×

สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชี้ ท่องเที่ยวไทยใช้เวลา 3-5 ปีถึงฟื้น จับตาการเมือง-ทีมเศรษฐกิจใหม่

15.10.2020
  • LOADING...
ท่องเที่ยวไทย ฟื้นตัว 3-5 ปี สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด Standard Chartered

ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกที่ยังติดลบ รวมถึงการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 15% ของ GDP แต่สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวยากขึ้น 

 

ทั้งนี้ คำถามหลักที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจคือ ประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับสู่ระดับ 40 ล้านคนช่วงไหน โดยทางธนาคารมองว่าต้องใช้เวลาอีก 3-5 ปี เพื่อที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับสู่ช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะต้องรอดูสถานการณ์ทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย และนโยบายของไทยที่อาจเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพมากขึ้น จากเดิมที่เน้นตลาดจีนเป็นหลัก

 

“แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่มั่นคง ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้” ทิมกล่าว

 

ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองยังต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการเมืองเมื่อวานนี้ (14 ตุลาคม) สถานการณ์ยังอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร ดังนั้น บนพื้นฐานว่าเศรษฐกิจไทยยังติดลบอยู่ ประเด็นนี้อาจกระทบการฟื้นตัวในระยะต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เช้าตรู่ของวันนี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าไปสู่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกลับสู่ระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองว่าปีนี้ค่าเงินบาท ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองว่าบาทอาจแข็งค่า

 

ด้านปัจจัยในประเทศ เห็นการเว้นระยะราว 3 เดือนในช่วงที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก 2  คน ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องด้านนโยบายเศรษฐกิจหลังจากไตรมาส 2/63 มีการออกมาตรการอย่างเข้มข้น จึงหวังว่าไตรมาส 4/63 มาตรการรัฐจะเข้าสู่เศรษฐกิจมากขึ้นอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

 

แต่ส่วนสำคัญคือ SME ที่มีส่วน 40% ของ GDP เมื่อได้รับผลกระทบจากรายได้ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ การหารายได้ ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญและมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตามได้แก่ การท่องเที่ยว สถานการณ์การเมือง และการส่งออก ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจับตามองเรื่องการท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นหลัก ทั้งนี้ตัวเลขส่งออกของประเทศเกิดใหม่ ภูมิภาคเอเชีย และไทย ส่งสัญญาณดีขึ้นจากการติดลบน้อยลง โดยทางธนาคารประมาณการว่าการส่งออกเดือนกันยายน 2563 จะติดลบราว 5% จากทั้งปี 2563 ที่ติดลบ 8%

 

ทางธนาคารคาดการณ์ว่า GDP ไทยปี 2563 จะติดลบ 8% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินว่าจะติดลบ 5% ในขณะที่ปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2% จากตอนแรกที่ประเมินไว้ที่ 1.8% แต่เศรษฐกิจไทยประเมินว่าใช้เวลาราว 1-2 ปีที่จะกลับไปสู่ระดับ 3-4% 

 

“เราเพิ่งได้ทีมเศรษฐกิจใหม่หลังจากขาดช่วงไปหลายเดือน การเบิกจ่ายจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก ตอนนี้ตลาดการเงินอยู่ในภาวะ ‘ติดตามดูสถานการณ์’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทิศทางจากกระทรวงการคลัง, การเบิกจ่าย, การลงทุนของรัฐบาลที่ควรจะนำร่องภาคเอกชนให้มีการลงทุนภายในประเทศ, การเมือง, การเปิดประเทศ, การพัฒนาวัคซีนสำหรับต้านโควิด-19” ทิมกล่าว

ทิมยังเชื่อว่า ธปท. ก็อยู่ในภาวะติดตามสถานการณ์เช่นเดียวกัน ถ้าสถานการณ์ยังทรงตัวและเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น ธปท. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงในช่วงในไตรมาสนี้ โอกาสที่ ธปท. จะลดดอกเบี้ยไปที่ 0.25% ก่อนสิ้นปีก็เป็นไปได้ 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าตลาดการเงินยังให้ความสนใจว่านอกเหนือจากการลดดอกเบี้ย ธปท. มีนโยบายการเงินทางเลือกอะไรที่อาจนำมาใช้ในปี 2564 จะเป็น QE หรือ Yield Curve Control หรือ นโยบายช่วยเหลือ SMEs เพิ่มรูปแบบ ประสิทธิภาพ ความเหมาะสมของนโยบายเหล่านั้นสำหรับเศรษฐกิจไทย ผลลัพธ์คาดการณ์น่าจะเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินและนักลงทุนให้ความสนใจต่อเนื่องไปถึงปีหน้า จับตาไทยใช้ QE หรือไม่

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising