ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด คาดเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อ และส่วนต่างดอกเบี้ยกับสหรัฐฯ ที่กว้างมากขึ้น จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้
ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาส 4 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยมีแรงผลักดันจากภาคการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ในขณะที่การส่งออกยังคงแข็งแกร่ง และการบริโภคภาคเอกชนดีขึ้นต่อเนื่อง มุมมองบวกดังกล่าวถือว่าต่างจากสองปีที่แล้วในช่วงโควิด
“อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ต้องจับตามองในขณะนี้ คือเงินเฟ้อจะมีผลต่อการบริโภคไหม เราไม่อยากให้การบริโภคซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยสะดุดลง ทั้งนี้ เพื่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย” ทิมกล่าว
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโตที่ 3.3% และ 4.5% ในปีหน้า โดยการฟื้นตัวจะชัดเจนตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ความผันผวนในตลาดการเงินก็ยังน่าจะยังสูงอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยธนาคารคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะยังคงขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในการประชุมเดือนกรกฎาคมและกันยายน และการขึ้นแต่ละครั้งน่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อนข้างมาก
“การขึ้นดอกเบี้ยอย่างมากและอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท และจะยิ่งทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ห่างมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ตลาดการเงินน่าจะยังคงอยู่ในภาวะผันผวนไปอีกระยะหนึ่ง เรายังไม่เห็น Fed เริ่มส่งสัญญาณการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย” ทิมระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่า กนง. จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสนี้ โดยขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปอยู่ที่ 1.25% ก่อนสิ้นปีนี้ จาก 0.50% ในปัจจุบัน การประชุมนัดพิเศษนอกจากการประชุมรอบปกติก็อาจเป็นไปได้ ท่ามกลางความผันผวนของตลาดการเงินจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และเงินเฟ้อในประเทศที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้กระนั้น หลังจากการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในประเทศในปีนี้ ทำให้ในปีหน้า กนง. อาจพักการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อตามดูเศรษฐกิจก่อนก็เป็นได้
“เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 7% ซึ่งสูงกว่ากรอบเงินเฟ้อ ธปท. ซึ่งตั้งไว้ที่ 1-3% จึงเป็นคำถามว่า ธปท. จะปรับกรอบเงินเฟ้อต่อปีในช่วงต้นปีหน้าหรือไม่ นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจกำลังค่อยๆ ฟื้นตัว เราเชื่อว่านักลงทุนน่าจะสนใจว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะเริ่มลดลงบ้างไหม จากที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 60% ของ GDP ในขณะนี้ เทียบกับ 40% ช่วงก่อนการระบาดของโควิด” ทิมกล่าว