได้อานิสงส์จากกรณีนี้เช่นกัน เพราะปัจจุบัน RBF เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียงตัวเดียวที่สกัดสารตัวนี้ได้ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามรายละเอียดในเรื่องของการขอใบอนุญาต รวมถึงกฎหมายในด้านอื่นๆ ประกอบ
สำหรับหุ้น CBG ซึ่งดูเหมือนจะโดดเด่นที่สุดในกลุ่มเครื่องดื่ม โดยราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาราว 30% ภายในช่วงเวลา 11 วันทำการ และยังสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ (All Time High) ได้ต่อเนื่อง โดยหลักได้แรงหนุนจากการคาดการณ์กำไรในไตรมาส 4/63 ซึ่งน่าจะทำจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 1,034 ล้านบาท +33% จากปีก่อน หนุนจากการเป็นช่วงไฮซีซันของธุรกิจ รวมถึงสินค้าใหม่อย่าง วู้ดดี้ ซี+ ล็อค ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายช่วงไตรมาส 1/63 และการลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแนวโน้มปี 2564 น่าจะดีต่อเนื่องจากการขยายธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งน่าจะช่วยลดต้นทุนได้ราว 1.5-2% ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ขยายกำลังการผลิตการบรรจุขวดและกระป๋องอีกราว 30% ทำให้กำไรของ CBG น่าจะเป็นบวกได้ทุกไตรมาสเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ประเมินราคาเป้าหมายที่ 165 บาท
ด้าน อดิศักดิ์ พรหมบุญ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี เปิดเผยว่าการที่ภาครัฐจะเปิดให้กัญชาและกัญชงสามารถนำมาใช้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะการทำเครื่องดื่มเพื่อการผ่อนคลาย ช่วยหนุนให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประเมินในเชิงตัวเลขยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะว่าจะช่วยหนุนอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้แต่ละบริษัทน่าจะมีการทำวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้มาระดับหนึ่งแล้ว
สำหรับราคาหุ้นในกลุ่มนี้ที่ปรับขึ้นมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของ CBG มองว่าราคาเริ่มเต็มมูลค่าเหมาะสมสำหรับธุรกิจในปัจจุบันไปแล้ว จึงปรับลดคำแนะนำเป็นเพียงถือ แต่ในมุมของผลประกอบการยังน่าจะเห็นการเติบโตได้ โดยหลักหนุนจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และการขยายโรงงานแห่งใหม่ รวมถึงการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่ลดลง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์