×

ปกป้องเอกราชทางดิจิทัล’ สมาคมสตาร์ทอัพไทยยื่นหนังสือ กมธ. ดีอีเอส ชงเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ หนุนสตาร์ทอัพไทย

25.12.2019
  • LOADING...
สมาคมสตาร์ทอัพไทย

ปัญหาการจัดเก็บภาษีกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันสักระยะแล้ว เนื่องจากช่องโหว่ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นส่งผลให้ประเทศไทย ‘เสียเปรียบ’ อย่างมหาศาล 

 

ที่สำคัญผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยในบางอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ตัวอย่างเช่น กรณีที่ Alibaba เตรียมจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในไทย และได้รับการยกเว้นภาษี 14 วัน หรือการที่ผู้ประกอบการโรงแรมบางรายเสียเปรียบในการทำธุรกิจจากการที่แพลตฟอร์มตัวกลางบางเจ้าเข้ามาให้บริการ 

 

ไม่ใช่แค่นั้น เพราะนอกจากผู้ประกอบการในไทยหลายเจ้าจะได้รับผลกระทบแล้ว ‘สตาร์ทอัพไทย’ ก็เป็นอีกหนึ่งในผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อมองจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในปัจจุบัน ไม่มีแพลตฟอร์มหรือบริการที่เกิดขึ้นจากสตาร์ทอัพสัญชาติไทย และสามารถเข้ามามีบทบาทในระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศ และชีวิตประจำวันของคนไทยได้เลย

 

วันนี้ (25 ธันวาคม) สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) จึงได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุม พร้อมยื่นหนังสือให้คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ. ดีอีเอส) พิจารณาการหาทางออกในการวางนโยบายแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย รวมถึงป้องกัน ‘เอกราชทางดิจิทัล’ ของประเทศ

 

ตามข้อร้องเรียนของสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ระบุว่า ปัจจุบันนโยบายการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย ไม่ตอบโจทย์การเป็นผู้ประกอบการเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยไม่สามารถแข่งขันกับนานาชาติภายในประเทศของตนเองได้ ส่งผลให้ทรัพยากรในประเทศและข้อมูลของคนไทยรั่วไหลเป็นจำนวนมาก

 

โดยได้นำเสนอ 3 นโยบายที่ควรมีการ ‘ปรับแก้’ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพสัญชาติไทย ประกอบด้วย

 

1. นโยบายกระตุ้นการใช้บริการสตาร์ทอัพไทย: รณรงค์ให้เกิดนโยบาย ‘กินของไทย ใช้ของไทย’ สำหรับสตาร์ทอัพ เช่น ผู้ใช้บริการสตาร์ทอัพไทยสามารถขอเงินคืนเหมือนนโยบายชิมช้อปใช้ได้, สนับสนุนให้ทุกกระทรวงใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของสตาร์ทอัพไทยที่น่าจะเหมาะกับกระทรวงนั้นๆ อย่างน้อยกระทรวงละหนึ่งสตาร์ทอัพ, จับคู่สตาร์ทอัพไทยกับเอกชน, Open API ทำ Startup SandBox และ Startup Matching Fund

 

2. นโยบายเพิ่มข้อได้เปรียบในการทำการค้าสำหรับสตาร์ทอัพไทย: มีกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ให้บริการของต่างประเทศ และลดภาษีสตาร์ทอัพผู้ให้บริการของไทย (ถ้าไม่สามารถเก็บจากแพลตฟอร์มต่างประเทศได้ ก็ต้องงดเว้นการจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มของไทยเพื่อให้การแข่งขันเท่าเทียมกัน), ลดภาษีสำหรับสตาร์ทอัพ ที่ดึงรายได้จากต่างประเทศเข้าประเทศ (สนับสนุนสตาร์ทอัพเปิดตลาดต่างประเทศ หรือให้กองทุนกู้ยืมจดทะเบียนในต่างประเทศ)

 

3. นโยบายปลดล็อกทางกฎหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการสตาร์ทอัพ: สนับสนุนให้เกิดการนำข้อเสนอทางกฎหมายที่ได้เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ ไปใช้จริง เช่น ESOP, Convertible Note, Capital Gain Tax Exemption และ Vesting 

 

พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการที่รัฐบาล ‘วางเงินไม่ถูกจุด’ ในการสนับสนุนภาคสตาร์ทอัพของไทย เนื่องจากมองว่าการทำนวัตกรรมคือ ‘สินค้า’ แต่ลืมไปว่าธุรกิจแพลตฟอร์มคือ ‘Trading Service’ ที่สำคัญรูปแบบกฎหมายต่างๆ ในไทยก็ไม่เอื้อผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศอีกด้วย (แพลตฟอร์มต่างประเทศบางรายไม่ต้องเสียภาษี)

 

“เราบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศได้ เพราะรัฐมีอำนาจทางกายภาพกับคนทุกคนในประเทศ แต่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจากต่างประเทศไม่มีกายภาพในการทำธุรกิจในไทย รัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เรื่องภาษีอาจจะแก้ยากเพราะติดข้อจำกัดเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ

 

“เกมตอนนี้จึงต้องตั้งคำถามใหม่ว่า ในฐานประเทศไทยเราจะสามารถมีการแข่งขันในระดับนานาชาติหรืออาเซียนได้อย่างไร ถ้า Go-Jek หรือ Traveloka สามารถเข้ามาให้บริการในไทยได้ ทำไมเราไม่สร้างบริการไปกินตลาดในต่างประเทศเอาคืนเขาบ้าง รัฐต้องคิดเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ

 

“ผมเชื่อว่าการกระตุ้นให้คนไทยใช้แพลตฟอร์มไทย แล้วข้อมูลวิ่งอยู่ในประเทศไทย นอกจากจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจดิจิทัลไทยแล้ว สตาร์ทอัพไทยก็จะโตขึ้นจากจำนวนผู้ใช้งาน และส่งผลให้เงินลงทุนตามมา การเจริญเติบโตที่จะช่วยให้ไปทำตลาดในต่างประเทศก็ง่ายขึ้นด้วย โดยขั้นตอนต่อจากนี้คงต้องให้เวลาคณะกรรมาธิการศึกษาหนังสือที่ได้มีการยื่นไป”

 

ด้าน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สภาชุดนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวเป็นอย่างมาก การให้สมาคมเข้ามานำเสนอเรื่องนี้เป็นผลมาจากการที่มติในที่ประชุมมีแนวคิดในการจัดเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างชาติ

 

“หลังจากที่ได้พูดคุยหารือกับทางสมาคมสตาร์ทอัพไทยแล้วก็พบว่า ปัญหาเรื่องการเก็บภาษีจากแพลตฟอร์มต่างชาติเป็นเพียงแค่มิติเล็กๆ แต่มิติที่มากกว่าคือ ‘การสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย’ โดยหนังสือที่ทางสมาคมนำมายื่นให้กับทางคณะกรรมาธิการจะถูกนำเข้าไปศึกษาในที่ประชุม เพื่อให้มีการศึกษากันในลำดับต่อไป” ปกรณ์วุฒิ กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising