ข่าวใหญ่ในแวดวงนักสะสมแสตมป์ในช่วงเดือนที่ผ่านมาคือการประมูลแสตมป์ Inverted Jenny ด้วยราคา 2 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 70.2 ล้านบาท คว้าตำแหน่งแสตมป์ราคาแพงที่สุดในอเมริกา ณ ปัจจุบัน
ขณะที่ในเมืองไทยกำลังจะมีงาน ‘POSTiverse’ 140 ปี ไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก ซึ่งไฮไลต์ของงานคือการจัดแสดง แสตมป์มังกร 500 Mon ที่แพงที่สุดในเอเชีย และ The British Guiana 1c Magenta แสตมป์ราคาแพงที่สุดในโลก ทำให้กระแสการสะสมแสตมป์ดูมีสีสันขึ้นมาทันที
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมนักสะสมตราไปรษณียากรแห่งอเมริกา (American Philatelist Society) มีสมาชิก 57,815 คนในปี 1988 และลดลงกว่าครึ่งในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่ามูลค่าของแสตมป์จำนวนมากกำลังลดลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักสะสมพบว่าแสตมป์จำนวนมากไม่ได้หายากอย่างที่คิด จากการตรวจสอบผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ดี จำนวนนักสะสมในมุมอื่นของโลกกลับเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีผู้สะสมแสตมป์ราวๆ 60 ล้านคน และ 2 ใน 3 เป็นนักสะสมชาวเอเชีย โดยนักลงทุนชาวจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดสะสมแสตมป์ทั่วโลก และแสตมป์หายากก็ยังคงทำราคาได้น่าตื่นใจเช่นกรณีของ Inverted Jenny
Inverted Jenny เป็นหนึ่งในคอลเล็กชันเริ่มต้นของการส่งไปรษณีย์ทางอากาศของสหรัฐอเมริกา จึงมีรูปภาพเครื่องบิน Curtiss JN-4 อยู่ตรงกลาง ผลิตในปี 1981 ในราคาเพียง 24 เซนต์ แต่ในยุคที่น้อยคนจะเคยเห็นเครื่องบินกว่าจะรู้ว่าแสตมป์ที่ผลิตพิมพ์ภาพเครื่องบินกลับหัว แสตมป์ก็ถูกนำออกขายไปแล้ว 100 ดวง นับตั้งแต่นั้นมา แสตมป์เหล่านั้นก็กลายเป็นที่ต้องการของนักสะสมแสตมป์ทั่วโลก จนโด่งดังถึงขนาดที่การ์ตูน The Simpsons เคยเอาไปล้อเลียนในปี 1993
หลังจากนั้นมีการประมูลแสตมป์รุ่นนี้หลายครั้ง ล่าสุดคือแสตมป์หมายเลข 49 ของนักสะสมผู้ล่วงลับที่ได้รับการดูแลรักษาไว้เป็นอย่างดี ทำให้สียังคงสดใสเหมือนใหม่ จนได้คะแนนความสมบูรณ์ที่ 95 จาก 100 คะแนน ซึ่งไม่มี Inverted Jenny ที่หลงเหลืออยู่สมบูรณ์ไปกว่านี้อีกแล้ว ดังนั้นเมื่อนำขึ้นประมูลโดย Siegel Auction Galleries ในนิวยอร์กจึงทำราคาได้สูงถึง 2 ล้านดอลลาร์
ส่วนปัจจุบันแสตมป์ที่มีราคาแพงที่สุดในโลกได้แก่ The British Guiana 1c Magenta ด้วยสถิติราคา 8,307,000 ดอลลาร์ หรือราว 300 ล้านบาท โดยกำเนิดขึ้นที่บริติชกายอานา หรือประเทศกายอานา ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในยุคนั้นทางการอังกฤษไม่สามารถส่งแสตมป์ได้เพียงพอกับความต้องการใช้งาน ทำให้สำนักงานราชกิจจานุเบกษาในจอร์จทาวน์ เมืองหลวงของอาณานิคมต้องพิมพ์แสตมป์ขึ้นมาใช้เองแบบหยาบๆ และเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จึงให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์เซ็นชื่อย่อลงบนดวงแสตมป์ก่อนนำออกไปใช้งาน ในอัตราค่าฝากส่งสำหรับ 1 เซนต์ สำหรับการส่งหนังสือพิมพ์ภายในเมืองเท่านั้น
โดยปัจจุบันแสตมป์นี้เหลืออยู่เพียงดวงเดียว เพราะว่าในยุคนั้นไม่มีใครคิดเก็บแสตมป์ที่ติดอยู่บนหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่อ่านแล้วก็จะถูกทิ้งหรือถูกทำลายไปตามกาลเวลานั่นเอง
The British Guiana 1c Magenta ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 1873 โดยเด็กชายชาวสกอตวัย 12 ปี และขายออกไปด้วยราคา 6 ชิลลิ่ง จากนั้นก็ถูกขายต่ออีกถึง 12 ครั้ง จนกระทั่งบริษัท สแตนลีย์ กิบบอนส์ จำกัด อังกฤษ ประมูลไปด้วยราคา 8,307,000 ดอลลาร์ในปี 2021 โดยจะถูกนำมาแสดงที่เมืองไทยพร้อมๆ กับแสตมป์มังกร 500 Mon แสตมป์ที่แพงที่สุดในเอเชียจากประเทศญี่ปุ่นที่ถูกตั้งฉายาว่าเป็นตัวตลกแห่งวงการแสตมป์
แสตมป์มังกร 500 Mon พิมพ์ในปี 1871 เป็นแสตมป์สีเทาอมเขียว ความพิเศษของแสตมป์ดวงนี้เกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์ราคาบริเวณกลางดวงแสตมป์ ซึ่งถูกพิมพ์กลับหัวด้วยหมึกสีดำ และเหลือเพียงดวงเดียวในโลกเท่านั้น ถูกค้นพบโดย จอห์น ซี. ลินสลีย์ นักสะสมชาวอเมริกัน หลังจากนั้นลูกเลี้ยงของเขาได้ส่งแสตมป์ดวงดังกล่าวไปขอออกใบรับรองจากสมาคมตราไปรษณียากรแห่งประเทศญี่ปุ่น (I.S.P.) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้คือ ดร.วาร์โร อี ไทเลอร์ และ ดร.ทานิ ทาคาชิ ตรวจสอบ ผลสรุปออกมาว่าแสตมป์ดวงดังกล่าวเป็นของแท้ บริเวณด้านหลังที่มุมขวาล่างจึงมีลายเซ็นด้วยดินสอชื่อ ‘ไทเลอร์’ กำกับอยู่ ในปี 2023 มังกร 500 Mon ถูกนำมาออกประมูลโดยบริษัท เดวิส เฟลด์แมน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สวิตเซอร์แลนด์ ในราคา 4,400,000 ยูโร หรือราว 200 ล้านบาทเลยทีเดียว
สำหรับการสะสมแสตมป์หายากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าแสตมป์ ทั้งรูปภาพบนแสตมป์ ขอบหรือรอยปรุ สกุลเงินดั้งเดิม ประเทศต้นกำเนิด และประวัติหรือภูมิหลังของแสตมป์แต่ละดวง โดยเฉพาะแสตมป์ที่มีข้อผิดพลาดมักจะมีค่ามากกว่าเพราะถูกยกเลิกจำหน่ายจึงหายากกว่า โดยข้อมูลจาก Journal of Financial Economics พบว่าแสตมป์สะสมของอังกฤษตั้งแต่ปี 1900-2008 มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าพันธบัตร แต่ต่ำกว่าผลตอบแทนจากตราสารทุน จึงเป็นวิธีที่น่าสนใจในการกระจายพอร์ตการลงทุน (ถ้าคุณมีใจชื่นชอบในแสตมป์) แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการลงทุนแบบเดิมๆ เช่น ตลาดหุ้นหรืออสังหาริมทรัพย์ และอย่างไรก็ตามแสตมป์สภาพคล่องไม่สูง ซึ่งต้องใช้เวลาในการแปลงเป็นเงินสด
สำหรับมือใหม่ที่กำลังอยากลองสะสมแสตมป์ทางไปรษณีย์ไทยได้ออกแสตมป์ที่ระลึกชุด 140 ปี กิจการไปรษณีย์ไทยโดยร่วมกับ 4 นักออกแบบไทยที่มีผลงานกับแบรนด์ระดับโลกมาร่วมสร้างสรรค์แสตมป์ 4 แบบ ได้แก่
- ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล ศิลปินอิลลัสเตรเตอร์ชาวไทยที่เคยมีผลงานกับ Gucci
- โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ นักวาดภาพประกอบที่เคยร่วมงานกับ Hermès
- ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง หรือ ปอม ชาน นักวาดภาพประกอบสาวชาวไทยผู้เคยฝากผลงานไว้กับ Nike และงาน Oscars
- เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล นักวาดภาพประกอบเคยร่วมงานกับ Facebook และ Uniqlo
โดยจะวางจำหน่ายในงาน POSTiverse : ส่งความสุขไปทุกเวิร์ส 140 ปี ไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 ราคาดวงละ 35 บาท
The British Guiana 1c Magenta ราคาประมาณ 300 ล้านบาท
แสตมป์มังกร 500 Mon ราคาประมาณ 200 ล้านบาท
Inverted Jenny ราคาประมาณ 70.2 ล้านบาท
แสตมป์ที่ระลึก 140 ปีไปรษณีย์ไทย ออกแบบโดย ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล
แสตมป์ที่ระลึก 140 ปีไปรษณีย์ไทย ออกแบบโดย โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์
แสตมป์ที่ระลึก 140 ปีไปรษณีย์ไทย ออกแบบโดย ปอม ชาน
แสตมป์ที่ระลึก 140 ปีไปรษณีย์ไทย ออกแบบโดย เหนือ-จักรกฤษณ์ อนันตกุล
อ้างอิง: