ความคืบหน้าภารกิจการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ (8 เมษายน) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่ายอดผู้เสียชีวิตขณะนี้เพิ่มขึ้นจาก 17 ราย เป็น 21 ราย ซึ่งร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 4 รายที่พบมาจากบริเวณโซน C ของอาคาร
รศ.ทวิดา กล่าวว่า การรื้อถอนมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะในโซน A ที่สามารถถมดินให้สูงขึ้นจนรถแบ็กโฮสามารถขึ้นไปปฏิบัติงานได้แล้ว และเป้าหมายต่อไปคือการนำรถแบ็กโฮไปยังโซน D ตามที่มีการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติงานออกเป็น 4 ส่วน
ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังนำรถแบ็กโฮไปยังจุด D โดยใช้เทคนิคบีบอัดปูนและตัดเหล็กเส้น เพื่อลดระดับความสูงของจุดยอดสุดลง 5 เมตร เนื่องจากมีการพบผู้สูญหายในบริเวณโซน C และ D เป็นส่วนใหญ่ และเชื่อว่าเป็นจุดที่คนงานจำนวนมากปฏิบัติงานอยู่ระหว่างชั้นที่ 20-30
นอกจากนี้ รศ.ทวิดา ยังกล่าวถึงการเจาะโพรงในโซน C ที่ดำเนินการมาตั้งแต่วันแรก โดยยืนยันว่าจะยังคงแผนนี้ต่อไปจนกว่าความสูงของจุดยอดสุดจะลดลง ซึ่งจากการประเมินร่วมกับคนงานที่รอดชีวิตและวิศวกร เชื่อว่าหากเปิดโพรงนี้ได้สำเร็จ จะพบร่างผู้สูญหายเพิ่มเติม
ในส่วนของการนำรถเครนขนาด 1,000 ตันมาสนับสนุนภารกิจนั้น รศ.ทวิดา ระบุว่า จะนำมาใช้ในการเคลื่อนย้ายวัตถุขนาดใหญ่ เพื่อให้รถแบ็กโฮสามารถบีบอัดปูนและลดระดับความสูงของซากที่ถล่มได้
สำหรับประเด็นความปลอดภัยในการนำรถแบ็กโฮขึ้นไปปฏิบัติงานในพื้นที่สูง รศ.ทวิดา ชี้แจงว่า บริเวณโซน A และ D เป็นด้านที่ไม่มีบันไดหนีไฟ ทำให้มีการประเมินสถานการณ์ตั้งแต่แรกแล้วว่าสามารถใช้เป็นฐานให้รถแบ็กโฮขึ้นไปได้ โดยยืนยันว่าให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับแรก มีการตรวจสอบความหนาแน่นและความปลอดภัยของพื้นผิวก่อนปฏิบัติงาน รวมถึงมีการใช้สุนัข K9 ตรวจสอบแล้วไม่พบผู้ติดค้างในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่จะพบผู้สูญหายเพิ่มเติมระหว่างการเปิดพื้นที่
ในขณะเดียวกัน พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เดินทางลงพื้นที่เกิดเหตุอาคาร สตง. ถล่ม เพื่อประสานงานและรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น โดย DSI เตรียมเชิญ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, กรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมในเวลา 15.00 น. ของวันนี้ เพื่อบูรณาการการเก็บพยานหลักฐานให้มีประสิทธิภาพและตรงประเด็นมากที่สุด
พ.ต.ต. วรณัน เปิดเผยว่า ประเด็นที่ DSI รับผิดชอบนั้นเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติที่อาจเข้าข่ายกฎหมายเกี่ยวกับการเสนอราคา ส่วนความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบหลักฐานไปพร้อมกัน เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่
สำหรับบทบาทของ DSI จะเน้นตรวจสอบในประเด็นกฎหมายเรื่องนอมินีที่เป็นเรื่องของเอกสาร ซึ่งอาจไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอาคารโดยตรง แต่จะตรวจสอบในเรื่องของการแข่งขันราคาที่ไม่เป็นธรรม ว่ามีการลดราคาจนนำไปสู่การใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ รวมถึงประเด็นเรื่องผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรมด้วย