×

ตอบคำถามยอดฮิต ซื้อ-ขาย กองทุนลดหย่อนภาษี SSF/ RMF อย่างไรจึงไม่เสียประโยชน์

15.12.2021
  • LOADING...

ในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีของบุคคลผู้มีรายได้ทั้งหลายคงหนีไม่พ้นการนึกถึงค่าลดหย่อนภาษีประจำปี ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่เราได้จากรัฐในแต่ละปี ทั้งในแง่ของการลงทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อเตรียมตัวเกษียณ หรือการทำประกันชีวิตตลอดจนการทำบุญ แต่ในบทความเดือนนี้เราอยากขอคุยถึงเฉพาะเรื่องการลงทุนในกองทุนประเภทที่เรียกว่า กองทุนลดหย่อนภาษี หรือ SSF และ RMF ซึ่งเป็นสองกองทุนที่มีลักษณะต่างจากกองทุนปกติทั่วไป มีเงื่อนไขที่ใช้เพื่อการลดหย่อนภาษี ซึ่งมีความสำคัญมากหากใช้โดยไม่ได้ระมัดระวัง เช่น ซื้อเกินสิทธิ์หรือขายก่อนกำหนดเวลา อาจจะทำให้เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ 

 

ก่อนอื่นขอทบทวนหลักเกณฑ์ผลิตภัณฑ์กองทุน SSF และ RMF และเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ภาษีเปรียบเทียบระหว่าง 2 กองทุนว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

 

ทีนี้มาถึงคำถามยอดฮิตที่ลูกค้าถามมาบ่อยๆ เกี่ยวกับกองทุน SSF หรือ RMF กันบ้างค่ะ

 

สำหรับลำดับการลงทุนว่าควรจะแบ่งสัดส่วนแต่ละการลงทุนเป็นอย่างไรนั้น เนื่องจากมีหลักเกณฑ์ที่ว่าวงเงินลดหย่อนของ SSF และ RMF เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน เบี้ยประกันบำนาญ และกองทุนการออมแห่งชาติ จะต้องรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทนั้น อาจแนะนำได้ว่าสำหรับคนที่ทำงานแล้ว และที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ให้เลือกลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มสิทธิ์ก่อน สำหรับลำดับต่อมาในส่วนการเลือกลงทุนในกองทุน SSF และ RMF อาจพิจารณาจากเรื่องข้อจำกัดการขายกอง โดยดูจากสภาพคล่องว่ามีระยะเวลามาก-น้อยแค่ไหน เพราะการถือครอง SSF ต้องถือครองที่ 10 ปี ส่วน RMF ต้องถือครองอย่างน้อย 5 ปี และขายออกได้ตอนอายุ 55 ปี 

 

คนที่ลงทุน RMF ไม่ครบกำหนดต่อเนื่อง 5 ปี และขายก่อน ผลในแง่ของภาษีคืออย่างไร?

การลงทุนใน RMF หลักคือลงทุนต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี (ถ้าลืมและเว้นไปจะเว้นได้เพียงปีเดียว) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี และจะขายได้เมื่ออายุครบ 55 ปี เท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าขายก่อนครบเงื่อนไขสองข้อที่บอกไป แปลว่าจะไม่เข้าเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อลดหย่อนภาษี ยกตัวอย่างถ้าลงทุนมาแล้ว 3 ปี ใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไปแล้ว 3 ปี แต่ขายในปีที่ 4 ตรงนี้เท่ากับการขอลดหย่อนที่ทำไปแล้วไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด และต้องคืนเงินที่เคยขอลดหย่อนไปให้กับกรมสรรพากร 

 

ถ้าลงทุน RMF มาแล้วยังไม่ครบ 5 ปี แต่เกิดเหตุที่ทำให้ลงทุนต่อไม่ได้ เช่น ตกงาน ต้องทำอย่างไร?

ตรงนี้ขอแนะนำว่าอย่าไปหยุดลงทุน ควรลงทุนให้ครบเงื่อนไขไป แต่ลงแค่ขั้นต่ำคือ 1,000 บาทต่อปี เมื่อลงทุนจำนวนนั้นไปจะไม่รู้สึกว่าหนักหรือเป็นภาระมากเกินไป เพราะถ้าหยุดไปเลยจะไม่เข้าเงื่อนไข และเกิดหน้าที่ที่ต้องคืนเงินรวมทั้งเบี้ยปรับ

 

ถ้าลงทุนตามเกณฑ์ RMF แล้วถือครบ 5 ปี และอายุก็ครบ 55 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รู้สึกว่าอยากขายกองทุนได้ไหม?

หากยังไม่อยากขายกองทุน นักลงทุนสามารถถือครองกองทุนต่อได้อยู่แล้ว โดยจะเก็บไว้ไปถึงอายุ 80 หรือ 90 ปี หรือเมื่อไรก็ได้เมื่อครบเกณฑ์แล้ว

 

สมมติอายุ 48 ปี ลงทุน RMF มาแล้ว 3 ปี แต่รู้สึกว่าอยากสับเปลี่ยนกอง แบบนี้ทำได้หรือไม่ และเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีอะไรหรือไม่?

การสับเปลี่ยนกองสามารถทำได้ โดยสามารถทำได้สองแบบคือ 1. สับเปลี่ยนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเจ้าเดิม หรือ 2. ย้ายกองและย้ายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนก็ได้ แต่การสับเปลี่ยนต้องทำโดยการย้ายไปลงทุนในกองที่เป็นรูปแบบเดิม ในที่นี้หมายความว่า กองที่สับเปลี่ยนไปจะยังเป็นกองที่มีคำว่า RMF โดยสิทธิประโยชน์ค่าลดหย่อนยังได้เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่ในส่วนของค่าธรรมเนียมของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จะต้องไปพิจารณาในเงื่อนไขค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนกอง ซึ่งสามารถหาดูได้ในรายละเอียดของแต่ละกองทุนที่อาจแตกต่างกัน

 

ถ้าลงทุนใน RMF เกินสิทธิลดหย่อน จะเป็นอย่างไร?

ผลคือจะขอใช้สิทธิทางภาษี และขอใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามเกณฑ์ ซึ่งรวมกับกองทุนเพื่อการออมอื่นๆ แล้วไม่เกิน 500,000 บาทซึ่งเป็นขั้นสูงสุด 

 

กรณีการลงทุน RMF หรือ SSF ผ่านแอปพลิเคชันโมบายล์แบงกิ้ง โดยตั้งให้ลงทุนเป็นประจำเท่ากันทุกเดือน จะดูเรื่องการครบเงื่อนไขอย่างไรให้ไม่พลาด?

สำหรับ RMF ในกรณีที่อายุครบ 55 ปีแล้ว ก็ต้องดูวันลงทุนให้ครบ 5 ปีจริงๆ ตาม DCA งวดแรก เช่น หากเริ่มซื้อกองทุน RMF ครั้งแรกตอนอายุ 50 ปี และซื้อต่อเนื่องทุกเดือนจนถึงอายุ 55 ปี เท่ากับนักลงทุนจะได้ซื้อกองทุน RMF ทั้งหมด 60 ครั้ง

 

เมื่ออายุครบ 55 ปีแล้ว และกองทุน RMF ที่ DCA ซื้องวดแรกครบกำหนด 5 ปีตามเงื่อนไข จะสามารถขายกองทุนทั้งหมดได้ และหากต้องการให้มีความชัดเจนตามเงื่อนไข อาจจะพิจารณาไปขายตอนอายุครบ 56 ปี เพื่อขจัดข้อสงสัยเวลาโดนสอบถามว่าทำตามหลักเกณฑ์หรือไม่

 

แต่ถ้าอายุยังไม่ครบ 55 ปี การจะขายกองทุนเมื่อครบเงื่อนไข ก่อนอื่นเลยคือต้องอายุครบ 55 ปีก่อน เพราะฉะนั้นจะจำให้ง่ายและไม่พลาดที่สุดคือ ขายเมื่อสิ้นปีที่อายุครบ 55 ปี และดูวันลงทุนให้ครบ 5 ปีตาม DCA งวดแรกด้วย แต่จริงๆ แล้วการลงทุนแบบ DCA มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการลงทุนแบบสม่ำเสมอไม่ให้ลืมในจำนวนที่เท่าๆ กัน และเพื่อถัวเฉลี่ย กระจายความเสี่ยงจากการลงทุน โดยที่การขายกองทุนก็ยังคงต้องจำหลักเกณฑ์เดิม ไม่ว่าจะลงทุนแบบเป็นก้อนรายปีหรือรายเดือนก็ตาม

 

หากลงทุนในกอง SSF มายังไม่ครบกำหนด 10 ปี แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินด่วน กรณีนี้จะเป็นอย่างไร?

ตามเกณฑ์สิทธิ์ขอลดหย่อนภาษี การลงทุนในกอง SSF ต้องถือกองทุนไว้ให้ครบอย่างน้อย 10 ปี แบบที่เรียกว่าครบแบบวันชนวัน สมมติลงทุนกอง SSF วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 วันครบกำหนดการขายกองคือ 1 กรกฎาคม 2573 แต่หากเกิดความจำเป็นต้องขายกองทุน ในช่วงเดือนธันวาคม 2570 ซึ่งยังไม่ครบเวลา แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 2563-2567 ได้มีการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามจำนวนที่ลงทุนไปแล้ว ในทางกฎหมายสรรพากรมีสิทธิ์เรียกคืนเงินดังกล่าวที่ได้ลดหย่อนไปตลอดระยะเวลาที่ลงทุน

 

ผู้ลงทุนที่ทราบว่าตนเองขายกองทุนก่อนครบกำหนดมีหน้าที่คืนเงินที่ได้รับลดหย่อนไปในการยื่นแบบแสดงรายได้เพื่อชำระภาษีในปีถัดไปคือเดือนมีนาคม 2571 นอกจากนี้ในกรณีที่ขายกองทุนในราคาที่มีกำไร กำไรนั้นต้องถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องเพดานค่าลดหย่อนต่างๆ ที่เป็นจุดจูงใจของหลายๆ คนแล้ว ต้องพึงคิดเสมอว่าการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีเป็นเพียงทางเลือกประกอบการวางแผนทางการเงิน โดยจะต้องไม่ลืมพิจารณาภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวของตนเอง รวมทั้งหนี้สินต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับการลงทุนด้วย

 

กองทุน SSF/RMF จาก SCB รายละเอียดเพิ่มเติม: https://link.scb/3kK8yeD

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising