×

เมื่อสตาร์ทอัพเผาเงินไม่ได้อีกต่อไป ‘กำไร’ ต้องมา ผ้า (จาก VC) ถึงจะหลุด

12.05.2023
  • LOADING...
สตาร์ทอัพ

HIGHLIGHTS

7 min read
  • วงการสตาร์ทอัพกำลังเจอกับความจริงรูปแบบใหม่ เมื่อการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการล้มของ Silicon Valley Bank ทำนักลงทุนกังวล ส่งผลให้สตาร์ทอัพต้องทบทวนกลยุทธ์เผาเงินที่อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป
  • บรรยากาศผิดกับปี 2021 เมื่อบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาถูกปรับลดมูลค่าบริษัทลงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เงินระดมทุนที่ได้มาต่ำกว่าเป้ากระทบแผนการใช้จ่ายในธุรกิจ
  • การล่มสลายของ Silicon Valley Bank ธนาคารที่เป็นหัวใจหลักของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความมั่นใจของนักลงทุนให้ต่ำลงไปอีก
  • บลูบิค กรุ๊ป มองว่าสตาร์ทอัพที่ยังจำเป็นจะต้องเผาเงินจะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก จากผู้ร่วมทุนที่ลดความเสี่ยงโดยมุ่งไปหาสินทรัพย์อื่นที่ให้ความอุ่นใจมากขึ้น แต่สตาร์ทอัพที่มีแผนการสร้างกำไรอย่างชัดเจนจะสามารถอยู่ต่อได้
  • ในส่วนของไทยนั้น ผลสำรวจโดยสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยพบว่า การขาดแคลนเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจยังคงเป็นปัญหาอันดับ 1 แม้จะมีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนก็ตาม แต่เป็นเพียงในระยะแรกๆ เท่านั้น

การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในแวดวงธุรกิจสตาร์ทอัพ

Silicon Valley แหล่งฟักฟูมสตาร์ทอัพอันดับ 1 ของโลกกำลังเผชิญกับความจริงรูปแบบใหม่ จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2021 หลังมีกระแสข่าวการเพิกถอนเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพหลายเจ้าจากสภาพคล่องในตลาดที่กำลังลดลง 

 

นักลงทุนสายสตาร์ทอัพเริ่มมีความระมัดระวังในการเลือกลงทุนมากขึ้น จากจุดยืนที่ชัดเจนว่าบริษัทประเภทนี้ไม่สามารถจะดำเนินธุรกิจต่อไปโดยไม่สร้างผลกำไรได้อีกแล้ว สืบเนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนติดต่อกันมาหลายปี เพราะการใช้จ่ายอย่างมหาศาลหรือแบบเผาเงิน (Burn Cash) ที่มุ่งเน้นให้สตาร์ทอัพเติบโตและแย่งเอาส่วนแบ่งตลาดมาให้ได้มากที่สุด แม้จะแลกมาด้วยการขาดทุนในช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ตาม

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

การเติบโตถือเป็นสิ่งที่ทำให้บริษัทสตาร์ทอัพแตกต่าง โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี จึงทำให้นักลงทุนและเหล่า Venture Capital (VC) พยายามเทเงินมาให้สตาร์ทอัพ แม้บริษัทไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินในจำนวนที่มากขนาดนั้นก็ตาม ทว่า ณ ตอนนั้นการเติบโตคือหัวใจสำคัญ สตาร์ทอัพต้องทำอย่างไรก็ได้ให้โตได้แรงและมีส่วนแบ่งตลาดให้มากกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการผลาญเงินไปกับเร่งการจ้างงาน การตลาด พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่รู้ว่าการใช้เงินในอัตราเร่งแบบนั้นจะไม่สามารถทำได้ในระยะยาว

 

ในปี 2021 เงินทุนที่มาจาก VC หรือบริษัทร่วมลงทุนที่ถูกจัดตั้งมาเพื่อช่วยสนับสนุนเงินทุนกับกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 6.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นจำนวนที่มากกว่า 2 เท่าของปี 2020 โดยมีสัดส่วนของเงินลงทุนในบริษัทสหรัฐฯ กว่าครึ่งของทั้งหมด มียูนิคอร์นสตาร์ทอัพเกิดขึ้นมากมาย ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก่อนปี 2021 โดยเฉลี่ยแล้วมียูนิคอร์นเกิดขึ้นประมาณ 150 บริษัทต่อปี แต่ในปี 2021 ทุกๆ ไตรมาสของปีมียูนิคอร์นเกิดขึ้นมากกว่าทั้งปีของปีก่อนๆ ที่ผ่านมา

 

สตาร์ทอัพ

มูลค่าของบริษัทที่ได้รับเงินลงทุน VC ในสหรัฐฯ ปี 2021 มีมูลค่าเป็น 2 เท่าของปี 2020 

https://drive.google.com/file/d/1FmyafGEFNqHs7uT7ll190mFQ8ql6rGE2/view?usp=share_link 

 

อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่กำลังเข้าสู่ขาลงพร้อมกันกับต้นทุนการเงินที่สูงขึ้น การเติบโตและส่วนแบ่งตลาดจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักอีกต่อไป การประเมินถึงความน่าดึงดูดในการลงทุนสตาร์ทอัพ โดยอ้างอิงจากความสามารถในการสร้างรายได้แบบก้าวกระโดด อาจไม่เพียงพออีกต่อไปที่จะจูงใจให้คนมาลงทุนเพิ่ม

 

Kyle Standford นักวิเคราะห์อาวุโสของ PitchBook บริษัทจัดทำข้อมูลบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ กล่าวถึงบรรยากาศการลงทุนที่กำลังเปลี่ยนไปว่า นักลงทุนระมัดระวังและไตร่ตรองมากขึ้นก่อนตัดสินใจทำข้อตกลงกับสตาร์ทอัพ

 

สตาร์ทอัพกำลังเข้าสู่สภาวะเงินทุนขาดแคลน

จากการที่นักลงทุนปรับลดความเสี่ยงในการเลือกลงทุน Kyle คาดว่าผู้ที่จะลงทุนกับสตาร์ทอัพต่อไปในอนาคตจะต้องการการประเมินมูลค่าบริษัทที่สะท้อนกับความเป็นจริงกับสภาพตลาดมากกว่านี้ เนื่องจากสภาพคล่องขาดแคลนและผลกำไรของสตาร์ทอัพที่ไม่สอดคล้องกับราคาหุ้นที่สูงในช่วงยุคเงินสร้างง่าย

 

เมื่อสตาร์ทอัพมีความต้องการเงินทุน แต่นักลงทุนก็ยังไม่มั่นใจกับมูลค่าของบริษัท จึงเกิดสิ่งที่ในแวดวงการลงทุนเรียกว่า Down Round คือการที่บริษัทต้องการระดมทุนเพิ่ม โดยขายหุ้นให้นักลงทุนหน้าใหม่ในราคาที่ต่ำกว่าการระดมทุนครั้งก่อน จากการที่มูลค่าบริษัทถูกลดลง เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดและเงินทุนที่หาได้ยากขึ้น แต่นี่ถือเป็นสัญญาณถึงความอ่อนแอของบริษัท เพราะไม่สามารถทำตามแผนที่วางไว้จากการระดมทุนครั้งก่อนได้ 

 

ในปี 2022 Masayoshi Son ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท SoftBank หนึ่งในผู้ผลักดันสตาร์ทอัพหลายเจ้าสู่ยูนิคอร์น กล่าวถึงการลดเงินลงทุนกว่า 50% ทำให้สตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยอาจต้องถูกขายทอดตลาดหรือปิดกิจการ หากไม่มีแผนธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรที่ชัดเจน 

 

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทำให้บริษัทต่างๆ ต้องคิดทบทวนกลยุทธ์ใหม่ การเติบโตในอนาคตจะไม่ใช่การเติบโตแบบไม่คำนึงถึงสิ่งที่ต้องแลกมา แต่จะเป็นการเติบโตที่มีรูปแบบสมเหตุสมผล โดยคำนึงถึงความสมดุลของความเสี่ยงและโอกาส ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและพนักงานบางส่วนจะต้องถูกตัดออกเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น เพื่อพยายามรักษาทรัพยากรเงินทุนที่ยังเหลืออยู่ให้ถูกใช้ไปในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด

 

Silicon Valley Bank เส้นเลือดใหญ่ทางการเงินของสตาร์ทอัพแตก สั่นคลอนความเชื่อมั่น

บทความของ The Verge สำนักข่าวที่เน้นเนื้อหาไปด้านข่าวเทคโนโลยี อธิบายถึงความสัมพันธ์ของ Silicon Valley Bank (SVB) และบริษัทสตาร์ทอัพว่า SVB คือตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากต่อความสำเร็จของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี โดย SVB เคยกล่าวว่าตนคือ “คู่ขาทางการเงินของบริษัทที่ผลิตนวัตกรรม” และ “ธนาคารทางเลือกหลักของนักลงทุน” มีบริษัท VC มากกว่า 2,500 รายที่ใช้บริการของธนาคาร รวมถึงผู้บริหารหลายคนในแวดวงธุรกิจเทคโนโลยี ตัวอย่างรายชื่อ 5 สตาร์ทอัพรายใหญ่ที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับ SVB

 

  1. Roku: จำนวนเงินฝาก 487 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 26% ของสินทรัพย์ประเภทเงินสด
  2. iRhythm Technologies: จำนวนเงินฝาก 54.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 26% ของสินทรัพย์ประเภทเงินสด
  3. Oncorus: จำนวนเงินฝาก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23% ของสินทรัพย์ประเภทเงินสด
  4. BILL Holdings: จำนวนเงินฝาก 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12% ของสินทรัพย์ประเภทเงินสด
  5. Sangamo Therapeutics: จำนวนเงินฝาก 34.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11% ของสินทรัพย์ประเภทเงินสด

 

แต่ที่น่าตกใจคือธนาคารใหญ่อันดับ 16 ในสหรัฐฯ ตามข้อมูลนิตยสาร The Verge นั้นตกอยู่ในสภาวะที่ไม่มีเงินสดเพียงพอต่อความต้องการถอนของลูกค้า (Bank Run) ภายในแค่เวลา 48 ชั่วโมง

 

สาเหตุของการล่มสลายครั้งนี้มาจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ส่งผลให้สินทรัพย์อย่างพันธบัตรระยะยาว และตราสารหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage-Backed Securities) ที่แม้จะเป็นประเภทสินทรัพย์ที่ถือว่าความเสี่ยงต่ำ แต่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่สูง แปลว่าถ้าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น มูลค่าสินทรัพย์ประเภทนี้จะลดลง ซึ่งนั่นคือปัญหาที่เกิดขึ้นกับธนาคาร SVB เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ธนาคารถือครองในสัดส่วนที่มากจากจำนวนสินทรัพย์ทั้งหมด ทำให้มูลค่าสินทรัพย์โดยรวมของธนาคารดิ่งฮวบ

 

ท่ามกลางความหวาดกลัวนี้ นักลงทุนจึงพากันแห่ถอนเงินเป็นจำนวนมากถึง 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.4 ล้านล้านบาท) ในเวลาแค่ 1 วัน มากกว่าเกือบ 2 เท่าตัวของมูลค่าเงินฝากสูงที่สุดในไตรมาส 3 ปี 2021 ที่ประมาณ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

สตาร์ทอัพ

การเปลี่ยนแปลงมูลค่าการฝาก-ถอนเงินของ Silicon Valley Bank รายไตรมาส ตั้งแต่ปี 2019

https://drive.google.com/file/d/1lLfFMb4Xjma2C8j2sOB2kGEgHYAxOJ3e/view?usp=share_link 

 

เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของกระแสเงินจากที่เคยไหลเข้า กลับไหลออกในช่วงไตรมาส 2 ปี 2022 เมื่อดอกเบี้ยเริ่มเข้าสู่ขาขึ้น VC ก็เริ่มชะลอการลงทุนในสตาร์ทอัพ ในขณะที่สตาร์ทอัพก็กำลังดึงเงินฝากออกจากธนาคารเพื่อนำไปใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ปริมาณเงินที่ถูกถอนออกจากธนาคาร SVB มากกว่าจำนวนเงินที่เข้ามา ธนาคารจึงจำเป็นที่จะต้องยอมขายพันธบัตรในราคาขาดทุน จนในที่สุดพวกเขาก็ไม่สามารถทนต่อความต้องการเงินฝากไว้ของลูกค้าได้อีกต่อไปจนล้มละลาย

 

การที่ SVB ล้ม ณ เวลานั้น สร้างปัญหาอย่างหนักให้กับกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพ เพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ ส่งผลกระทบต่อการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานหลายราย รวมไปถึงผู้ให้บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่ความกังวลต่อระบบนิเวศของวงการสตาร์ทอัพโดยรวมแล้ว

 

ถึงแม้จะมีนโยบายเยียวยาจากภาครัฐ และหน่วยงานคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) ที่สุดท้ายออกมารับประกันเงินฝากให้กับบริษัทที่เป็นลูกค้าของ SVB เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของระบบการเงินก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการล่มสลายของ SVB เป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกหวั่นๆ กับการจะลงทุนในสตาร์ทอัพอย่างน้อยก็ในช่วงนี้ 

 

วิกฤตธนาคาร SVB เปรียบเสมือนการเติมน้ำมันเพิ่มเข้าไปในกองไฟ ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่น ความคิด และความกังวลของนักลงทุนที่ต้องมาตั้งคำถามถึงอนาคตความมั่นคงทางการเงินของสตาร์ทอัพ ทำให้เงินทุนที่สตาร์ทอัพจะได้มานั้นยากขึ้น และพวกเขาจะต้องรอบคอบในการใช้จ่ายเงินที่จำกัดนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ความท้าทายข้างหน้าของสตาร์ทอัพในปี 2023

รายงานล่าสุดโดย PitchBook เผยว่าการลงทุนจากฝั่ง VC ใน 3 เดือนแรกของปี 2023 ลดลงอย่างต่อเนื่อง สตาร์ทอัพกว่า 400 เจ้า หรือจำนวน 1 ใน 3 ของยูนิคอร์น ไม่ได้มีการระดมทุนมาตั้งแต่ปี 2021 แล้ว

 

การระดมทุนจะเป็นไปได้ยากขึ้นสำหรับสตาร์ทอัพ และหลายเจ้าเข้าข่ายเสี่ยงเงินหมด บริษัทอาจจำเป็นต้องระดมทุนผ่าน Down Round ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะนั่นสื่อถึงสถานการณ์ที่ไม่ดีเพราะบริษัทไม่สามารถทำตามแผนได้

 

สตาร์ทอัพเจ้าใหญ่อย่าง Stripe ผู้ให้บริการด้านการชำระเงินออนไลน์ครบวงจรที่เคยมีมูลค่าบริษัทถึง 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และถือเป็นอันดับ 2 ของสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงสุดในสหรัฐฯ เมื่อปี 2021 ได้ยอมจำนนต่อสถานการณ์ โดยถูกประเมินปรับมูลค่าบริษัทลงกว่าครึ่ง หรือราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยพวกเขาสามารถระดมทุนได้เพียง 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อไตรมาส 1 ปี 2023 ตามประกาศของบริษัท

 

โดยภาพรวมแล้ว จำนวนการระดมทุนของสตาร์ทอัพในไตรมาสแรกของปี 2023 นับว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งน้อยกว่าความต้องการเงินทุนไปมาก จากรายงานของ PitchBook บริษัทจัดทำข้อมูลการเงินของบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ประเมินว่าหากสตาร์ทอัพต้องการเงินทุน 3 ดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจะยอมใส่เงินลงทุนเพียงแค่ 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น 

 

สตาร์ทอัพ

มูลค่าเงินลงทุนจาก VC รายไตรมาสตั้งแต่ปี 2021 โดยไตรมาส 1 ระหว่างปี 2022 และ 2023 เงินลงทุนได้หายไปถึง 53% 

https://drive.google.com/file/d/1rJjlF6wBFrH9S4UkPeeEcX6L1ECDtnsJ/view?usp=share_link 

 

Bluebik ชี้สตาร์ทอัพที่เน้น Burn Cash เสี่ยงปิดตัว

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นถึงบรรยากาศการลงทุนสตาร์ทอัพในปัจจุบันว่า ปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้กับการลงทุนสตาร์ทอัพ นอกจากการโยกย้ายเงินทุนเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยจากดอกเบี้ยสูงแล้ว ก็คือแนวโน้มการเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่เป็นเหมือนอุปสรรคอีกชั้นในการระดมทุนของสตาร์ทอัพ บวกกับธรรมชาติของสตาร์ทอัพที่โดยทั่วไปมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อย่างพันธบัตรรัฐบาลที่ก็มีผลตอบแทนน่าดึงดูดมากขึ้น ณ ขณะนี้

 

สำหรับสตาร์ทอัพบางรายที่ยังจำเป็นต้องใช้วิธี Burn Cash เพื่อสร้างฐานลูกค้า และยังไม่มีแผนการทำกำไรที่ชัดเจนในอนาคตจะถูกจัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะนักลงทุนจะเริ่มถอยห่าง ซึ่งสามารถจะนำมาสู่ปัญหาการระดมทุนในรอบถัดๆ ไปได้ หรืออาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง

 

สิ่งจำเป็นในตอนนี้คือสตาร์ทอัพต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยมีแผนธุรกิจที่ไม่ใช่แค่พึ่งพาเงินจากการระดมทุนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีรายได้จากฝั่งลูกค้าด้วย จึงจะมีโอกาสข้ามผ่านสถานการณ์ปัจจุบันไปได้ โดยเกณฑ์ที่สามารถใช้พิจารณาสุขภาพธุรกิจสตาร์ทอัพเบื้องต้นมีดังนี้

 

  • สตาร์ทอัพที่มีกระแสเงินสดเป็นบวกอยู่แล้ว หรือถ้ากระแสเงินสดติดลบอยู่ในตอนนี้ ก็ต้องมีแผนที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้น เช่น ธุรกิจ E-Commerce ที่ใช้งบประมาณในการสนับสนุนงบการตลาดมากเกินไปเพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน หากสามารถปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนตรงนี้ได้ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจที่ทำกำไร
  • Customer Lock-in กลยุทธ์มัดใจลูกค้าที่ชัดเจนเป็นอีกปัจจัยที่แม้บริษัทจะยังมีกระแสเงินสดติดลบ ก็ยังมีแนวโน้มสามารถระดมทุนต่อไปได้ เช่น Exclusive Content ในแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างๆ ที่ลูกค้าชอบและไม่สามารถหาชมจากช่องทางอื่นได้
  • ธุรกิจที่มี Network Effect หรือเครือข่ายที่แข็งแรง เช่น ธุรกิจ Ride Sharing หรือส่งอาหาร ที่มูลค่าความคุ้มค่าของบริการจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้ใช้งาน ถ้าคนใช้เยอะ คนขับและร้านอาหารก็เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจัยต่างๆ ส่งเสริมตัวมันเองและสร้างเป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่ง การที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการอื่นมีเครือข่ายเล็ก เป็นไปได้ยาก ด้วยปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นจากการรอที่นานกว่าของผู้ใช้งาน หรือแรงจูงใจต่างๆ ที่มีให้กับคนขับก็ตาม

 

ผู้ประกอบการยอมรับ เข้าถึงแหล่งเงินยาก-ขาดทักษะ

สำหรับไทยนั้น แม้ปัญหาที่สตาร์ทอัพต้องเจออาจคล้ายคลึงกับในสหรัฐฯ ในแง่ของปัญหาเงินทุนที่ขาดแคลน และแผนการทางธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับการทำกำไรมากขึ้นจากสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้น แต่สภาพแวดล้อมของไทยก็มีข้อแตกต่างและข้อจำกัดของตัวเองอยู่พอสมควร 

 

ชื่นชีวัน อานันโทไทย Co-Founder ของ Globish หนึ่งในผู้ประกอบการสตาร์ทอัพของไทย ให้ความเห็นว่าข้อจำกัดของไทยมี 2 ส่วนหลักคือ 

 

  1. สตาร์ทอัพหาเงินทุนได้ยากขึ้น ตามขนาดของธุรกิจที่ขยายใหญ่ขึ้น 
  2. ศักยภาพความสามารถของตัวสตาร์ทอัพเองที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในแง่ทักษะด้านภาษาที่ใช้เจรจาต่อรองกับต่างประเทศ หรือทักษะความเป็นผู้นำที่จะต้องบริหารทีมที่ขยายอย่างรวดเร็วอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ซึ่งปัจจัยข้อที่ 2 เป็นต้นเหตุของความลังเลจาก VC ที่จะทุ่มเงินลงทุนให้ ดังนั้นทักษะเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาให้ได้ มิเช่นนั้นตัวเองจะกลายเป็นข้อจำกัดของการเติบโตของธุรกิจตัวเอง

 

แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีการสนับสนุนสตาร์ทอัพจากภาครัฐและมีผู้ร่วมลงทุนจำนวนมาก แต่ก็เป็นเพียงการสนับสนุนใน Early Stage (Pre-Seed & Seed) ที่ใช้เงินลงทุนค่อนข้างน้อยเท่านั้น เมื่อธุรกิจขยายและต้องการเงินทุนมากขึ้นผ่านการระดมทุนในรอบอย่าง Series A หรือ B จะหาเงินทุนได้ค่อนข้างยาก ทำให้สตาร์ทอัพที่สามารถตั้งตัวได้แล้วในระดับหนึ่งต้องหันไปพึ่งการระดมทุนจากต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ไทยยังมีเรื่องของขนาดของตลาด (Market Size) ที่ค่อนข้างเล็ก จึงมักถูกมองข้ามโดยนักลงทุน VC ที่นำเงินไปลงทุนในเวียดนามหรืออินโดนีเซียแทนจากแนวโน้มการเติบโตที่มีมากกว่า โดยผลการสำรวจจาก Thai Startup หรือสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เผยถึงข้อจำกัดที่ผู้ประกอบการในไทยต้องเจอดังนี้

 

  • 70.1% ไม่สามารถขยายธุรกิจได้ เพราะขาดเงินทุนที่เพียงพอ
  • 40.2% ขาดบุคลากรที่มีคุณสมบัติ
  • 35.5% โมเดลในการสร้างรายได้ยังไม่น่าดึงดูดพอ
  • 34.6% ผู้บริหารรับบทบาทมากเกินไป และเงินทุนไม่มากพอจะดึงคนเก่งมาร่วมงาน
  • 31.8% พบอุปสรรคด้านกฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ
  • 30.8% พบปัญหาติดขัดในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ
  • 27.1% เจอกับปัญหาการขยายธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

 

แต่ในข้อจำกัดทั้งหมด ไทยก็มีความแตกต่างของตัวเองที่ทำให้วงการสตาร์ทอัพไม่ได้ถูกปั่นป่วนเหมือนในสหรัฐฯ จากการที่สตาร์ทอัพในไทยส่วนใหญ่เป็นประเภทธุรกิจที่ค่อนข้างจับต้องได้ และไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาเป็นจุดขายหรือศูนย์กลางของธุรกิจ แต่เป็นเพียงตัวช่วยในการทำงาน เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ สอนภาษา จองร้านอาหารออนไลน์ เป็นต้น

 

ในอดีตการทำสตาร์ทอัพในไทยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่ ในขณะที่สหรัฐฯ คนทำสตาร์ทอัพคือผู้ที่มีประสบการณ์กับอุตสาหกรรมนั้นๆ มาแล้ว ซึ่งเมื่อมามองกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ชื่นชีวันจึงมองว่าเทรนด์การลงทุนสตาร์ทอัพในอนาคตต่อจากนี้จะเป็นการมองหาบริษัทที่มีความรู้และประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นอยู่แล้ว (Industry Knowledge) ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่มาสืบทอดธุรกิจจากรุ่นพ่อแม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมระบบการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงจากธุรกิจที่รู้กระบวนการทำงานอยู่แล้ว

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน สตาร์ทอัพจึงไม่มีทางเลือกมากนัก แต่ต้องจำใจไปตามทางลมที่เปลี่ยนทิศ โดยหันมาปรับแผนธุรกิจที่มุ่งเน้นความสำคัญไปกับการทำกำไรอย่างยั่งยืนให้มากขึ้น และพัฒนาขีดความสามารถของทีมงาน เพื่อเรียกความมั่นใจจากนักลงทุน และให้สามารถอยู่รอดผ่านพ้นกับความท้าทายครั้งนี้ไปได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising