ชาวเมืองเซนต์หลุยส์ในสหรัฐอเมริกาออกมามาประท้วงติดต่อกัน 3 วันติด หลังไม่พึงพอใจศาลที่ตัดสินยกฟ้องอดีตตำรวจนายหนึ่งจากข้อหาเจตนาฆ่าชายผิวดำ
การประท้วงในช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเริ่มต้นอย่างสงบเช่นเดียวกับสถานการณ์ในวันเสาร์และศุกร์ แต่เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมประชาชน 2 ราย จนนำมาสู่การปะทะและการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ
การประท้วงเมื่อวันเสาร์เป็นไปคล้ายคลึงกัน ด้วยการคล้องแขนเดินขบวนอย่างสันติในย่านธุรกิจของเซนต์หลุยส์ แต่มีความรุนแรงขึ้นในช่วงกลางคืนและมีการทุบกระจกของร้านรวงในพื้นที่เสียหาย จนมีประชาชนถูกจับกุม 9 ราย
ในวันเดียวกัน มีผู้ประท้วงราว 200-300 คน ร่วมกันประท้วงอย่างสันติภายในห้างสรรพสินค้าเวสท์เคาน์ตีเซนเตอร์ของเมืองเดสเปเรสในรัฐเดียวกัน พร้อมพากันตะโกน “ชีวิตคนดำสำคัญ”
เมื่อวันศุกร์ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 33 คน ภายหลังความรุนแรงจากการประท้วงและการขว้างปาก้อนหินใส่บ้านนายกเทศมนตรี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการประท้วงเหล่านี้ 11 นาย
วิดีโอบันทึกภาพการสลายการชุมนุมแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา แต่ ลอว์เรนซ์ โอทูล ผู้บัญชาการกรมตำรวจเซนต์หลุยส์ชี้แจงว่าเป็นบอลสเปรย์พริกไทย
อ้างป้องกันตัว
เมื่อเดือนธันวาคม 2011 เจสัน สตอกลีย์ ตำรวจเซนต์หลุยส์ ยิงปืน 5 นัด ใส่ แอนโธนี ลามาร์ สมิธ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา วัย 24 ปี เสียชีวิตหลังไล่ตามเหตุต้องสงสัยค้ายา
แอนนี สมิธ แม่ของผู้เสียชีวิตเผยความรู้สึกต่อคำตัดสินว่า “ลูกชายฉันไม่ได้ทำผิด… ผู้พิพากษาตัดสินผิด เราไม่ได้รับความยุติธรรม”
ภายในบันทึกกรมตำรวจ สตอกลีย์กล่าวว่า ก่อนยิงเขาสั่งให้สมิธยกมือขึ้น โดยนายตำรวจให้เหตุผลว่าทำไปเพื่อป้องกันตัว เนื่องจากผู้ต้องสงสัยพยายามล้วงเอาปืนออกมา หลังจากนั้นจึงได้เข้าไปตรวจสอบในรถยนต์
อย่างไรก็ตาม อัยการโต้แย้งว่าสตอกลีย์ได้เข้าไปยัดปืนใส่รถยนต์ของสมิธเพื่อทำให้เขามีน้ำหนักในการก่อเหตุ พร้อมเปิดเผยว่า บนปืนกระบอกนี้มีแต่ดีเอ็นเอของตำรวจรายดังกล่าว
สตอกลีย์ แสดงท่าทีโล่งอกหลังได้ยินว่าศาลยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ภายหลังอดีตนายตำรวจเผยว่า “ผมรู้สึกว่าได้เอาเรื่องหนักใจออกไปแล้ว แต่ความรู้สึกหนักอึ้งจากการฆ่าใครสักคนไม่มีวันจะหายไปได้”
เขาได้ลาออกจากกรมตำรวจในปี 2013 และย้ายไปทำงานในบริษัทน้ำมันที่รัฐเท็กซัส จนกระทั่งในปี 2016 จึงถูกตั้งข้อหาเจตนาฆ่า โดยเขามองว่าเป็น “การตัดสินใจด้วยอารมณ์เพื่อตอบสนองเหตุผลทางการเมืองและเรื่องส่วนตัว ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย”
Photo: AFP
อ้างอิง: