×

‘ซิโน-ไทยฯ’ ปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ ตั้งโฮลดิ้ง ‘สเตคอน กรุ๊ป’ ทำ Tender Offer แลกหุ้น เปิดทางลุยธุรกิจใหม่ ‘นอกกลุ่มรับเหมา’

19.08.2024
  • LOADING...
ซิโน-ไทย

หลังจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการ และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนการปรับโครงสร้าง โดย STEC ดำเนินการจัดตั้งบริษัทมหาชนจำกัด ภายใต้ชื่อ บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company)

 

โดยบริษัทโฮลดิ้งยื่นขออนุญาตเบื้องต้นเกี่ยวกับแผนการปรับโครงสร้าง และการจดทะเบียนให้หลักทรัพย์ของบริษัทโฮลดิ้งเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แทนหลักทรัพย์ของ STEC และตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความเห็นชอบเบื้องต้นแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567

 

ภาคภูมิ ศรีชำนิ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อนุญาตให้บริษัทโฮลดิ้งหรือ STECON เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ พร้อมทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ STEC แล้ว และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ พร้อมการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer ) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งจะดำเนินการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ STEC จากผู้ถือหุ้นของ STEC โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้งในอัตราการแลกหุ้น (Share Swap Ratio) 1 หุ้นสามัญของ STEC ต่อ 1 หุ้นสามัญของบริษัทโฮลดิ้ง

 

โดยระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม – 21 ตุลาคม 2567 เป็นระยะเวลา 45 วันทำการ

 

สำหรับผู้ถือหุ้นที่มีความประสงค์แลกหุ้น สามารถดำเนินการยืนยันการใช้สิทธิ์ผ่านตัวแทนหลักทรัพย์ของท่าน และผ่านระบบออนไลน์ E-Tender Offer ซึ่งเป็นระบบของ Tender Agent โดยผู้ถือหุ้นสามารถศึกษารายละเอียดขั้นตอนการตอบรับคำเสนอซื้อผ่านทาง www.stecon.co.th 

 

ทั้งนี้ ภายหลังการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์เสร็จสิ้น STEC จะดำเนินการเพิกถอนหุ้นของตนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทโฮลดิ้งจะเข้าจดทะเบียนแทนที่หุ้นของ STEC ในวันเดียวกัน และบริษัทจะเปลี่ยนชื่อย่อหลักทรัพย์ (Ticker) เป็น STECON โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2567

 

สำหรับประโยชน์ที่ผู้ถือหุ้น STEC จะได้รับจากการแลกหุ้นในครั้งนี้ ประกอบด้วย

 

  1. ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นในบริษัทโฮลดิ้งที่มีสภาพคล่อง ที่ตอบรับคำเสนอซื้อจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน ทั้งในรูปแบบของเงินปันผล (Dividend Yield) และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) จากผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทโฮลดิ้ง ที่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในอนาคตของบริษัทโฮลดิ้ง

 

  1. ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ และได้รับยกเว้นค่าอากรแสตมป์สำหรับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น

 

  1. บริษัทโฮลดิ้งจะเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ผู้ถือหุ้นที่ตอบรับคำเสนอซื้อสามารถซื้อขายหุ้น มีสภาพคล่องในการซื้อขาย และมีราคาอ้างอิงตามราคาตลาด

 

ภาคภูมิกล่าวอีกว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและเติบโตอย่างต่อเนื่องนอกเหนือจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ เพิ่ม เช่น ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง เพื่อกระจายความเสี่ยงและต่อยอดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจเดิม คือรับเหมาก่อสร้าง ผ่านการร่วมลงทุนกับพันธมิตร เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการร่วมมือ (Synergy) และสร้างรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว (Recurring Income)

 

อีกทั้งยังสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและพันธมิตรทางธุรกิจให้ร่วมลงทุนเฉพาะธุรกิจที่สนใจและมีความชำนาญ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น ตลอดจนสามารถแบ่งแยกและจำกัดความเสี่ยงแต่ละธุรกิจได้ดีกว่าโครงสร้างกิจการในปัจจุบัน เนื่องจากธุรกิจใหม่ที่คาดว่าจะลงทุนในอนาคต อาจมีลักษณะและปัจจัยความเสี่ยงที่แตกต่างจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จึงจำกัดความเสี่ยงการลงทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และไม่ส่งผลต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นธุรกิจหลักในปัจจุบัน เพื่อสร้างการเติบโตและผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว

 

ภายหลังจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้น สามารถแบ่งประเภทการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจหลัก 2. กลุ่มธุรกิจอื่น โดยมีรายละเอียดดังนี้ กลุ่มธุรกิจหลักแบ่งออกเป็น

 

  1. ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
  2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานและพลังงาน
  3. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นประกอบด้วยธุรกิจที่มีความสามารถในการเติบโตสูง

 

ขณะที่การดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัทโฮลดิ้ง มีเป้าหมายลงทุนในธุรกิจที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ และรองรับแผนการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยมีแผนลงทุนในธุรกิจที่สร้าง Recurring Income และธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง (New S-Curve) เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ไปยังธุรกิจอื่น นอกเหนือจากธุรกิจวิศวกรรมและก่อสร้างเดิม ซึ่งคาดว่าสัดส่วนรายได้ในธุรกิจใหม่ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเห็นการเติบโตอย่างโดดเด่น และมีสัดส่วนอย่างมีนัยสำคัญต่อกลุ่มบริษัท เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่นักลงทุนอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

 

“การปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความคล่องตัวในการบริหารและการลงทุน รวมถึงการเติบโตในระยะยาว โดยเรามองเห็นโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีอัตราการเติบโตสูง ช่วยต่อยอดความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มบริษัท และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (Capital Gain) โดยบริษัทโฮลดิ้งจะเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ผู้ถือหุ้นที่ตอบรับคำเสนอซื้อ สามารถซื้อขายหุ้นได้ มีสภาพคล่องในการซื้อขาย และมีราคาอ้างอิงตามราคาตลาด” ภาคภูมิกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising