ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 3% จากปี 2563 ที่ติดลบ สาเหตุหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และมองว่าการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับสู่ระดับ 40 ล้านคนเหมือนก่อนโควิด-19 อาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปี
ทั้งนี้ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) คาดว่า GDP ปี 2564 จะขยายตัว 3.1% โดยกรณีที่ไม่สามารถคุมการแพร่ระบาดได้และต้องล็อกดาวน์ทั่วประเทศนาน 2-3 เดือนอาจจะทำให้ GDP ปีนี้อยู่ที่ 0% หรือติดลบ
ขณะที่ปี 2565 จะโต 2.5% ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่กลับมาโตบนฐานจริง ซึ่งตามปกติเศรษฐกิจจะโตแค่ 3-4% ที่เป็นระดับศักยภาพของไทย ซึ่งปีนี้อยากเห็นการกระตุ้นในประเทศผ่านนโยบายการคลังมากกว่า เพราะการพึ่งพานอกประเทศ (เฉพาะการส่งออก) ยังมีความเสี่ยงสูง
ปีนี้เม็ดเงินมาตรการเยียวยารอบใหม่ของรัฐที่ราว 2 แสนล้านบาท คิดเป็นมูลค่าครึ่งหนึ่งของมาตรการในการระบาดรอบก่อนที่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แม้ปีนี้มีการควบคุมเฉพาะพื้นที่ซึ่งส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ แต่คนยังกระทบหนักมาจากการระบาดรอบก่อน จึงมองว่าการใช้เงินครึ่งหนึ่งของการล็อกดาวน์ในปีก่อนยังไม่เพียงพอ
แต่ต้องใช้เม็ดเงินเท่าไรยังไม่สามารถระบุได้ จึงอยากเห็นความชัดเจนของกระทรวงการคลังว่าจะมีนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ตรงจุด ตรงเซกเตอร์ที่ได้รับผลกระทบอย่างไร ทั้งนี้ ขนาดของเม็ดเงินที่ออกมายังมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ
“ถ้าอยากให้การใช้จ่าย การบริโภคที่อ่อนแอและติดลบกลับเป็นบวก 3-4% จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติมเพื่อเป็นแรงช่วยในปีนี้”
ขณะที่การส่งออกของไทยต้องติดตามการส่งออกในภูมิภาคเอเชียที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และการทำงานที่บ้าน แต่ยังมีเซกเตอร์รถยนต์ที่ตัวเลขยังบวกไม่ชัดเจน การนำเข้าเพื่อประกอบส่งออกของไทยยังน้อยและไม่เห็นสัญญาณบวกที่ชัดเจน ทางกระทรวงพาณิชย์มองว่าการส่งออกปี 2564 จะกลับมาขยายตัวที่ 4%
ดังนั้นปี 2564 มี 4 ปัจจัยที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยและต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
1. ข้อจำกัดทางการคลังจากหนี้สาธารณะของไทยที่ขยับเข้าใกล้กรอบในระดับ 60% โดยปี 2563 ที่ผ่านมา การออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐทำให้หนี้สาธารณะขยับสู่ 50% จากช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ระดับ 40% อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจยังมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย
2. การท่องเที่ยวไทยคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาราว 3-5 ปีจึงจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนโควิด-19 เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกในปีนี้ยังต้องระมัดระวังอยู่ และนโยบายของไทยที่จะเน้นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงไม่ใช่เชิงปริมาณ
3. การลงทุนภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ จึงหวังว่าการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐอย่าง EEC จะมีความชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อให้ภาคเอกชนยังลงทุนต่อเนื่อง
4. พัฒนาการทางการเมืองปีนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดมา 0.75% ในปี 2563 คาดการณ์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันพุธหน้า (3 กุมภาพันธ์) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% และคงไว้ตลอดทั้งปี 2564 โดยยังมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยหากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยแย่ลง (ต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศ) ขณะเดียวกันมองว่าประสิทธิผลของนโยบายการเงินน้อยลงแล้ว จึงเป็นบทบาทของนโยบายการคลังที่ต้องออกมาเพิ่มเติมในปีนี้
ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นจากกรณีดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจากการอัดฉีดเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ากลางปี 2564 จะอยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 29.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศ และเกิดขึ้นต่อเนื่องนับจากจุดที่อ่อนค่าสูงสุดในปี 2558
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์