×

กูรู ‘Wall Street’ แนะ เตรียมรับมือตลาดหุ้นผันผวนโค้งสุดท้าย รับแรงกดดันเงินเฟ้อ นโยบายแบงก์ชาติ และรายได้ภาคธุรกิจ

04.10.2022
  • LOADING...
Wall Street

สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์จากหลายสำนักที่ลงความเห็นตรงกันว่า แม้ตลาดหุ้น Wall Street จะเปิดตลาดวันแรกในช่วงไตรมาส 4 ของปีในทิศทางบวก แต่พิจารณาจากปัจจัยไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ภาพรวมทิศทางตลาดหุ้นโดยรวมยังมีแนวโน้มไม่สดใส และน่าจะเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรงลากยาวไปจนถึงสิ้นปี 2022 

 

ทั้งนี้ เหล่านักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นโดยรวมยังคง ‘มืดมน’ และคาดว่าจะมีความผันผวนมากขึ้น ด้วยความไม่แน่นอนมากมายเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ นโยบายของธนาคารกลาง และรายได้ของบริษัท บวกกับการล็อกดาวน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าในจีน และวิกฤตด้านพลังงานในยุโรป ทำให้นักลงทุนอาจต้องเผชิญกับจุดจบของปีที่วุ่นวายเหมือนเดิม หลังจากผ่านไตรมาสที่เลวร้ายมาแทบตลอดทั้งปี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ดัชนี S&P 500 ลดลง 1.5% เมื่อวันศุกร์ (30 กันยายน) ทำให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ดัชนีดังกล่าวลดลงไปแล้วเกือบ 24% ขณะที่ดัชนีหลักทั้ง 3 ตัวอยู่ในภาวะตลาดหมี หรือลดลงอย่างน้อย 20% จากระดับสูงสุดเมื่อเร็วๆ นี้ และบรรดานักเศรษฐศาสตร์เตือนให้เตรียมพร้อมเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

 

สำหรับสิ่งที่ยังต้องจับตาเฝ้าระวังต่อก็คือตัวเลขเงินเฟ้อ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงยืนกรานเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อล่าสุดยังคงอยู่ในระดับสูง 

 

Lisa Shalett หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของการบริหารความมั่งคั่งที่ Morgan Stanley กล่าวว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไม่มองข้ามผลกระทบจากมติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้โอกาสหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยยิ่งลดลง 

 

โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed มีแนวโน้มจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% อีกครั้งในปีนี้ 

 

ขณะเดียวกัน ข้อมูลล่าสุดของกิจกรรมการผลิตของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวสุดในรอบเกือบ 2 ปีครึ่งในเดือนกันยายน เนื่องจากคำสั่งซื้อใหม่หดตัว ทำให้มีความเป็นไปได้มากว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาจทำให้อุปสงค์สินค้าต่างๆ ไม่ขยับเขยื้อน

 

ด้านราคาน้ำมันดิบเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ปรับตัวพุ่งขึ้นเกือบ 4 ดอลลาร์ โดยได้อานิสงส์จากการที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) พิจารณาปรับลดกำลังผลิตอีกกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเป็นการปรับลดกำลังผลิตมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเผชิญวิกฤตระบาดใหญ่ของโควิด ซึ่งยังไม่รวมถึงการปรับลดกำลังผลิตโดยสมัครใจของแต่ละชาติสมาชิกด้วย

 

โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสงวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 4.14 ดอลลาร์ ปิดที่ 83.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนืองวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 3.72 ดอลลาร์ ปิดที่ 88.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ขณะเดียวกัน การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงยังส่งผลบวกต่อราคาทองคำ โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ราคาทองคำปิดบวกต่อเนื่อง โดยราคาทองคำในตลาดโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 30 ดอลลาร์ หรือราว 2% ปิดที่ 1,702.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่เงินเพิ่มขึ้น 8.89% มาอยู่ที่ 20.69 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 

 

ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ ส่งผลให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X