บรรดานักวิเคราะห์ออกโรงแสดงความเห็นเตือนนักลงทุนในตลาดทำใจรับมือกับสภาพการณ์ของตลาดในรอบสัปดาห์นี้ ที่น่าจะมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในภาคการเงิน เนื่องจากผลกระทบจากการล้มของธนาคาร Silicon Valley Bank หรือ SVB ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดใน Silicon Valley ด้านเงินฝาก ต้องปิดตัวลงเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดกระแสความกังวลต่อความเชื่อมั่นของระบบการเงินการธนาคารโดยรวมที่อาจซ้ำรอยวิกฤตการเงินในปี 2008
ยิ่งไปกว่านั้น ในสัปดาห์นี้ยังมีการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าแม้การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตกับ SVB แต่ Fed น่าจะยังคงยืนกรานในจุดยืนเดิม คือการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส่อง 9 หุ้นในพอร์ต กองทุนสิงคโปร์ GIC PRIVATE LIMITED มูลค่าเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
- ทำความรู้จัก 7 หุ้น IPO น้องใหม่ เตรียมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- เจาะ 10 หุ้นมาร์เก็ตแคป เกิน 1 แสนล้าน ราคาร่วงแรงมากสุดนับจากต้นปี 2565
ทั้งนี้ สิ่งที่นักลงทุนจับตามองก็คือการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะกระทบต่อธนาคารรายอื่นๆ หรือไม่ รวมถึงรอดูว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมจะมีปฏิกิริยาตอบสนองไปในทิศทางใด
เกาะติดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนมีนาคม
ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องจับตามองก็คือ รายงานดัชนีค่าใช้จ่ายผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะสะท้อนภาพอัตราเงินเฟ้อ และจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ในการประชุมประจำเดือนมีนาคมนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังรอลุ้นกับผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยส่วนใหญ่คาดว่า ECB มีโอกาสจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ดันให้อัตราดอกเบี้ยโดยรวมแตะระดับ 3.0%
คาดเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า
ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าตลาดอัตราแลกเปลี่ยนดูจะเป็นตลาดแรกสุดที่ได้รับผลกระทบจากความปั่นป่วนของเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น โดยคาดว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีโอกาสจะปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ 10 สกุลเงินหลักของโลก พร้อมจับตาสกุลเงินที่ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอย่าง ฟรังก์สวิส และสกุลเงินเยนที่มีโอกาสปรับตัวแข็งค่าขึ้น
Bloomberg รายงานว่า นักการเงินและผู้ประกอบการต่างๆ ในหลายประเทศทั่วเอเชียตั้งแต่เซี่ยงไฮ้ยันมุมไบ ต่างพูดคุยแลกเปลี่ยนข่าวสารเกี่ยวกับกรณีของ SVB อย่างจริงจัง รวมถึงสอบถามกับสาขาของธนาคารที่ดำเนินการอยู่ภายในภูมิภาค ซึ่งแม้จะไม่ได้รับความคืบหน้าใดๆ แต่ก็ช่วยให้คลายความกังวลและเชื่อมั่นในเสถียรภาพการเงินของภูมิภาคเอเชียขึ้นมาได้บ้าง
ผลกระทบจาก SVB ยังปรากฏออกมาไม่หมด
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าบรรดาธุรกิจและเหล่าสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีในเอเชียหลายรายต่างเร่งประเมินความเสียหายและผลกระทบที่เกิดจากการล้มของธนาคาร Silicon Valley Bank เนื่องจากมีการพึ่งพาเงินทุนและระบบการเงินของสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการขยายการเติบโตของบริษัทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม บริษัท นักลงทุน และสถาบันการเงินในเอเชียต่างก็เร่งตรวจสอบสถานะการเงินและพอร์ตการลงทุนของตนเองทันที โดยมีรายงานว่าสถาบันการเงินบางส่วน เช่น บริษัทด้านการลงทุนแห่งหนึ่งที่หนุนหลัง ByteDance สามารถจัดการดึงเงินออกมาได้ทัน หลังเห็นความเคลื่อนไหวของหุ้น SVB ในช่วงคืนวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม
กระนั้นก็ไม่ใช่บริษัททุกรายที่จะโชคดีสามารถดึงเงินทุนออกได้ทันเวลา และกำลังรอติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ด้านสถาบันการเงินส่วนใหญ่ต่างเร่งหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามของลูกค้า ขณะที่นักวิเคราะห์เชื่อว่าผลกระทบจากธนาคาร Silicon Valley Bank จะไม่บานปลายเท่ากับวิกฤตการเงินในปี 2008 และปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการของธนาคารเองมากกว่า ซึ่งน่าจะกลายเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างที่เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับการบริหารจัดการในอนาคต
อ้างอิง: