×

สิงโตหนุ่มเลือดใหม่ ผลพวงความสำเร็จจากแม่พิมพ์ในเซนต์ จอร์จ พาร์ก

03.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ทีมชาติอังกฤษชุดนี้ถูกปรามาสว่าเต็มไปด้วยผู้เล่นไร้ประสบการณ์ อายุน้อย มีอายุเฉลี่ยในทีมรวมแค่ 26 ปีเท่านั้น น้อยที่สุดในบรรดา 32 ทีมเท่ากับไนจีเรียและฝรั่งเศส แต่ทั้ง 23 คนก็ช่วยกันรีดศักยภาพจนผ่านเข้ามาถึงรอบ 16 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ
  • ความสำเร็จของทีมชาติอังกฤษชุดอายุต่ำกว่า 20 ปี, 19 ปี และ 17 ปี ในปี 2017 ที่ผ่านมาคือการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี แชมป์ยูโรรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี และแชมป์ฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปี ตามลำดับ
  • ผลลัพธ์แห่งความสำเร็จทั้งหมดเกิดขึ้นจากการทุ่มทุนสร้างศูนย์พัฒนาเยาชนลูกหนัง เซนต์ จอร์จ พาร์ก เมื่อปี 2012 และการเชื่อมสะพานระหว่างทีมฟุตบอลชุดใหญ่และทีมเยาวชนด้วยกฎ Home Grown Player ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2010

12 ปีเข้าแล้วที่อังกฤษไม่เคยเฉียดเข้าไปใกล้ฟุตบอลโลก รอบ 8 ทีมสุดท้ายได้อีกเลย นั้บตั้งแต่พ่ายการดวลจุดโทษโปรตุเกสไป 1-3 ที่ฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี คืนนี้อังกฤษมีสิทธิ์จะล้างอาถรรพ์ที่ตามหลอกหลอนพวกเขามานาน 12 ปีเต็ม พร้อมโจทย์มหาหินที่ต้องลงเผชิญหน้ากับคู่แข่งฟอร์มแรงปลายจากอเมริกาใต้อย่าง ‘โคลอมเบีย’

 

ยังเร็วไปที่จะบอกว่าการอยู่ทัวร์นาเมนต์สายรองมีส่วนช่วยให้อังกฤษมีโอกาสลุ้นเข้าชิงฯ และคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 2 กลับมาประดับประเทศ เพราะชาติใหญ่ๆ ตัวเต็งในปีนี้ก็ประมาทจนตกรอบมาแล้วนักต่อนัก ทั้งอาร์เจนตินา เยอรมนี สเปน และโปรตุเกส

 

แต่จากฟอร์มการเล่นในรอบแบ่งกลุ่ม ความสดและความจี๊ดจ๊าดของผู้เล่นที่ทันจังหวะเกมกัน พร้อมตั้งหน้าวิ่งไล่บอลไม่มีหมดตลอด 90 นาที คือข้อได้เปรียบที่ผู้เล่นหนุ่มทรีไลออนส์ชุดนี้มีเหนือนักเตะรุ่นพี่ในชุดที่ผ่านๆ มาทั้งหมด

 

สถิติที่น่าสนใจของผู้เล่นชุดนี้คือนักฟุตบอลทั้ง 23 คนมีอายุเฉลี่ยเพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น น้อยที่สุดในบรรดา 32 ทีมที่ลงแข่งเทียบเท่ากับไนจีเนียและฝรั่งเศส โดยมีเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ เป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดที่ 19 ปี 269 วัน

 

 

แกเร็ธ เซาท์เกต (Gareth Southgate) โค้ชทีมชาติอังกฤษชุดนี้เชื่อมั่นในผู้เล่นพลังหนุ่มที่เขาเลือกสรรเข้ามาด้วยตัวเองกับมือมาก โดยมองว่า ‘วัย’ มีผลต่อความกระหายในชัยชนะและความสำเร็จ ที่สำคัญผู้เล่นอายุน้อยเหล่านี้ก็ยังเพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพทางลูกหนังที่สูง

 

“เมื่อเราเลือกผู้เล่นอายุน้อยมาติดทีม นั่นไม่ใช่แค่เหตุผลเพราะพวกเขาเด็กเท่านั้น แต่เพราะผลงานของพวกเขาคู่ควรกับการได้รับโอกาส โอเค ถึงมันจะดูระห่ำไปเสียหน่อยที่เลือกผู้เล่นประสบการณ์ทีมชาติน้อยเข้ามาติดทีม แต่พวกเราต้องมอบความเชื่อให้กับพวกเขา

 

“มันช่วยให้เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่นักฟุตบอลจะออกไปเล่น และปฏิบัติตามคำสั่งที่พวกเราขอได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่ามากๆ สำหรับนักฟุตบอลที่อายุเยอะ”

 

จากปัญหาเรื้อรังขุมกำลังผู้เล่น 11 คนที่เป็นสตาร์เกือบยกทีม ความเข้าใจในเกมต่ำ ต่างคนต่างก้มหน้าก้มตาเล่นไม่สนใจใคร แผนการเข้าทำไร้รูปแบบ สู่ทีมที่เล่นอย่างเป็นระบบระเบียบและเข้าใจกันมากขึ้น แม้จะไม่หวือหวาเร้าใจแต่ไว้ใจในเชิงประสิทธิภาพได้

 

ไม่ใช่แค่เซาธ์เกตเท่านั้นที่รับรู้ได้ถึงบรรยากาศของทีมที่เปลี่ยนไป เจสซี ลินการ์ด ตัวขับเคลื่อนเกมในแดนกลางขุนพลสิงโตคำรามวัย 25 ที่ยิงไปแล้ว 1 ประตูสุดสวยในนัดถล่มปานามา 6-1 ก็สัมผัสความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกที่เกิดขึ้นได้ด้วยเช่นกัน

 

“มันรู้สึกเหมือนเป็นการปฏิวัติครั้งใหม่เลยละ ผู้จัดการทีมมาพร้อมกับไอเดียที่เยี่ยมและวิธีที่เขาอยากให้พวกเราเล่น

 

“ถึงจะเป็นทีมผู้เล่นที่อายุน้อย แต่เราก็ยังมีผู้เล่นประสบการณ์สูงอยู่ในทีม ตอนนี้สปริตของทีมเราเยี่ยมมากๆ ทุกๆ คนมาด้วยใจที่เป็นหนึ่งเดียวกันและผูกพันซึ่งกันและกัน”

 

 

อังกฤษพัฒนาดาวรุ่งอายุน้อยฝีเท้าดีขึ้นมาประดับวงการได้อย่างไร

ผลงานชิ้นโบแดงของสิงโตคำรามรุ่นเยาว์ ชุดอายุต่ำกว่า 20 ปี ต่ำกว่า 19  ปี และชุดต่ำกว่า 17 ปี คือตัวอย่างผลผลิตชั้นดีส่งออกจากโรงงานเซนต์ จอร์จ พาร์ก (St. George’s Park) ศูนย์พัฒนาเยาวชนลูกหนังของสมาคมฟุตบอลอังกฤษหรือ FA

 

11 มิถุนายนปีที่แล้ว ทีมชาติอังกฤษชุดอายุต่ำกว่า 20 ปี โชว์ฟอร์มดุ ผ่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศและเอาชนะทีมชาติเวเนซุเอลาได้ 1-0 คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี (FIFA U-20 World Cup) เป็นสมัยแรกของประเทศได้สำเร็จ โดยมีผู้เล่นอย่าง โดมินิก โชลันเก, คัลเวิร์ต เลวิน และเลวิส คุก เป็นขุมกำลังสำคัญ

 

1 เดือนกับอีก 4 วันถัดมา ทีมรุ่นน้องชุดอายุต่ำกว่า 19 ปีก็มาประกาศความเกรียงไกรอีกครั้ง ด้วยการเอาชนะทีมชาติโปรตุเกสในรอบชิงชนะเลิศ ศึกยูโรรุ่นอายุต่ำกว่า 19 ปี (UEFA Under-19 Championship) พร้อมคว้าแชมป์สมัยที่ 10 ให้กับประเทศหลังห่างหายไปนานถึง 24 ปีเต็มได้สำเร็จ (แชมป์สมัยล่าสุดทำได้ในปี 1993)

 

เข้าสู่เดือนตุลาคมปีเดียวกัน ทีมชาติอังกฤษชุดอายุต่ำกว่า 17 ปี ก็คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปีมาครอง (FIFA U-17 World Cup) จากการคว่ำกระทิงดุรุ่นเยาว์ 5-2 ภายใต้การเจิดจรัสของดาวรุ่งน่าจับตาแห่งยุค ฟีล โฟเดน และริอาน บรูว์สเตอร์

 

เกียรติยศและความสำเร็จเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกันในเซนต์ จอร์จ พาร์ก ภายใต้งบประมาณการลงทุนของสมาคมฟุตบอลอังกฤษที่สูงกว่า 105 ล้านปอนด์ เพื่อเนรมิตสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพแวดล้อมให้ครบครัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาดาวรุ่งฝีเท้าดี โดยเปิดใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2012 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

 

ที่เซนต์ จอร์จ พาร์ก พวกเขาเปิดสอนและฝึกปรือนักฟุตบอลจำแนกตามช่วงวัยที่เหมาะสม ไล่ตั้งแต่ชุดอายุต่ำกว่า 7-18 ปี รวมจำนวน 17 ชุดทีม เพื่อให้นักฟุตบอลวัยกระเตาะทุกคนได้รับโอกาสขัดเกลาฝีเท้าตามโปรแกรมพัฒนาและเกณฑ์อายุที่ถูกต้อง ใส่ใจแม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ เช่นขนาดของสนาม

 

โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านเทคนิคและการตัดสินใจ ซึ่งเป็น 2 องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ดาวรุ่งเติบโตมาเป็นนักฟุตบอลที่ดีได้

 

นั่นแสดงว่าต่อจากนี้ ทีมชาติอังกฤษจะมีดาวรุ่งอายุน้อยฝีเท้าดีผลิดอกออกผลตามมาอีกมาก

 

สตีฟ คูเปอร์ โค้ชทีมชาติอังกฤษชุดอายุต่ำกว่า 17 ปีเคยให้สัมภาษณ์กับฟีฟ่าไว้ก่อนลงแข่งรายการฟุตบอลโลกรุ่นอายุต่ำกว่า 17 ปีว่า “มันคือแรงบันดาลใจและแรงจูงใจที่ทุกๆ คนเชื่อมโยงเข้าถึงกันด้วยจิตวิญญานของฟุตบอลอังกฤษ

 

“มันไม่ใช่แค่ทีมชาติอีกต่อไป แต่มันคือการร่วมกันทำงานที่ดีระหว่างสโมสรและสถาบันพัฒนาเยาวชนในประเทศ พวกเขาทำได้ดีมากในกระบวนการผลิตนักฟุตบอล เราหวังว่านี่จะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของอีกหลายๆ สิ่งหลายอย่างที่จะตามมา”

 

“เซนต์ จอร์จ พาร์ก ช่วยเราได้เป็นอย่างมาก เพราะมันช่วยรวมทุกๆ คนให้มาอยู่ร่วมกัน ภายใต้ผู้นำที่แข็งแกร่งอย่าง แดน แอชเวิร์ธ, แมธ ครอกเกอร์ (หัวหน้าโค้ชพัฒนาเยาชนของ FA) และแกเร็ธ เซาท์เกต ที่ประสานงานร่วมกันในทีมชาติอังกฤษทุกชุด”

 

 

ปัญหาที่แท้จริงคืออะไรกันแน่

อันที่จริงดาวรุ่งอังกฤษได้รับการยอมรับมาหลายยุคหลายสมัยแล้วว่าเป็นนักฟุตบอลที่มีฝีเท้าดี เพียบพร้อมไปด้วยศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นดาวเตะชั้นนำประดับวงการลูกหนังได้

 

เพียงแต่นักฟุตบอลหนุ่มอายุน้อยจากเกาะอังกฤษจำนวนไม่น้อยกลับขาดโอกาสพัฒนาตัวเองในช่วงรอยต่อระหว่างทีมชุดเยาวชนและทีมชุดใหญ่ ไม่ได้รับเวลาพิสูจน์ฝีเท้าอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการหลงแสงสีจนหลายรายแจ้งดับมาแล้วนักต่อนัก

 

ถ้าสังเกตให้ดีตั้งแต่หมดยุคของ เวย์น รูนีย์ ไป ไม่มีดาวรุ่งคนไหนที่ก้าวขึ้นมาแทนหรือพอจะทำผลงานได้เทียบเคียงกับปรากฏการณ์ที่ตำนานสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดเคยทำไว้ได้เลย

 

ธีโอ วัลคอตต์ อดีตดาวรุ่งวัย 17 ปีที่ได้รับโอกาสติดธงไปทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลกปี 2006 ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า แจ็ค ร็อดเวลล์ หรือรอสส์ บาร์กลีย์ ก็ลุ่มๆ ดอนๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขณะที่แจ็ค วิลเชียร์ ก็ถูกโรคกระดูกยุงตามหลอกหลอนจนไปไหนไม่รอด

 

ต้องยอมรับว่าการมีกฎ Home Grown Player ที่บังคับให้สโมสรในพรีเมียร์ลีกต้องลงทะเบียนนักเตะที่ฝึกฝนและเติบโตในเกาะอังกฤษตามจำนวนที่กำหนดไว้ในทีมจำนวน 8 คนจาก 25 คนตั้งแต่ฤดูกาล 2010/2011 เป็นต้นมา ถือเป็นประตูมิติที่ช่วยให้สิงโตหนุ่มได้รับโอกาสในการเติบโตเป็นสิงโตจอมห้าวได้เร็วขึ้นและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด

 

เมื่อ FA และพรีเมียร์ลีกได้ร่วมกันสร้างสะพานและประตูมิติเชื่อมระหว่างทีมชุดเยาวชนและทีมชุดใหญ่เช่นนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือมีนักฟุตบอลฝีเท้าดีจากสหราชอาณาจักรโลดแล่นในวงการหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

 

โดยเฉพาะทีมชาติอังกฤษชุดนี้ที่เราได้เห็นผู้เล่นอย่าง แฮร์รี เคน, ราฮีม สเตอร์ลิง, เจสซี ลินการ์ด, มาร์คัส แรชฟอร์ด, จอห์น​ สโตน, ลอฟตัส ชีค และเดเล อัลลี โลดแล่นอย่างสง่าผ่าเผย

 

ด้วยการใส่ใจและขั้นตอนการพัฒนาที่ดีตั้งแต่เริ่มต้นนับศูนย์จากโรงงานเซนต์ จอร์จ พาร์ก ร่วมด้วยการประสานงานไปยังสโมสรในพรีเมียร์ลีกและสถาบันพัฒนาเยาวชนลูกหนังในประเทศ เชื่อเถอะว่าตอนนี้อังกฤษมีทั้งสิงโตอนุบาล สิงโตเด็ก และสิงโตหนุ่มเข้าแถวรอคิวแจ้งเกิดตามมาอีกเป็นพรวน

 

นี่คือโมเดลความสำเร็จ ที่ไม่ได้ใช้เวลาแค่ 1-2 ปีก็เก็บเกี่ยวได้ หากแต่ต้องเอาใจใส่ และจริงจังในทุกๆ กรรมวิธี

 

อ้างอิง:

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising