×

ตำรวจจับขบวนการส่งลิงก์ปลอม หลอกเป็นธนาคาร ปล่อยสัญญาณผ่านเสาปลอม ความเสียหายกว่า 175 ล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
25.05.2023
  • LOADING...
False Base Station

วันนี้ (24 พฤษภาคม) ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวน สอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมด้วย บช.สอท. ตัวแทนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงความคืบหน้าขบวนการส่งข้อความสั้น (SMS) ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงินเพื่อหลอกดูดเงินผู้เสียหาย

 

พล.ต.ท. วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อจากขบวนการส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นธนาคารกสิกรไทย หลอกดูดเงินผู้เสียหาย ซึ่งขบวนการดังกล่าวกำลังแพร่ระบาดพบข้อมูลระบบการรับแจ้งความออนไลน์ห้วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2566 มีการแจ้งความออนไลน์รวมค่าความเสียหาย 175,159,482 บาท จึงได้เร่งรัดสืบสวน โดยร่วมสืบสวนและวิเคราะห์ข้อมูลกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อหาตัวกลุ่มขบวนการที่กระทำความผิด 

 

กระทั่งพบว่าคนร้ายจะกระทำโดยนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถแล้วขับออกไปยังสถานที่ต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยหากรถแล่นผ่านไปทางใดก็จะส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง แล้วส่ง SMS ในลักษณะลิงก์ปลอม อ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน กรมสรรพากร การไฟฟ้า เป็นต้น 

 

พล.ต.ท. วรวัฒน์กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้อุปกรณ์ดังกล่าวถูกใช้บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านและส่งสัญญาณในประเทศไทย ทำให้ไทยใช้มาตรการควบคุมสัญญาณให้อยู่ในรัศมีวงจำกัด มิจฉาชีพจึงต้องนำเข้าเครื่องดังกล่าวเข้ามาในประเทศโดยตรงแทน

 

อย่างไรก็ตาม หากประชาชนหลงเชื่อและกดลิงก์ดังกล่าว ก็จะถูกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องระยะไกล โดยสามารถโอนเงินจากบัญชีธนาคารที่เครื่องโทรศัพท์นั้นติดตั้งแอปพลิเคชันประเภท Mobile Banking 

 

ในเบื้องต้นตำรวจสามารถจับกุม สุขสันต์ อายุ 40 ปี กับพวก รวม 6 คน ขณะที่รถกำลังแล่นออกไปเพื่อส่งสัญญาณ ตรวจยึดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมอุปกรณ์ 4 ชุด

 

ผู้ต้องหาสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การรับว่าได้รับการติดต่อว่าจ้างจากคนรู้จักที่ทำงานอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะได้ค่าจ้างสำหรับการวิ่งส่งสัญญาณเดือนละ 80,000 บาท ซึ่งเครื่องดังกล่าวนั้นสามารถส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้วันละ 20,000 หมายเลขต่อเครื่อง โดยรับเข้ามา 4 เครื่อง ซึ่งตนกับพวกไม่มีความรู้เชิงลึกในการใช้อุปกรณ์ มีหน้าที่เพียงกดเปิดเชื่อมต่อสัญญาณ ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์โทรศัพท์ผู้เสียหาย แต่เป็นการใช้วิธีดักสัญญาณจากเสาจริง

 

ด้าน พล.ต.ต. วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. เปิดเผยว่าอุปกรณ์ ‘Stingray’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปลอมเสาสัญญาณและส่ง SMS ให้กับผู้เสียหาย ปกติจะถูกใช้กรณีเกิดภัยพิบัติที่สัญญาณมือถือไม่สามารถใช้การได้ และไว้เป็นช่องทางสื่อสารถึงผู้ประสบภัย หรือใช้ในหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา ในการดักรับข้อมูล เนื่องจากเป็นเสาสัญญาณที่มีขนาดเล็กสามารถหลอกให้มือถือในพื้นที่มาเชื่อมต่อกับเสาสัญญาณดังกล่าวได้ อีกทั้งสามารถตั้งค่าชื่อผู้ส่งเป็นหน่วยงานต่างๆ ได้ 

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทาง  FBI ของสหรัฐฯ ได้ประสานตำรวจ บช.สอท. ให้สืบสวนหลังมีข้อมูลว่าอุปกรณ์ชนิดดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก และยังพบว่าถูกใช้ในการส่งลิงก์เว็บไซต์พนันออนไลน์ 

 

พล.ต.ต. วิวัฒน์กล่าวต่ออีกว่า จากนี้จะต้องส่งหนังสือสอบถามไปที่หน่วยงานทหารว่าอุปกรณ์นี้ถูกใช้ในกิจการทหารหรือเป็นยุทธภัณฑ์หรือไม่ หากเป็นก็จะมีการแจ้งข้อหาผู้ต้องหาเพิ่ม

 

ด้าน ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการรักษาราชการแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า อุปกรณ์ดังกล่าวมีกฎหมายห้ามนำเข้า บุคคลทั่วไปไม่อนุญาตให้ใช้ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ

 

พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาทำ ทางเครือข่ายจะไม่ทราบว่ามีการส่ง SMS ออก เนื่องจาก SMS เหล่านี้ไม่ได้ผ่านเสาสัญญาณเครือข่ายโดยตรง แต่เป็นการส่งออกจากเสาปลอม

 

ส่วน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์กล่าวว่า จากการสืบสวนเบื้องต้น กลุ่มผู้ต้องหาจะมีเพิ่มจากนี้หรือไม่อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลต่อ โดยฐานข้อมูลหลักของกลุ่มนี้อยู่ที่ต่างประเทศ เข้ามาปฏิบัติการเฉพาะอุปกรณ์ ซึ่งมีมูลค่าหลักล้านบาทต่อเครื่อง 

 

เบื้องต้นแจ้งข้อหา 1. ร่วมกันทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498

 

  1. ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498

 

  1. ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67 (3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม

 

  1. เป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X