Spatial Computing, Climate Tech และการประยุกต์ใช้ AI คือประเภทธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ที่ถูกนำเข้ามาอยู่ในลิสต์ ‘Request for Startups’ (RFS) ซึ่ง Y Combinator ศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพชื่อดังระดับโลก เป็นผู้ประกาศออกมา
การออก RFS เป็นเหมือนธรรมเนียมของ Y Combinator ที่มีมาตั้งแต่ปี 2009 เพื่ออัปเดตเทรนด์ในโลกของสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมน่าลงทุน โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดก่อนสัปดาห์ที่แล้วเกิดขึ้นเมื่อปี 2018 แต่หลังจากที่ประชุมกัน Y Combinator ก็ได้อัปเดตรายชื่ออุตสาหกรรมที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งที่โลกต้องการในอนาคต และเป็นสิ่งที่ศูนย์บ่มเพาะอยากผลักดันให้เกิดการใช้งานขึ้นจริง หมายความว่าสตาร์ทอัพที่เข้ามาทำเรื่องเหล่านี้ก็มีสิทธิ์มากกว่าที่จะได้เงินระดมทุนจากนักลงทุนไป
แม้ว่าการระบาดของโควิดจะจบลงไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพก็ยังคงพัฒนาต่อ โดยสำหรับในฟากของสตาร์ทอัพ Y Combinator มองว่าพวกเขาควรเน้นโฟกัสไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีกลุ่มดังนี้
- เทคโนโลยีที่หาทางรักษาโรคมะเร็ง
- เทคโนโลยีที่สร้างโมเดลพื้นฐานทางชีววิทยา
- เทคโนโลยีที่สร้างระบบบริหารจัดการองค์กรบริการสุขภาพ
- เทคโนโลยีที่ลดหรือจำกัดคนกลางในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ
อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าเข้ามาเปลี่ยนโลกของเราไปอย่างมากใน 1 ปีเศษๆ ที่ผ่านมา และจะไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นก็คือ AI ซึ่งก็ถูกแบ่งออกเป็นหลายแขนงเช่นเดียวกัน
- การใช้งานเชิงประยุกต์ของ Machine Learning กับหุ่นยนต์
- การใช้งาน Machine Learning เพื่อเสริมประสบการณ์บนโลกความจริง
- ปัญญาประดิษฐ์ที่อธิบายความคิดตัวเองได้ (Explainable AI)
- LLMs สำหรับช่วยแก้ปัญหางานหลังบ้านในบริษัทแบบดั้งเดิมที่ยังอาศัยระบบ Manual
- การใช้ AI เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถปรับแต่งตามกระบวนการทำงานขององค์กรอย่างเฉพาะตัวมากขึ้น
- การใช้ AI สร้างระบบวางแผนทรัพยากรในองค์กร (ERP)
ต่อมา เทรนด์ที่ฮือฮาเมื่อเร็วๆ นี้จากการเปิดตัว Vision Pro อย่าง ‘Spatial Computing’ ก็อยู่ในเรดาร์ของอุตสาหกรรมที่ Y Combinator มองว่าควรค่าแก่ความสนใจ
สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่น่าจับตาจะประกอบไปด้วย การทำระบบกลาโหมแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยี สตาร์ทอัพเกี่ยวกับอวกาศ และสตาร์ทอัพที่สามารถดึงฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ ได้
อย่างไรก็ตาม คริปโตเคอร์เรนซีที่เคยมาแรงมากในปี 2021-2022 กลับไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในลิสต์ดังกล่าว นอกจากในส่วนที่เรียกว่า Stablecoin Finance ซึ่งเป็นการออกเหรียญดิจิทัลที่ถูกตรึงมูลค่าโดยเงินรัฐบาล เช่น เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ
แน่นอนว่าลิสต์ RFS ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าสตาร์ทอัพที่นอกเหนือจากนี้จะไม่มีสิทธิ์ได้เงินทุน เพียงแต่ RFS เป็นแค่แนวทางว่าตอนนี้นักลงทุนกำลังมองหาธุรกิจแบบไหนในสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการจะต้องเตรียมตัวหรือปรับกลยุทธ์อย่างไร เพื่อให้ธุรกิจของตัวเองเตะตานักลงทุนได้
“โลกของเรามีคนเก่งมากมาย เราหวังเพียงว่าลิสต์ที่เราทำขึ้นจะเป็นสิ่งที่พอสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการออกมาทำในสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับโลกได้” Dalton Caldwell ระบุไว้ในจดหมายแถลงการณ์
ภาพ: Melpomenem / Getty Images
อ้างอิง: