https://www.youtube.com/watch?v=baP5pppRvl8
“เตรียมคำถามไว้หน่อย จะได้สัมภาษณ์เขาแบบหนึ่งต่อหนึ่ง”
ทีมงาน Under Armour ประเทศไทยกำชับกับเรา เมื่อบอกข่าวดีว่า THE STANDARD จะได้รับโอกาสพิเศษให้สัมภาษณ์นักบาสเกตบอลระดับหัวแถวของวงการในเวลานี้อย่าง สตีเฟน เคอร์รี เจ้าของแชมป์ NBA 3 สมัย และผู้เล่นทรงคุณค่าหรือ MVP 2 สมัยล่าสุด
การเดินทางมาฟิลิปปินส์ของนักบาสวัย 30 ปีนับเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งเหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะบาสเกตบอลเป็นกีฬายอดฮิตของคนฟิลิปปินส์อย่างมาก
THE STANDARD เดินทางพร้อมกับทีมงาน Under Armour ประเทศไทย และสื่อจากอินโดนีเซีย ถึงกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันที่ 6 กันยายน ก่อนจะใช้เวลาเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติ Ninoy Aquino ถึงที่พักในย่าน Taguig โซนใจกลางเมืองของกรุงมะนิลา เป็นเวลาทั้งหมด 2 ชั่วโมง พร้อมกับฝนที่ดูเหมือนจะตกทั่วฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
2 ชั่วโมงผ่านไป เราเดินทางถึงที่พักและรับประทานอาหารค่ำก่อนที่แยกย้ายกันพักผ่อนเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจสำคัญคือการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับ สตีเฟน เคอร์รี
“ตัวจริงเขาจะเป็นยังไงนะ” คือความคิดสุดท้ายก่อนที่วันที่ 6 กันยายนจะจบสิ้นลง
เสียงนาฬิกาปลุกโทรศัพท์ดังขึ้นพร้อมๆ กับแสงพระอาทิตย์ที่ปรากฏตัวบ่งบอกว่าวันที่ 7 กันยายนได้เดินทางมาถึงแล้ว ซึ่งเราเชื่อว่าแฟนกีฬาบาสเกตบอลในกรุงมะนิลาก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกที่ตื่นเต้นไม่แพ้กับทีมสื่อมวลชนที่จะเดินทางเข้าสัมภาษณ์นักบาสเกตบอลระดับโลกที่ Kerry Sports ศูนย์ออกกำลังกายในกรุงมะนิลา
ช่วงเช้าเราเดินทางเข้าสู่สนามฝึกซ้อมที่เต็มไปด้วยสื่อมวลชนเดินทางมารอเข้าชมการฝึกซ้อมของเคอร์รี โดยครั้งแรกที่เดินทางมาถึงสนามบาสเกตบอล ก็สังเกตเห็นนักบาสความสูง 191 เซนติเมตร ที่สามารถทำลายกำแพงความสูงในการเล่นบาสเกตบอลอาชีพ NBA อยู่ตรงหน้าเรา
เคอร์รีซ้อมชู้ต 3 แต้มอย่างหนักโดยไม่สนใจเสียงรอบข้าง หรือแม้แต่สื่อมวลชนหลายสิบชีวิตที่พยายามเก็บภาพเขาขณะฝึกซ้อมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาฝีมือ แม้ว่าจะเดินทางมาทัวร์ในภูมิภาคเอเชียครั้งนี้ก็ตาม
เวลา 15 นาทีของเราหมดลง และทีมงานประชาสัมพันธ์ก็ได้เดินมาแจ้งกับสื่อจาก 4 ประเทศที่ได้สิทธิ์เข้าสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ทั้งจากฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และไทย ซึ่ง THE STANDARD ได้รับโอกาสให้เป็นตัวแทนสื่อมวลชนจากประเทศไทยด้วย
ผู้สื่อข่าวทุกชาติแยกย้ายกันไปท่องลิสต์คำถามที่ผ่านการอนุญาตจากทีมงาน ก่อนที่จะถึงคิวของไทยแลนด์
ในห้องสัมภาษณ์ เราพบกับ สตีเฟน เคอร์รี แบบระยะประชิดอยู่ตรงหน้า
“สวัสดีนิคยินดีที่ได้รู้จัก”
เป็นคำแรกที่เคอร์รีหันมาทักทายก่อนที่เจ้าหน้าจะเตือนทันทีว่า 5 นาทีของคุณได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
“มะนิลาดูแลคุณอย่างไรบ้างตั้งแต่มาถึง” คือคำถามแรกที่เรายิงใส่เคอร์รีเสมือนเป็นการต้อนรับสู่ภูมิภาคอาเซียน
ก่อนจะได้รับคำตอบที่น่าสนใจ หลากหลายมุมมองตลอด 5 นาทีที่ได้สนทนากับเจ้าของรางวัล MVP 2 สมัยล่าสุด
สิ่งที่ค้นพบระหว่างการถามคือ แม้ว่าคำถามที่เราได้ถามอาจเป็นหัวข้อที่เราคาดหวังคำตอบบางรูปแบบจากเขาได้ เช่น อยากเป็นตัวอย่างแบบไหนให้กับเยาวชนในวงการบาสเกตบอล
แม้คำถามจะเบสิกแค่ไหน แต่คำตอบที่เราได้รับกลับเหนือความคาดหมาย เพราะเคอร์รีเลือกที่จะตอบว่าทุกคนไม่เหมือนกัน ทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ เขาเป็นคนที่มีความสุขในสิ่งที่เขาเป็น แต่ก็ยังไม่หยุดพัฒนาตัวเองทุกวัน และนั่นคือตัวอย่างที่เขาต้องการจะเป็นให้กับเยาวชน
“สำหรับผมแล้ว ผมเป็นคนที่มีความมั่นใจและมีความสุขกับสิ่งที่ผมเป็น ทั้งในฐานะนักบาสและคนคนหนึ่ง
“สิ่งที่ผมต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไปคือ ให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เพราะเราแตกต่างกันทุกคน ทุกคนมีฝีมือที่ต่างกัน แต่อยากให้ทุกคนภูมิในสิ่งที่ตัวเป็นและมี พัฒนาปรัชญาการทำงาน พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นทุกวัน เข้าใจว่าเกมบาสเกตบอลสามารถเปิดโอกาสต่างๆ รวมถึงให้คุณเป็นคนที่ดีขึ้นและได้พบเจอกับผู้คนมากมาย”
อีกคำตอบที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษคือ เมื่อเราถามถึงแรงผลักดันในการเล่นบาสเกตบอลของเขาคืออะไร เคอร์รีก็ยอมรับตามตรงว่าเขาเป็นเหมือนคนทั่วไปที่มีความประมาทในบางครั้ง แต่นั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องต่อสู้ทุกวัน เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์และรักษาระดับของความสำเร็จในการแข่งขันบาสเกตบอล NBA ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
“ถ้าคุณลองคิดดูจะเห็นว่าอาชีพนักบาส NBA มีช่วงเวลาที่สั้นมาก ผมกำลังเข้าสู่ปีที่ 10 ถ้าเปรียบเทียบกันในเวลานี้ ก็เหมือนผมอยู่บนยอดภูเขาและพยายามที่จะอยู่บนนี้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความพยายามที่จะสร้างประโยชน์สูงสุดจากช่วงเวลาที่ผมเล่นคือแรงบันดาลใจสำคัญของผม
“ผมเข้าใจดีว่า 2 MVP 3 แชมป์ หรือการแข่งขันรวมดาว All Star เป็นสิ่งที่มากแล้ว แต่ผมก็อยากที่จะเป็นคนโลภและออกไปไล่ล่าสิ่งเหล่านั้นเพิ่มอีกในช่วงเวลาที่ผมสามารถทำได้”
นอกจากนี้เขายังเปรียบเทียบสองกีฬาที่เขาชื่นชอบอย่างบาสเกตบอลและกอล์ฟ โดยดึงสิ่งที่ทั้งสองชนิดกีฬาให้ประโยชน์สำหรับตัวเขาเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ
“ผมจะแข่งขันกับตัวเองเสมอ และในกีฬากอล์ฟ แม้ว่าคุณจะลงสนามแข่งขันกับกลุ่มที่ยอดเยี่ยม แต่คุณจะโฟกัสเพียงแค่ว่าคุณเล่นดีกว่าเมื่อวานนี้หรือไม่ และอะไรที่ทำให้ผมสามารถเล่นได้ดีขึ้น และนั่นคือชุดความคิดที่คล้ายกับเวลาผมเล่นบาสเกตบอล
“ทุกวันคือการวิเคราะห์ตัวเอง หาทางที่คุณสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น และมีเพียงคุณเท่านั้นที่สามารถควบคุมมันได้ และนั่นคือสิ่งที่คล้ายกันระหว่างบาสเกตบอลกับกอล์ฟ คือทุกวันเป็นโอกาสใหม่ ขึ้นอยู่กับคุณจะใช้มันอย่างไร”
จากการค้นหาบทสัมภาษณ์เก่าๆ ของเคอร์รี เราได้ค้นพบว่าเขาเป็นคนที่ถ่อมตัวเสมอ ซึ่งวันนี้เมื่อเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์เขาจริงๆ ก็พบว่า แม้ทุกคนที่เดินทางมาที่นี่จะยกย่องเชิดชูและให้เกียรติเขาขนาดไหน แต่เคอร์รียังคงยึดมั่นกับปรัชญาการทำงาน และใช้ชีวิตเหมือนที่เขาปิดท้ายบทสัมภาษณ์ว่า
“สิ่งสำคัญคือผมพยายามที่จะต่อสู้ความประมาทที่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีทุกวัน และนั่นคือตัวตนของผม”
เราเดินออกจากห้องสัมภาษณ์พร้อมกับความรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สัมผัสกับความคิด และตัวตนของเคอร์รีอย่างใกล้ชิด แม้จะเป็นเวลาเพียง 5 นาทีนิดๆ แต่ก็เป็นความรู้สึกโชคดีไม่น้อยที่ได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่แบบนี้จากทางทีมงาน Under Armour ประเทศไทย ที่ให้เกียรติและไว้วางใจ THE STANDARD ให้มาร่วมทริปในครั้งนี้
แต่การสัมภาษณ์เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกิจกรรมเท่านั้น เพราะหลังจากสัมภาษณ์และแถลงข่าวกับสื่อมวลชนที่ Kerry Sports แล้ว สตีเฟน เคอร์รี ได้ออกเดินทางสู่ SM Mall of Asia เพื่อร่วมทำกิจกรรมและพบปะกับแฟนๆ ชาวฟิลิปปินส์ในช่วงบ่ายอีกด้วย
ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่เราได้พบกับคำตอบของคำถามที่เรามีในใจตั้งแต่ขึ้นเครื่องบินจากไทยว่า ‘ทำไมเคอร์รีต้องมาฟิลิปปินส์’ และ ‘ทำไมนักบาสเกตบอลของฟิลิปปินส์จึงมีความสามารถในระดับหัวแถวของเอเชีย เหนือญี่ปุ่นและจีน มหาอำนาจทางกีฬาในมุมนี้ของโลก’
คำตอบที่ว่านั้นกระจ่างชัดทันทีที่เราเดินเข้าสู่สนาม SM Asia Mall Arena ซึ่งภายในห้องประชุมขนาดใหญ่นี้ได้มีการจัดสนามบาสเกตบอลชั่วคราวขึ้นมาเพื่อต้อนรับไอดอลของพวกเขาเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคอร์รีเคยเดินทางมาฟิลิปปินส์ครั้งแรกเมื่อปี 2015
ทั่วทั้งสนามเต็มไปด้วยวัฒนธรรมรูปแบบของคนรุ่นใหม่ที่กล้าแสดงออก และมีความมั่นใจในตัวเอง บวกกับความหลงใหลในวัฒนธรรมบาสเกตบอล ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสนามเต็มไปด้วยเสื้อสีทองฟ้า เพื่อรอให้การต้อนรับ สตีเฟน เคอร์รี
นักข่าวของอินโดนีเซียที่เดินทางมาฟิลิปปินส์บ่อยครั้งได้เล่าให้ THE STANDARD ฟังว่า เกือบทุกปีฟิลิปปินส์จะต้อนรับนักกีฬาระดับหัวแถวของ NBA ตลอด ซึ่งทุกครั้งที่พวกเขาปรากฏตัว แฟนบาสชาวฟิลิปปินส์ก็จะแสดงออกถึงความหลงใหลในตัวของนักกีฬาอย่างบ้าคลั่ง
และแล้วเวลาที่ทุกคนรอคอยก็มาถึง เมื่อ สตีเฟน เคอร์รี เปิดตัวกลางฮอลล์อย่างยิ่งใหญ่ ท่ามกลางเสียงเชียร์ทั้งสนามที่ดังลั่นไม่ต่างจากคอนเสิร์ตที่ทุกคนรู้จักเนื้อร้องทุกเพลงของศิลปินคนนั้น
เคอร์รีทักทายแฟนกีฬาพร้อมกับร่วมกิจกรรมต่างๆ กับนักบาสในระดับเยาวชน ซึ่งมีทีมตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขัน และสามารถคว้ารองแชมป์บาสเกตบอล 3×3 ประเภทชายได้อีกด้วย
พร้อมกันนั้นบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเคอร์รีมาเป็นเวลา 30 ปี เดลล์ เคอร์รี พ่อของสตีเฟน เคอร์รี ก็เดินลงสู่สนามพร้อมกับเสียงปรบมือจากแฟนๆ ชาวฟิลิปปินส์
ภายในสนามที่เต็มไปด้วยคุณพ่อชาวฟิลิปปินส์ที่มีความฝันจะได้เห็นไอดอลของพวกเขาในระยะประชิด และยังหวังจะส่งเสริมลูกของตัวเองไปสู่การเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลอาชีพ พิธีกรจึงตั้งคำถามกับเดลล์ เคอร์รีว่า “เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลระดับ NBA”
คำตอบของเดลล์เหมือนกับลูกชายวัย 30 ปีของเขา ที่ให้แง่คิดและมุมมองในการปรับใช้ได้กับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายที่มีเป้าหมายเดียวกัน
“คุณต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา เส้นทางสู่ NBA นั้นไม่ง่าย คุณต้องทำให้พวกเขารู้สึกกระหายตลอดเวลา สอนพวกเขาว่าทุกอย่างที่เขาต้องการในชีวิตต้องแลกมันมาด้วยอะไรบางอย่างเสมอ”
การเดินทางของทีมงานจบลงด้วยการถ่ายภาพร่วมกับสตีเฟน เคอร์รี และทีมงาน Under Armour ประเทศไทย ที่ช็อป Under Armour ในกรุงมะนิลา ก่อนที่เราจะเดินทางออกจากรุงมะนิลาในวันที่ 8 กันยายนกลับสู่กรุงเทพมหานคร และนั่งบันทึกภาพความทรงจำในรูปแบบของตัวอักษรจนกลายเป็นบทความนี้ในที่สุด
ทริปนี้ของ THE STANDARD คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากขาดโอกาสจาก Under Armour ประเทศไทย ที่ให้เกียรติกับทีมงานอย่างมาก ทาง THE STANDARD จึงขอขอบคุณสำหรับโอกาสในครั้งนี้ รวมถึงขอขอบคุณเพื่อนร่วมเดินทางทุกคนที่ช่วยให้งานครั้งนี้สำเร็จออกมาด้วยดี และหวังว่าในอนาคตเราจะได้มีโอกาสร่วมงานกันอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า