×

‘หุ้นเหล็ก’ ร่วงกราว หลังนายกรัฐมนตรีสั่งดูแลราคาขายพุ่ง เผย 4 เดือนดัชนีกลุ่มวิ่งมาแล้ว 100%

27.04.2021
  • LOADING...
‘หุ้นเหล็ก’ ร่วงกราว หลังนายกรัฐมนตรีสั่งดูแลราคาขายพุ่ง เผย 4 เดือนดัชนีกลุ่มวิ่งมาแล้ว 100%

ตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงขณะนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมากที่สุดคือ กลุ่มเหล็ก (Steel) ซึ่งดัชนีกลุ่มวิ่งขึ้นมาถึง 109.5% และในช่วงครึ่งวันทำการแรกของวันนี้ (27 เมษายน) ดัชนีของหุ้นกลุ่มเหล็กยังคงปรับขึ้นได้ต่ออีก 6.2% 

 

ภายใต้การปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงของหุ้นกลุ่มเหล็ก มีหุ้นในกลุ่มที่สามารถวิ่งขึ้นเกิน 100% ถึง 11 บริษัท ได้แก่ 

 

  • บมจ.ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ (TGPRO) +400%
  • บมจ.ซีเอสพี สตีลเซ็นเตอร์ (CSP) +349%
  • บมจ.สามชัย สตีล อินดัสทรี (SAM) +236%
  • บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN) +226%
  • บมจ.โพสโค-ไทยน๊อคซ์ (INOX) +214%
  • บมจ.จี เจ สตีล (GJS) +206%
  • บมจ.ทาทา สตีล (TSTH) +182%
  • บมจ.เพิ่มสินสตีลเวิคส์ (PERM) +173%
  • บมจ.มิลล์คอน สตีล (MILL) +137%
  • บมจ.เดอะ สตีล (THE) +116%
  • บมจ.ไทยไวร์โพรดัคท์ (TWP) +116%

 

(*หมายเหตุ: อิงจากราคาปิด ณ วันที่ 26 เมษายน 2564)

 

อย่างไรก็ดี หลังเปิดตลาดหุ้นช่วงบ่าย ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก

 

“นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาเหล็กทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้ได้กระทบต่อผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำเข้า ส่งออกเหล็ก เข้าไปดูแลปัญหาในระยะที่ตลาดมีความผันผวน และให้สื่อสารกับผู้ประกอบการว่าขณะนี้เกิดปัจจัยเสี่ยงใดขึ้นบ้าง ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้น-ระยะยาวอย่างไร เพื่อลดผลกระทบต่อผลประกอบการและการจ้างงาน” ไตรศุลี กล่าว

 

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มเหล็กในช่วงบ่ายกลับดิ่งลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้หุ้นเหล็กหลายบริษัทที่บวกขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงเช้าของเมื่อวานนี้ (27 เมษายน) พลิกกลับมาปิดตลาดในแดนลบของวันที่ระดับ

 

  • TGPRO -7.50%
  • CSP -5.11%
  • SAM +0.63%
  • CEN -4.08%
  • INOX -4.44%
  • GJS ไม่เปลี่ยนแปลง
  • TSTH +1.59%
  • PERM -8.20%
  • MILL -13.89%
  • THE -1.26%
  • TWP -0.46%

 

ภาดล วรรณรัตน์ มองว่าการปรับตัวลงของราคาหุ้นกลุ่มเหล็กเกิดจากการที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณแตะเบรกราคาเหล็กในประเทศ หากราคายังขึ้นไปมากกว่านี้ ซึ่งเป็น Sentiment เชิงลบต่อหุ้นเหล็ก

 

“แน่นอนว่าหากมีการควบคุมราคาขายเหล็กในประเทศ จะเป็นลบต่อหุ้นเหล็ก โดยเฉพาะหากต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าขึ้นตามไม่ได้ สุดท้ายแล้วเชื่อว่าภาครัฐคงต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้ประกอบการและบริษัทภาครัฐ”

 

เชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มเหล็กจะผันผวนต่อไปในช่วงนี้ เพราะในส่วนของผลประกอบการไตรมาส 1 และไตรมาส 2 น่าจะยังดี แต่หลังจากนั้นจะเริ่มมี Margin ลดลง เนื่องจากธุรกิจเหล็กในไทยเป็นธุรกิจกลางน้ำ ซึ่งจะได้ประโยชน์มากในช่วงแรกที่ราคาเหล็กเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นบริษัทจะมีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นเช่นกัน 

 

“นักลงทุนที่ถือหุ้นกลุ่มเหล็กและมีกำไรอยู่ก่อนแล้ว อาจจะทยอยแบ่งขายส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะถือต่อเพื่อรอผลประกอบการที่น่าจะยังดีในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ในขณะที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มจะผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นควรลงทุนด้วยเม็ดเงินจำกัด และมีการตั้งจุดตัดขาดทุนไว้ด้วย”

 

กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน-กลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า หุ้นกลุ่มเหล็กในขณะนี้เป็นภาวะของการเก็งกำไรเป็นหลัก หลังจากที่ราคาเหล็กปรับขึ้นมาต่อเนื่องจากดีมานด์ที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก และซัพพลายที่หดหายไปบางส่วน ขณะเดียวกันผลประกอบการของ TSTH ซึ่งรายงานออกมาก่อนหน้านี้และมีกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดด (+1,200%) ส่งผลให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ทำการประเมินในเชิงปัจจัยพื้นฐานสำหรับหุ้นกลุ่มเหล็ก ทั้งนี้แนะนำให้นักลงทุนรอติดตามผลประกอบการไตรมาสแรกว่าจะออกมาดีอย่างที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ ขณะเดียวกันควรติดตามแนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกว่าจะยังดีต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส 2 หรือไม่

 

“กลยุทธ์การลงทุนสำหรับหุ้นกลุ่มเหล็ก หากเข้าเก็งกำไรควรจะมีจุดถอย และตั้งจุดตัดขาดทุนสำหรับหุ้นแต่ละตัว” 

 

ข้อมูลจาก Trading Economics ระบุว่า ราคาเหล็กในตลาดโลกพุ่งขึ้นแตะระดับ 189 ดอลลาร์ต่อตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขณะที่สถิติสูงสุดของราคาเหล็กโลกอยู่ที่ราว 195 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2551 

 

ทั้งนี้ในช่วงที่อุตสาหกรรมเหล็กตกต่ำ ราคาเหล็กเคยลดลงไปต่ำสุดที่ราว 65 ดอลลาร์ต่อตันในช่วงต้นปี 2559 

 

Zhuo Guiqiu นักวิเคราะห์ของ Jinrui Capital เปิดเผยผ่าน Reuters ว่า ราคาเหล็กที่ปรับเพิ่มขึ้นได้แรงหนุนจากการขาดแคลนเหล็กคุณภาพระดับกลางและระดับสูง และแม้แต่ราคาเหล็กคุณภาพต่ำก็ยังปรับตัวขึ้นจนสูงกว่าราคาของเหล็กตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเช่นกัน

 

ขณะที่ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในจีน และความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมการผลิต ทำให้ราคาเหล็กล่วงหน้าในจีนปรับขึ้นทำจุดสูงสุดเป็นประวัติกาล นอกจากราคาเหล็กที่ปรับขึ้นแล้ว จะเห็นว่าราคาทองแดงและอะลูมิเนียมยังปรับขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน 

 

ด้าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประเมินแนวโน้มของ TMT ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำหุ้นกลุ่มเหล็กของไทย โดยคาดว่าราคาขายสินค้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน และช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยังปรับตัวขึ้นต่ออีก 13% จากเดือนก่อนหน้า 

 

ราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทปรับขึ้นสูงกว่าปกติอย่างมาก และหนุนกำไรสุทธิทั้งปี 2564 มีโอกาสทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 1.14 พันล้านบาท +113% จากปีก่อน จากราคาขายเฉลี่ยที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 38% เป็น 26.5 บาทต่อกิโลกรัม และคาดปริมาณขายไว้ที่ 8.2-8.4 แสนตัน และคาดอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยเท่ากับ 11.1% เพิ่มจาก 8.7% ในปี 2563

 

ทั้งนี้ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประเมินราคาพื้นฐานของ TMT ที่ 14.30 บาท อิงค่า P/E เฉลี่ย 13.5 เท่า และคาดอัตราเงินปันผลราว 8.1% ในปีนี้ ส่วนราคาหุ้นของ TMT ในวันนี้ปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 15 บาท 

 

ส่วนแนวโน้มตลอดทั้งไตรมาส 2 คาดว่าราคาเหล็กมีโอกาสปรับขึ้นต่อจนถึงไตรมาส 3 เนื่องจากยังมีการสะสมสต๊อกทำให้ฝั่งอุปสงค์แข็งแกร่ง ขณะที่อุปทานไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นช่วงไตรมาส 2 จะยังอยู่ในระดับสูงมาก แต่อาจจะอ่อนตัวลงจากไตรมาสแรก เพราะต้นทุนวัตถุดิบก็สูงขึ้นเช่นกัน ส่วนปริมาณขายน่าจะอ่อนลงตามปัจจัยฤดูกาลจากช่วงวันหยุดยาว

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising