‘ฉีดวัคซีนกี่เข็มก็ติด’ อาจเป็นความจริงในระลอกของโอมิครอน ยิ่งในช่วงนี้สายพันธุ์ BA.5 กำลังระบาดเพิ่มขึ้น คนใกล้ตัวที่ฉีดวัคซีนแล้วต่างก็ติดโควิดกัน แต่ก็เป็นความจริงที่วัคซีน ‘เข็มกระตุ้น’ ยังป้องกันอาการป่วยรุนแรงได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงเชิญชวนประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้ว เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนหรือติดต่อสอบถามโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเท่าไร? หากอ้างอิงข้อมูลจากรายงานของสำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ซึ่งศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนต่อสายพันธุ์ BA.2 โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่า
- เข็มที่ 1 ไม่ป้องกันอาการรุนแรง
- เข็มที่ 2 ป้องกันอาการรุนแรง 68.7% แต่เมื่อผ่านไปประมาณ 6 เดือน ประสิทธิผลลดลงเหลือ 49.9% คือแทบไม่สามารถป้องกันได้เลย
- เข็มที่ 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเป็น 87.3% และค่อยๆ ลดลงตามระยะเวลา โดยหลังฉีดวัคซีน 2 เดือน ป้องกันอาการรุนแรง 70%
ส่วนประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ BA.5 การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ‘ไม่แตกต่าง’ จากสายพันธุ์ BA.1 หรือ BA.2 อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นตัวเลขน่าจะใกล้เคียงเดิม นั่นหมายความว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นยังป้องกันอาการรุนแรงถึงแม้ไวรัสจะกลายพันธุ์ต่างไปจากเดิม ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เข้ารับเข็มกระตุ้นห่างจากเข็มที่ 2 อย่างน้อย 3 เดือน
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
อ้างอิง:
- COVID-19 vaccine surveillance report: Week 27 (7 July 2022): https://www.gov.uk/government/publications/covid-19-vaccine-weekly-surveillance-reports
- COVID-19 vaccination: a guide to booster vaccination for individuals aged 18 years and over and those aged 16 years and over who are at risk: https://www.gov.uk/government/publications/covid-19-vaccination-booster-dose-resources/covid-19-vaccination-a-guide-to-booster-vaccination-for-individuals-aged-18-years-and-over