×

ผู้เชี่ยวชาญจากสแตนฟอร์ดชี้ มี 3 สิ่งที่ลูกๆ ต้องการ และพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจใหม่

โดย THE STANDARD TEAM
11.02.2020
  • LOADING...

ปัจจุบันสังคมกำลังหวาดกลัวการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยี เพราะคิดว่ามันจะทำให้เด็กๆ สูญเสียสมาธิ และนำไปสู่ความล้มเหลวในชีวิต จึงเป็นเหตุให้อินเทอร์เน็ตและเกมรับบทเป็น ‘ผู้ร้าย’ ของเรื่องนี้มาโดยตลอด และภาพที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ ก็คือผู้ปกครองชักปลั๊กคอมพิวเตอร์ ปิดอินเทอร์เน็ต หรือยึดคอนโซลเกมของพวกเด็กๆ

 

แต่ท่ามกลางความหวาดกลัวนี้ สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเลยก็คือ ความจริงแล้วเทคโนโลยีไม่ใช่ตัวการของเรื่องนี้หรอก และการบังคับใช้กฎเข้มงวดกับเด็กๆ ก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาเสมอไป ซึ่ง ‘รากเหง้า’ ของสิ่งที่มารบกวนจิตใจพวกเขาต่างหาก ที่จำเป็นจะต้องหาทางแก้ แต่รากเหง้านั้นอยู่ตรงไหนกันแน่?

 

สิ่งที่ผู้ใหญ่อาจไม่เคยรู้เลยนั่นก็คือ ความจริงแล้วเด็กๆ ก็มี ‘ความต้องการทางด้านจิตใจ’ เหมือนกัน

 

เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์เราที่ต้องการแร่ธาตุหรือสารอาหารเพื่อมาหล่อเลี้ยง จิตใจเองก็ต้องการสารอาหารมาหล่อเลี้ยง ซึ่งสารอาหารทางจิตวิทยานี้จะทำให้เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะทำพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ และประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต โดยสารอาหารหลักๆ 3 ประการที่พวกเขาต้องได้รับ ได้แก่

 

อิสรภาพ: อาจจะดูเป็นไอเดียที่น่ากลัวกับการปล่อยให้เด็กๆ ทำอะไรตามใจตัวเอง แต่การให้พวกเขาได้มีอิสระในการควบคุมชีวิตหรือเลือกเส้นทางของตัวเองอาจเป็นเรื่องดีกว่าที่เราคิด มีผลการศึกษาโดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสองคน มาร์เซียลา คอร์เรีย-ชาเวซ (Marciela Correa-Chavez) และบาร์บาร่า โรกอฟฟ์ (Barbara  Rogoff) เผยว่า เด็กชาวมายาที่ได้รับการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อยกว่า จะมีความสนใจและการเรียนรู้ที่ยั่งยืนกว่าเด็กในครอบครัวชาวมายาที่เรียนอย่างเข้มข้นในโรงเรียน

 

นอกจากนี้ ซูซานน์ กาสคินส์ (Suzanne Gaskins) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาอีกคนที่เคยศึกษาหมู่บ้านมายามานานหลายทศวรรษ เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว NPR ว่า ผู้ปกครองชาวมายาหลายคนเลี้ยงลูกให้มีอิสระมากกว่าที่จะบังคับให้อยู่ในกรอบ

 

“แทนที่พวกเขาจะตั้งเป้าหมาย แล้วก็หาสิ่งล่อใจให้เด็กๆ ทำตามเป้าหมายนั้น แต่กลายเป็นว่าพวกเขาให้เด็กๆ กำหนดเป้าหมายด้วยตัวเอง แล้วพวกเขาค่อยสนับสนุนเท่าที่จะทำได้” ซูซานน์กล่าว

 

แต่ในทางกลับกัน โรงเรียนในระบบส่วนใหญ่ของสหรัฐอเมริกาและประเทศอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกันกลับเป็นสถานที่ที่เด็กๆ ไม่ค่อยมีอิสระในการเลือกเส้นทางของตัวเอง โดยโรกอฟฟ์ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เด็กอเมริกันบางคนยอมแพ้ที่จะเลือกทำตามความตั้งใจของตัวเอง เมื่อผู้ปกครองเข้ามาจัดการให้ตลอด

 

แล้วแบบนี้ผู้ปกครองจะทำอย่างไรได้บ้าง? แทนที่จะเป็นคนบังคับให้เด็กๆ อยู่ในกฎระเบียบที่เข้มงวด อย่างการควบคุมการใช้เทคโนโลยี ลองเปลี่ยนมาช่วยให้พวกเขาได้รู้จักการสร้างขอบเขตด้วยตัวเอง ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าทำไมต้องกำหนดเวลาบนหน้าจอ นั่นจะยิ่งทำให้พวกเขาอยากฟังคำแนะนำของเรามากขึ้น

 

ความสามารถ: ลองนึกถึงสิ่งที่เราถนัดดู อย่างการทำอาหารอร่อยๆ สักมื้อ หรือการถอยรถเข้าที่จอดแคบๆ ได้ภายในไม่กี่วินาที อะไรเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีได้มากขึ้นเลยล่ะ และความรู้สึกแบบนี้ก็จะเติบโตไปพร้อมๆ กับความสามารถในการประสบความสำเร็จในชีวิตเราด้วย

 

แต่โชคร้ายที่ความก้าวหน้าในชีวิตเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ลดลงในหมู่เด็กๆ ยุคนี้ เพราะบ่อยครั้งพวกเขามักจะได้รับคำสบประมาทว่า ‘ทำไม่ได้หรอก’ ยกตัวอย่างการสอบวัดระดับต่างๆ ที่ไม่ค่อยคำนึงถึงความแตกต่างของพัฒนาการของเด็กแต่ละคน แล้วก็ใช้ผลการสอบนั้นตัดสินความสามารถของเด็กๆ เพียงอย่างเดียว

 

ซึ่งถ้าเด็กคนนั้นไม่ใช่คนเก่ง และไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดเท่าที่ควร พวกเขาอาจจะเริ่มเชื่อว่าตัวเองไม่มีความสามารถพอที่จะทำสิ่งสิ่งนั้น แล้วจะหยุดความพยายามไปโดยปริยาย ส่วนในกรณีที่พวกเขารู้สึกไม่มีความสามารถในห้องเรียน พวกเขาก็อาจจะหันไปหาทางออกที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้ตัวเองได้สัมผัสกับการเติบโตและการพัฒนา

 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริษัทที่ผลิตเกม แอปพลิเคชัน และสิ่งล่อใจอื่นๆ ยินดีที่จะเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ให้กับเด็กๆ ด้วยการจัดหาทางออกแบบสำเร็จรูปแก่เด็กที่ขาดสารอาหารทางจิตใจ เพราะพวกเขารู้ดีว่า คนที่ซื้อเกมไปเล่นจะรู้สึกเพลิดเพลินกับการเลื่อนขั้น เหมือนกับการได้ผู้ติดตามหรือยอดไลก์เพิ่มในโซเชียลมีเดีย ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ก็ถือเป็นผลตอบรับที่รวดเร็ว และทำให้ผู้เล่นรู้สึกดี

 

ในกรณีนี้ ผู้ปกครองอาจช่วยเหลือเด็กๆ ได้ด้วยการผ่อนปรนความเข้มงวดในการให้พวกเขาร่ำเรียน ทำกิจกรรม หรือเล่นกีฬา รวมถึงลดความกดดันหรือความคาดหวังต่อเด็กๆ แล้วลองพูดคุยกับพวกเขาถึงสิ่งที่ชอบและสนุกที่จะทำ เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาทำตามวิธีที่ตัวเองจะพัฒนาความสามารถได้ดียิ่งขึ้น

 

ความสัมพันธ์: เด็กๆ ก็ต้องการรู้สึกว่าตัวเองสำคัญกับคนอื่นๆ เหมือนกับที่ผู้ใหญ่รู้สึก แต่โอกาสที่จะได้สิ่งเหล่านี้ (รวมถึงการพัฒนาทักษะทางด้านสังคม) ขึ้นอยู่กับโอกาสในการ ‘ออกไปเล่น’ หรือพบปะกับผู้อื่น

 

ปัจจุบันการเล่นของเด็กๆ มีลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนรุ่นก่อนๆ ได้รับอนุญาตให้เล่นหลังเลิกเรียนได้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับเด็กคนอื่นๆ อย่างใกล้ชิด แต่ทุกวันนี้ การออกไปเล่นกลางแจ้งของเด็กๆ ถูกจำกัดโดยผู้ปกครอง เนื่องจากกลัวอันตรายบนท้องถนน หรือกลัวว่าเด็กๆ จะถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี และถูกลักพาตัว ทั้งนี้โดยอ้างอิงจากข้อมูลการสำรวจความเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองในบทความของ Atlantic

 

“เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่ช่วงเวลาว่างของเด็กๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมันทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจ” ผู้สำรวจข้อมูลผู้ปกครองกล่าวในบทความของ Atlantic น่าเศร้าที่สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ หลายคนไม่มีทางเลือก นอกจากเก็บตัวอยู่ในห้อง เข้าร่วมโปรแกรมที่วางไว้ และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการติดต่อกับคนอื่น

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเข้าสังคม ผู้ปกครองควรปล่อยให้พวกเขาได้มีเวลาว่างในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในวัยใกล้เคียงกันแบบตัวต่อตัวบ้าง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้เด็กๆ ได้ค้นพบมิตรภาพและการติดต่อสื่อสาร หาไม่แล้วพวกเขาอาจจะมองหาในโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียแทน 

 

อย่างไรก็ตาม ในฐานะของผู้ปกครอง ก็ควรที่จะคอยจับตามองอยู่ห่างๆ และให้คำแนะนำอยู่เรื่อยๆ แต่ต้องระวังไม่ให้กดดันเกินไปจนถึงขั้นก้าวก่ายหรือชักนำไปหมดทุกอย่าง เพื่อให้เด็กๆ ได้เติบโตไปอย่างมี ‘อิสรภาพ’ ‘ความสามารถ’ และ ‘ความสัมพันธ์’ ในแบบที่พวกเขาสบายใจ

 

บทความนี้ถอดความมาจากบทความของ Nir Eyal ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

 

ภาพ: ShutterStock

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X