×

“ของทุกอย่างบนโลกนำกลับมาใช้ใหม่ได้” ความเชื่อของ Stella McCartney แบรนด์แฟชั่นรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวจริง

07.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • Stella McCartney เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ไม่เคยแตะหนังสัตว์จริง ไม่เคยยุ่งกับขนสัตว์จริง ไม่ว่าจะเป็นคอลเล็กชันเสื้อผ้าผู้หญิง ผู้ชาย หรือเสื้อผ้าเด็ก
  • กระเป๋า Falabella ไม่ได้ทำจากหนังแท้ แต่เป็นหนังเทียมทั้งใบ แถมด้านในยังบุด้วยผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิล
  • สเตลล่าตั้งเป้าให้แบรนด์เลิกใช้ผ้าไนลอนบริสุทธิ์ภายในปี 2020 และเปลี่ยนไปใช้ผ้าไนลอน ECONYL® ที่นำพลาสติกเหลือใช้จากอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งตาข่ายจับปลาในทะเลมารีไซเคิล แล้วนำไปทอใหม่เป็นผ้าไนลอนที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับไนลอนทั่วไป

 

Photo: static.com

 

ในขณะที่วงการแฟชั่นกำลังหันมาสนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วยแถลงการณ์ยุติการใช้ขนสัตว์จริงในคอลเล็กชัน แต่แบรนด์แฟชั่นชั้นสูงจากอังกฤษอย่าง Stella McCartney กลับยึดหลักการนี้มาตั้งแต่คอลเล็กชันแรกในปี 2001 จนถึงปัจจุบัน

 

Stella McCartney เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ไม่เคยแตะหนังสัตว์จริง ไม่เคยยุ่งกับขนสัตว์จริง ไม่ว่าจะเป็นคอลเล็กชันเสื้อผ้าผู้หญิง ผู้ชาย หรือเสื้อผ้าเด็ก เพราะความเชื่อของดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ที่เป็นมังสวิรัติอย่าง สเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์ ที่ทำให้แบรนด์มีดีเอ็นเอที่ชัดเจนและเป็นที่นิยมจนถึงทุกวันนี้

 

Photo: vanityfair.com

 

The Beginning

สเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์ น่าจะเป็นดีไซเนอร์ที่เอ่ยชื่อแล้วคุ้นหูทั้งคนในวงการแฟชั่นและคนที่ไม่มีความรู้ด้านแฟชั่นเท่าไร เพราะเธอคือลูกสาวของร็อกสตาร์ตัวจริง พอล แม็กคาร์ตนีย์ และที่แน่ๆ พ่อลูกคู่นี้ก็เป็นมังสวิรัติ ทั้งยังเป็นตัวแทนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด นั่นเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สเตลล่าเลือกทำแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงที่มีจุดมุ่งหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย

 

หลังจากเรียนจบแฟชั่นจาก Central Saint Martins สเตลล่าเคยรับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้กับแบรนด์ Chloé ก่อนจะออกมาสร้างแบรนด์ของตัวเองร่วมกับบริษัทพาร์ตเนอร์ Kering (Gucci, Yves Saint Laurent, Balenciaga, Alexander McQueen, Bottega Veneta และอื่นๆ) และสร้างคอลเล็กชันแรกภายใต้แบรนด์ Stella McCartney ในปี 2001 เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันโตขึ้นมาในฟาร์มออร์แกนิก เราเลี้ยงแกะ และไม่เคยฆ่ามันสักตัว เราตัดขนมันเอามาทำพรม ฉันถูกเลี้ยงมากับอะไรแบบนี้ มันปลูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้นฉันจะไม่ทำงานที่ตัวเองต้องพูดอย่างทำอย่างแน่นอน”

 

หลายคนบอกฉันว่า ถ้าไม่ใช้หนังแท้ เธอขายกระเป๋าไม่ได้หรอก เพราะหนังแท้คือความหรูหรา สำหรับฉันมันตรงกันข้ามเลย หนังแท้เป็นวัสดุที่ดูไร้ราคามาก สัตว์กว่า 50 ล้านตัวต่อปีต้องถูกฆ่าเพื่อมาทำกระเป๋าแฟชั่น อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าหรูเลย

 

 

The Icon

Stella McCartney คือแบรนด์กระเป๋าที่ผู้หญิงหลายๆ คนมี หรือหากไม่มี แต่พอเห็นแล้วต้องร้องอ๋ออย่างกระเป๋า Falabella ที่มีจุดเด่นเป็นขอบโซ่รอบใบ มีหลายขนาดให้ผู้ใช้งานเลือกได้ตามใจชอบ และแน่นอนว่า Falabella ก็ไม่ได้ทำจากหนังแท้ แต่เป็นหนังเทียมทั้งใบ แถมด้านในยังบุด้วยผ้าที่ทำจากขวดพลาสติกรีไซเคิลอีกด้วย

 

สเตลล่าเคยพูดขำๆ กับสื่อในงานเปิดตัวคอลเล็กชัน Pre-Summer 2015 ที่มิลานว่า “กระเป๋าพวกนี้ทำจากหนังแท้ทั้งหมด อย่าบอกใครนะ เพราะฉันเริ่มรู้สึกว่าพวกของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมันน่าเบื่อแล้ว” แต่เธอก็รีบเสริมต่อทันทีว่าพูดเล่น “เราใช้ไขมันเคลือบพืชผักตามธรรมชาติมาเป็นวัสดุหลัก ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนก่อนจะนำมารวมกับวัสดุอื่นๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เอาจริงๆ ผู้หญิงกว่าครึ่งที่นี่ยังอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระเป๋าพวกนี้ไม่ใช่หนังแท้”

 

Stella McCartney Spring 2018

 

The Material

ตั้งแต่ปี 2013 Stella McCartney ปฏิเสธการใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในทุกรูปแบบ และเริ่มใช้ Alter-nappa ในการผลิตกระเป๋าและรองเท้า ซึ่ง Alter-nappa คือวัสดุที่ใช้ทดแทนหนังแท้ ทำจากโพลีเอสเตอร์และโพลียูรีเทน เคลือบด้วยไขมันพืชจากธรรมชาติ 50% ส่วนเสื้อผ้าที่มีการใช้ขนสัตว์ปลอม Stella McCartney จะติดป้าย Fur-Free-Fur ด้านนอกของเสื้อผ้า เพื่อประกาศตัวว่าไม่ใช่ขนสัตว์จริง

 

แม้กระทั่งผ้าที่ใช้ในการผลิตโดยทั่วไป ทางแบรนด์ Stella McCartney ก็ใส่ใจด้วยการคิดค้นเทคนิคต่างๆ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ผ้าไนลอน ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นร้อยปีกว่าจะย่อยสลายได้ Stella McCartney ก็ได้ตั้งเป้าให้แบรนด์เลิกใช้ผ้าไนลอนบริสุทธิ์ภายในปี 2020 และเปลี่ยนไปใช้ผ้าไนลอน ECONYL® ที่นำพลาสติกเหลือใช้จากอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งตาข่ายจับปลาในทะเลมารีไซเคิล แล้วนำไปทอใหม่เป็นผ้าไนลอนที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับไนลอนทั่วไป

 

ในส่วนของผ้าไหมก็เช่นเดียวกัน Stella McCartney เลือกที่จะใช้ผ้าไหมจากเมืองโคโม ประเทศอิตาลี ซึ่งไม่เหมือนผ้าไหมทั่วไป เพราะเป็นผ้าไหมที่ผสมกับ Peace Silk ที่จะปล่อยให้ดักแด้กลายเป็นผีเสื้อกลางคืนให้เรียบร้อยก่อนจะนำรังไหมไปทำเป็นผ้าไหม ในขณะที่ผ้าไหมโดยปกติจะต้องฆ่าไหมเพื่อเอาใยมาใช้

 

Stella McCartney Winter 2018

 

ในปี 2017 ที่ผ่านมา Stella McCartney ได้ร่วมมือกับ Bolt Threads ซึ่งเป็นผู้ผลิตสิ่งที่เรียกว่า Microsilk ลอกเลียนแบบผ้าไหมจริงๆ ทั้งยังทนทานกว่า และถ้าการร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ประสบความสำเร็จก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เพราะ Microsilk ไม่ทำร้ายสัตว์ มีการใช้ปริมาณปิโตรเลียมที่จำกัด และไม่อาศัยพื้นที่ป่าหรือน้ำในการผลิตอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การเลือกทางเดินเพื่อสิ่งแวดล้อมแบบนี้ก็ค่อนข้างยากในการผลิต ทั้งเรื่องวัสดุและขั้นตอนที่ต้องมั่นใจว่าแบรนด์จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Eco-friendly อย่างแท้จริง เพื่อเน้นย้ำความตั้งใจของแบรนด์ Stella McCartney จึงร่วมสนับสนุนการวิจัยเพื่อหาวัสดุที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายครั้ง

 

 

The Movement

สเตลล่าพูดมาตลอดว่าความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคืออนาคตของอุตสาหกรรมแฟชั่น และแนวนิยมนี้ก็เริ่มเป็นจริงขึ้นเรื่อยๆ เพราะแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงหลายๆ แบรนด์ได้ตัดสินใจร่วมมือกับ PETA โดยเลิกใช้ขนสัตว์จริงในการผลิต ซึ่งถือว่าขัดต่อความเชื่อของความหรูหราของแบรนด์แฟชั่นชั้นสูงก่อนหน้านี้

 

สเตลล่าเคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เอาไว้ “หลายคนบอกฉันว่า ถ้าไม่ใช้หนังแท้ เธอขายกระเป๋าไม่ได้หรอก เพราะหนังแท้คือความหรูหรา สำหรับฉันมันตรงกันข้ามเลย หนังแท้เป็นวัสดุที่ดูไร้ราคามาก สัตว์กว่า 50 ล้านตัวต่อปีต้องถูกฆ่าเพื่อมาทำกระเป๋าแฟชั่น อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าหรูเลย”

 

 

นอกจากสินค้าที่เน้นย้ำความตั้งใจดังกล่าวแล้ว เธอยังมีโปรเจกต์และกิมมิกน่ารักๆ เพื่อโปรโมตแบรนด์และแนวคิด Eco-friendly อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การร่วมงานกับแบรนด์กีฬา Adidas (ใช่แล้ว Adidas by Stella McCartney) เพื่อผลิตรองเท้าหนัง Stan Smith โดยใช้หนังเทียมคู่แรก หรือเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Stella McCartney ได้แจกถุงเท้าให้กับผู้ที่เข้าไปชมโชว์คอลเล็กชัน Fall 2018 ซึ่งไม่ใช่ถุงเท้าธรรมดา แต่เป็นถุงเท้าที่ใช้ใยรีไซเคิล 85% และไม่มีการใช้สารเคมี การย้อมสี หรือการใช้สารฆ่าแมลงใดๆ ในการผลิตเลย เพราะเธอเชื่อว่าไม่ควรมีสิ่งของใดบนโลกที่เหลือใช้ เราควรจะนำมันกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกอย่าง

 

 

Stella McCartney เคยได้รับทั้งรางวัล H&M Conscious Award, Special Recognition Award For Innovation และอีกมากมายจากความแตกต่างของแบรนด์ที่ไม่เหมือนใครในวงการแฟชั่น บอกได้เลยว่าแม้ Stella McCartney จะเน้นคาแรกเตอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เอาเข้าจริง คอลเล็กชันของแบรนด์ก็ขายได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว เพราะความเรียบง่าย ความเท่ของโครงสร้างชุด ผสมกับความเฟมินีนของเนื้อผ้าและโทนสี นี่คือหัวใจหลักที่ทำให้ Stella McCartney กลายเป็นแบรนด์ที่คู่ควรกับการชื่นชมทั้งในด้านของดีไซน์และคุณค่าของแบรนด์

 

FYI
  • Stella McCartney เริ่มต้นทำแบรนด์ในคอลเล็กชันแรกกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ Kering ซึ่งเธอยืนยันตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะต้องแบ่งกำไรแบบ 50-50 และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา เธอได้ซื้อกิจการอีก 50% จาก Kering และกลายเป็นเจ้าของแบรนด์เต็มตัว หลังการเป็นพาร์ตเนอร์กันมานานถึง 17 ปี
  • หน้าร้านของ Stella McCartney เลือกใช้ไม้ที่ได้รับการยืนยันจาก FSC หรือ Forest Stewardship Council ว่ามาจากป่าที่ถูกควบคุมดูแลอย่างยั่งยืน ไฟแต่งร้านเป็น LED ซึ่งใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไฟธรรมดา 75% และมีอายุการใช้งานนานกว่า 25 เท่า รวมถึงสำนักงานหลักและร้านสาขาในประเทศอังกฤษยังใช้พลังงานสีเขียวด้วยการใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้า โดยได้ความร่วมมือจาก Ecotricity บริษัทพลังงานแบบยั่งยืนในอังกฤษ
  • สเตลล่า แม็กคาร์ตนีย์ และคุณพ่อพอล แม็กคาร์ตนีย์ ร่วมกันก่อตั้ง Meat Free Monday ในประเทศอังกฤษ สนับสนุนให้คนไม่รับประทานเนื้อสัตว์ในวันจันทร์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories