×

Stagflation คืออะไร? เศรษฐกิจไทยเสี่ยงแค่ไหนในการเผชิญภาวะดังกล่าว

10.03.2022
  • LOADING...
Stagflation คืออะไร? เศรษฐกิจไทยเสี่ยงแค่ไหนในการเผชิญภาวะดังกล่าว

ตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ในยามที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี ธุรกิจจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น เมื่อคนมีรายได้จากการทำงาน ความต้องการในการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย 

 

ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจชะลอตัว โอกาสที่คนจะถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานทำจะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อคนขาดรายได้ แรงจูงใจในการใช้จ่ายก็จะน้อยลง ส่งผลให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงตาม

 

โดยทั่วไปธนาคารกลางจะใช้กลไกดอกเบี้ยเข้ามาดูแลเศรษฐกิจ ในเวลาที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงเกินไปจนเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรง 

 

ส่วนในกรณีที่เศรษฐกิจฝืดเคืองก็จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อจูงใจให้มีการใช้จ่ายและลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น 

 

ทำความรู้จักภาวะ Stagflation

 

ลองจินตนาการกันดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากกลไกทางเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ทำงานตามหลักการข้างต้น เกิดภาวะที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจยังซบเซาฝืดเคืองและคนว่างงานสูง 

 

ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวะดังกล่าวว่า Stagflation ซึ่งเป็นการนำเอาสองคำคือ Stagnation ที่แปลว่าการหยุดชะงักหรือภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาฝืดเคือง กับคำว่า Inflation ที่หมายถึง ภาวะเงินเฟ้อ มาผสมรวมกัน

 

ภาวะ Stagflation นี้ถือเป็นฝันร้ายในทางเศรษฐกิจ เพราะการที่คนมีรายได้โตช้ากว่าค่าครองชีพจะทำให้เกิดการรัดเข็มขัดไม่อยากบริโภค ผู้ประกอบการจะขายสินค้าได้ลดลง ทำกำไรได้ลดลง ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานหรือลงทุนขยายกิจการ และในท้ายที่สุดอาจต้องปลดคนงานออก เมื่อคนไม่มีรายได้ตกงานมากเข้าๆ การบริโภคก็ยิ่งย่ำแย่ วนเป็นลูปที่ยากจะแก้ไข

 

ขณะที่ฝั่งผู้กำกับนโยบายที่มีหน้าที่จัดการปัญหาก็ต้องเจอกับข้อจำกัดด้านนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะกลไกดอกเบี้ยปกติไม่สามารถใช้ภายใต้ภาวะนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 

บทเรียนจากอดีต

 

Stagflation เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษที่ 70 โดยสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว คือการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันอย่างรวดเร็วจากการที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในโลกอาหรับคว่ำบาตรชาติตะวันตกที่ให้ความช่วยเหลืออิสราเอล จนกลายเป็นวิกฤตน้ำมันโลก ทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจนสูงเกิน 10% ท่ามกลางอัตราการว่างงานที่สูงใกล้ 10% 

 

แน่นอนว่าการแก้ปัญหา Stagflation ไม่ใช่เรื่องง่ายและกินเวลาหลายปี โดยระหว่างปี 1977-1980 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการถึง 3 คน เพื่อเข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะแต่ก็ยังเอาไม่อยู่ จนคนสุดท้ายคือ Paul Volcker ต้องตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยถึง 18% ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 

 

โดยหลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระเตื้องฟื้นกลับมาได้ปีกว่าก็ยังกลับไปถดถอยอีกครั้ง เรียกได้ว่าถดถอยสองครั้งภายในสองปี ซ้ำยังส่งผลกระทบให้กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาล้มละลายเกือบทั้งภูมิภาค 

 

สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลระบุว่า ภาวะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นราว 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำติดต่อกันหลายปี ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงเกิน 10% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน​ 

 

ไทยเสี่ยงจะเกิด Stagflation แค่ไหน?

 

การที่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ช้าจากวิกฤตโควิด อัตราผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่หลักหมื่นคนต่อวัน แต่เริ่มมีสัญญาณเงินเฟ้อเข้ามา ทำให้ความเสี่ยงที่ไทยจะต้องเผชิญกับภาวะ Stagflation เริ่มถูกพูดถึงกันมากขึ้นในระยะหลังมานี้

 

ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ของไทยได้พุ่งสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 13 ปี ที่ 5.28% เร่งขึ้นต่อเนื่องจาก 3.23% ในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 3% สองเดือนติดต่อกัน 

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยกำลังเสี่ยงจะเจอภาวะ Stagflation ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ

 

โดยระบุว่า แม้ว่าระดับเงินเฟ้อไทยจะยังไม่สูงนักหากเทียบกับประเทศอื่น แต่ที่น่าห่วงคือเงินเฟ้อเป็นระดับค่าครองชีพเฉลี่ย ทำให้คนรายได้น้อยที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายกับพลังงานและอาหารมากกว่าคนรวยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ทางการบอกมา

 

พิพัฒน์มองว่า การที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยพุ่งขึ้นสูงกว่า 5% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานที่หักเอาอาหารสดและพลังงานออกก็ขยับสูงขึ้นไปเกือบ 2% สูงที่สุดในรอบหลายปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ‘ผลรอบสอง’ ของต้นทุนราคาน้ำมันและอาหารเริ่มส่งผลให้ราคาสินค้าเริ่มต้องปรับตัวขึ้น เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารนอกบ้าน และราคาสินค้าอื่นๆ และมีแนวโน้มว่าเงินเฟ้อจะขึ้นต่อไปอีก เพราะตอนนี้ราคาน้ำมันแพงกว่าเดือนกุมภาพันธ์แล้ว

 

แม้หลายคนยังมองว่าไม่น่าห่วงเพราะเงินเฟ้อมาจากฝั่งต้นทุนที่น่าจะเป็นปัญหา ‘ชั่วคราว’ แต่ความเสี่ยงสำคัญในเวลานี้คือ ปัญหาวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังสร้างความเสี่ยงว่าเงินเฟ้อ อาจจะไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวอย่างที่ว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อจนกระทบต่อการค้าของรัสเซียและยูเครนเป็นเวลายาวนาน

 

เพราะต้องไม่ลืมว่า รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบเป็นอันดับสองของโลก รองจากซาอุดีอาระเบีย โดยมีการผลิตน้ำมันวันละกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากน้ำมันนี้หายไป โลกจะต้องหาอุปทานจากแหล่งอื่นมาทดแทน

 

ขณะเดียวกัน รัสเซียยังส่งออกก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปพึ่งพารัสเซียกว่าหนึ่งในสามผ่านท่อก๊าซ หากความขัดแย้งบานปลายจนต้องปิดท่อก๊าซ ยุโรปคงต้องมาแย่งประเทศอื่นซื้อก๊าซธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนการผลิตคงสูงขึ้นอีก

 

โดยเฉพาะไทยที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า แม้ไทยจะมีการผลิตได้ในประเทศ แต่ราคาก็อิงราคาตลาดโลกและมีการนำเข้าบางส่วน

 

นอกจากนี้ รัสเซียยังเป็นผู้ผลิตสำคัญของสินค้าโภคอื่นๆ เช่น ถ่านหิน พาลาเดียม แพลทินัม ทองแดง แร่เหล็ก และยังเป็นผู้ส่งออกสำคัญของข้าวสาลี และปุ๋ยเคมี หากสินค้าพวกนี้ขาดแคลน ต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม อาหารสัตว์ และการเกษตรคงต้องขยับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะเกิดการขาดแคลนสินค้าด้วย

 

ดังนั้น การที่เงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณว่าจะไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ และไม่ใช่ปัญหาชั่วคราว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ทำให้ไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ได้เช่นกัน

 

เราควรมีนโยบายอย่างไร?

 

พิพัฒน์ระบุว่า ในฝั่งนโยบายการเงิน จริงอยู่ว่าปัญหาเงินเฟ้อที่มาจากต้นทุน คงแก้ไม่ได้ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย (ขึ้นดอกเบี้ยไป รัสเซียคงไม่เลิกรบ หรือน้ำมันคงไม่ถูกลง) และด้วยเศรษฐกิจที่ยังอยู่ไกลจากระดับศักยภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงพอจะเน้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน

 

แต่ปัญหาคือยิ่งเงินเฟ้อสูงเป็นปัญหาที่ยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในการคาดการณ์ของทุกฝ่าย การปรับค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าบ้าน และราคาสินค้าคงบวกเอาการคาดการณ์เงินเฟ้อใส่ลงไปด้วย แบบที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Wage Price Spiral ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อค้างในระดับสูงและลงยาก

 

นอกจากนี้ในภาวะปัจจุบัน ที่ธนาคารกลางใหญ่อย่างสหรัฐฯ ส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ หากเราไม่ขึ้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคงสูงขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะกลับมากระทบเงินเฟ้อจากสินค้านำเข้าอีกรอบ

 

โดยเฉพาะในภาวะที่ไทยยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอาจทำให้เราขาดดุลมากขึ้นไปอีก เพราะไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาน้ำมันนำเข้ามากที่สุดในภูมิภาค ในขณะที่การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวดูริบหรี่ลงจากความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป

 

เมื่อถึงเวลานั้น ธปท. อาจจะเจอข้อจำกัดเชิงนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ และมีโอกาสจะถูกบังคับให้ต้องเข้ามาดูแลเงินเฟ้อมากขึ้น อย่างน้อยก็โดยการสื่อสาร ก่อนที่เงินเฟ้อจะติดลมบน และกลายเป็นปัญหาใหญ่แบบที่โลกเคยเจอ

 

ในฝั่งนโยบายการคลัง รัฐบาลอาจจะพยายามเข้าดูแลราคาสินค้า และค่าครองชีพของประชาชน แน่นอนว่าการตรึงราคาสินค้าทำไม่ได้นานแน่ๆ เพราะจะเกิดการขาดแคลนในไม่ช้า รัฐบาลต้องเน้นให้มีการแข่งขันที่เสรี และเข้มงวดกับการใช้อำนาจเหนือตลาดกักตุนสินค้า หรือค้ากำไรเกินควร และดูแลกลุ่มเปราะบาง

 

ขณะที่ภาระการคลังในการอุดหนุนราคาสินค้าแบบครอบจักรวาลจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความจำเป็นที่อาจจะต้องลดการอุดหนุน หรือเปลี่ยนรูปแบบการอุดหนุนให้ใช้ทรัพยากรการคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ตัวอย่างเช่น กองทุนน้ำมันใช้เงินมากกว่าเดือนละหนึ่งหมื่นล้านบาทในการพยุงราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม ขณะที่ค่าไฟฟ้าก็จ่อรอขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น ภาระเหล่านี้จะสูงขึ้นไปอีกหากราคาน้ำมันขึ้นไม่หยุด

 

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี รายได้ยังกลับมาไม่เต็มที่ อาจมีคนตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าทำไมต้องตรึงราคา ให้คนรวยที่ขับรถยุโรปที่เติมน้ำมันดีเซล หรือครัวเรือนที่มีรายได้สูงทำไมถึงได้ซื้อก๊าซหุงต้มในราคาที่มีการอุดหนุน

 

ดังนั้นการช่วยเหลือประชาชน โดยการดูแลค่าครองชีพ ด้วยนโยบายที่สร้างความบิดเบือนให้น้อยที่สุด การอุดหนุนที่ตรงจุด ถูกฝาถูกตัว และได้ประโยชน์สูงสุดจะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาล

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising