การต่อสู้กับโรคโควิดยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ ขณะที่ทั่วโลกยังคงต้องการ ‘วัคซีน’ เพื่อป้องกันโรคดังกล่าวอีกจำนวนมาก แม้แต่ในประเทศใหญ่ๆ ที่สามารถกระจายวัคซีนได้ในระดับ 50% ของประชากร ก็ดูเหมือนจะยังต้องการวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อต่อสู้กับการกลายพันธุ์ของเชื้อโรค
ล่าสุด Pfizer และ BioNTech ซึ่งเป็นพันธมิตรเพื่อร่วมมือกันผลิตวัคซีนป้องกันโควิด เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับความต้องการที่จะขออนุญาตจากทางการสหรัฐฯ เพื่อกระจายวัควีนเข็มเสริม (Booster Shot) เพื่อรับมือกับโควิดสายพันธุ์เดลตา
ในมุมของการลงทุนที่ผ่านมา บริษัทที่ผลิตวัคซีนเหล่านี้ได้อานิสงส์จากความต้องการวัคซีนที่สูงขึ้นอย่างมาก สะท้อนได้จากราคาหุ้นของหลายบริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงนับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา เช่น
BioNTech +283%
Moderna +230%
Pfizer +16%
AstraZeneca +13%
Johnson & Johnson +9.4%
ขณะที่ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มผู้ผลิตวัคซีนแต่ละราย โดยส่วนใหญ่ยังคงปรับตัวขึ้นได้ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ อย่างกรณีของ Pfizer ซึ่งรายงานกำไรไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ของปีนี้ ทำได้ 4.87 พันล้านดอลลาร์ (+45%YoY) และ 5.56 พันล้านดอลลาร์ (+59%YoY) ตามลำดับ
Johnson & Johnson รายงานมีกำไรสุทธิ 6.19 พันล้านดอลลาร์ (+7%YoY) และ 6.27 พันล้านดอลลาร์ (+73%YoY) ตามลำดับ
ส่วน AstraZeneca มีกำไรสุทธิ 1.56 พันล้านดอลลาร์ (+108%YoY) ในไตรมาสแรก แต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 550 ล้านดอลลาร์ (-25%YoY)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้ว่ากำไรของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเหล่านี้จะเติบโตได้อย่างโดดเด่น ซึ่งมาพร้อมกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรง แต่คำถามคือ ระยะข้างหน้า บริษัทเหล่านี้จะยังทำผลงานได้ดีต่อเนื่องหรือไม่ แล้วราคาหุ้น ณ ปัจจุบันเต็มมูลค่าหรือยัง ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปหาคำตอบกัน
อภิวัฒน์ น้าประทานสุข ผู้บริหารกลยุทธ์ด้านการลงทุน ธนาคารทหารไทยธนชาต ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวมีมุมมองค่อนข้าง ‘เป็นกลาง’ ต่อหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการลงทุนมากนัก โดยเฉพาะในหุ้นกลุ่มวัคซีนที่ราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยบวกไปค่อนข้างมากแล้ว และตอบรับต่อผลประกอบการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
แม้ว่าจะยังมีความกังวลในเรื่องของโควิด โดยเฉพาะการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิดสายพันธุ์เดลตา แต่หากอิงจากคำพูดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ยังคงจะดำเนินนโบายผ่อนคลายต่อไป แต่ก็มองว่าเรื่องของโควิดไม่ได้เป็นผลกระทบหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่อย่างใด
“เชื่อว่าหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์น่าจะจบรอบไปแล้ว และเริ่ม Sideway อย่างหุ้น Moderna ที่เริ่มนิ่งหลังจากถูกนำเข้าคำนวณในดัชนี S&P 500 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่านักลงทุนควรจะหันกลับมาโฟกัสการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจหลังจากนี้ ซึ่งก็เริ่มเห็นเม็ดเงินไหลกลับมายังหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจอีกครั้ง เช่น กลุ่มพลังงานหรือการเงิน ส่วนนักลงทุนที่ยังถือหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ ตอนนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีในขายทำกำไร”
ทั้งนี้ จะเห็นว่าราคาหุ้นในกลุ่มผู้ผลิตวัคซีนในระยะหลังเริ่มชะลอตัวลง ในมุมนี้ วิน พรหมแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มองว่า เป็นเพราะการผลิตและจำหน่ายวัคซีนโควิดในระยะที่ผ่านมาไม่ได้คิดกำไรมากนัก แต่ละบริษัทได้รายได้เพิ่มขึ้นจริงแต่กำไรอาจจะยังไม่สูง
“เดิมทีคาดว่าเมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย หลายบริษัทจะเริ่มปรับโมเดลเพื่อทำกำไรเพิ่มขึ้น แต่การระบาดของโควิดระลอกใหม่ทำให้การปรับโมเดลธุรกิจเพื่อทำกำไรเพิ่มขึ้นยังต้องเลื่อนออกไปอีก”
ที่ผ่านมาราคาหุ้นของผู้ผลิตวัคซีนเหล่านี้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร โดยเฉพาะหุ้นอย่าง Moderna ซึ่งได้สะท้อนปัจจัยบวกเรื่องวัคซีนโควิดไปค่อนข้างมาก แต่หากมองภาพรวมของบริษัทกลุ่มเฮลท์แคร์ในระยะยาว ส่วนตัวเชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตได้ต่อ เพราะยังมีส่วนย่อยอื่นๆ ในอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ ไบโอเทค การวิจัยเกี่ยวกับยีนส์
“การลงทุนในหุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ยังน่าสนใจในระยะยาว แต่เวลานี้เป็นภาพของการดูจังหวะระหว่างการปรับฐานมากกว่า เพราะเมื่อปีก่อนราคาหุ้นกลุ่มนี้วิ่งขึ้นมาสูง หากมีการปรับฐานลงอีกถัดจากนี้ก็อาจเป็นจังหวะลงทุนเพิ่ม”
กองทุนหุ้นเฮลท์แคร์ยังให้ผลตอบแทนในระดับ 10-20% สำหรับปี 2564 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งหนุนจากหุ้นกลุ่มผู้ผลิตวัคซีนที่ยังปรับตัวขึ้นได้ โดยเฉพาะหุ้นอย่าง Moderna และ BioNTech ที่ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นกว่า 200% ในปีนี้
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ