×

ศึกชิงผู้ว่าการ รฟม. กับผลประโยชน์หลายแสนล้านที่ต้องจับตามอง

โดย THE STANDARD TEAM
02.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นรัฐวิสาหกิจ รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท
  • ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหา ‘ผู้ว่าการ รฟม.’ คนใหม่ ท่ามกลางกระแสข่าวว่าผู้มีอำนาจต้องการส่งคนของตัวเองมาทำหน้าที่

     ขณะนี้รัฐวิสาหกิจสำคัญอย่าง การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กำลังอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. คนใหม่ แทนนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ที่ครบวาระไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายเปิดช่องให้เวลาสรรหาผู้ว่าการคนใหม่ได้ถึง 1 ปี

     ภารกิจของ ‘ผู้ว่าการ รฟม.’ ต้องรับช่วงต่อโครงการรวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท รวมถึงแก้ปัญหาผลประกอบการที่ย่ำแย่ของ รฟม.

     THE STANDARD ขอพาไปทำความรู้จักกับอาณาจักรของ รฟม. ซึ่งฟังดูอาจไม่ค่อยคุ้น แต่เชื่อว่าหลายท่านต้องเคยใช้บริการหรือคุ้นเคยกับมันบ้างไม่มากก็น้อย

 

 

ทำความรู้จัก รฟม. โดยสังเขป

     ‘รฟม.’ เป็นรัฐวิสาหกิจ เจ้าของรถไฟใต้ดิน (MRT) สายแรกและสายเดียว ณ เวลานี้ของไทย ระยะทางทั้งสิ้น 20 กิโลเมตร รวม 18 สถานี (สถานีหัวลำโพง-บางซื่อ) ชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘โครงการระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล’ หรือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน

     เริ่มเปิดให้บริการเดินรถตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2547 โดย รฟม. ได้ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนดำเนินกิจการ 25 ปี

     บริษัทเอกชนที่ว่านั้นคือ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

     สรุปคือ รฟม. เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ให้สัมปทาน BEM ดำเนินกิจการ โดย BEM ต้องจ่ายค่าสัมปทานและหักรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า โฆษณา ตู้เอทีเอ็ม ให้กับ รฟม. ตามสัญญา โดยสัมปทานนี้มีไปจนถึงปี 2572

     โดยเมื่อปี 2559 รฟม. ได้ค่าสัมปทานรายปีจาก BEM ประมาณ 46 ล้านบาท พร้อมส่วนแบ่งจากรายได้การพัฒนาเชิงพาณิชย์อีกประมาณ 20 ล้านบาท รวมรายได้ประมาณ 66 ล้านบาท

 

รฟม. รัฐวิสาหกิจคุมรถไฟฟ้า 13 โครงการ

     รฟม. มีแผนดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าทั้งหมด 6 สายทาง 13 โครงการ เพื่อให้เกิดโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

     ปัจจุบัน รฟม. ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว 2 สายทาง สายทางแรก รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) หรือรถไฟใต้ดินสถานีหัวลำโพง-บางซื่อ ที่เราคุ้นเคย เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547

 

 

     ส่วนสายทางที่ 2 คือ รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงคลองบางไผ่-เตาปูน ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2559 ถ้าจำกันได้ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณี ‘ดราม่า’ รถไฟฟ้าสายสีม่วงสุดที่สถานีเตาปูน ไม่เชื่อมต่อ รถไฟใต้ดินสถานีบางซื่อ โดยเพิ่งจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-เตาปูน (เชื่อมต่อ 1 สถานี) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560

 

 

     ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค (คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2562) และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ (คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2563)

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ใต้) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ (คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2561)

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต (คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2563) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2566)

     ส่วน โครงการรถไฟฟ้าที่ได้ดำเนินการลงนามสัญญาก่อสร้างงานโยธาแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง มีจำนวน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

     ขณะที่ 5 โครงการยักษ์ มูลค่าหลายแสนล้านบาทในมือ รฟม. ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ประกอบด้วย

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ใต้) ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.01 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะขายซองทีโออาร์และเปิดประมูลโครงการได้ในเดือนธันวาคมนี้ก่อนลงนามสัญญาภายในไตรมาสแรกของปี 2561

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ใต้) ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.37 หมื่นล้านบาท

     และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดโครงการตลอดจนเคลียร์การโอนหนี้สินและทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ กทม. คาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนเมษายน 2561 เพื่อดำเนินการเปิดประมูลและก่อสร้าง

     โครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยายช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 คาดว่าจะใช้งบลงทุน 2.1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดเพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมขออนุมัติดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรี

     ส่วนโครงการที่หลายคนจับตามองคือ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท รฟม. อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุนก่อสร้างคาดจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอกระทรวงคมนาคมภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

 

ศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าการ รฟม. กับ 6 ตัวแทนที่มีสิทธิ์ครองตำแหน่ง

     ตามโครงสร้างองค์กรของ รฟม. ตามกฎหมาย จะประกอบไปด้วย คณะกรรมการ รฟม. หรือบอร์ด รฟม. ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ประธานบอร์ดคนปัจจุบันคือ พล.อ. ยอดยุทธ บุญญาธิการ เพื่อนเตรียมทหาร หรือ ตท.12 และ จปร. 23 รุ่นเดียวกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

     ส่วนฝ่ายบริหารจะมีผู้ว่าการ รฟม. เป็นผู้นำในการทำงานบริหารงานภายในและขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ

หลายฝ่ายมองว่ากระบวนการสรรหา ‘ผู้ว่าการ รฟม.’ มีการจงใจทำให้ล่าช้าโดยประธานบอร์ด รฟม. เพื่อต้องการแทรกแซงการบริหารงานภายใน รฟม. ท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูว่ามีการแต่งตั้งผู้ใกล้ชิดเข้าไปดูแลกระบวนการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาควบคุมโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ

     ความคืบหน้าล่าสุดของการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. คนใหม่นั้น รายงานข่าวจาก รฟม. แจ้งว่า ภายหลังคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. ที่มีนายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง และกรรมการ รฟม. เป็นประธาน ได้เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาตั้งแต่วันที่ 7-31 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นสมัครรวม 6 รายด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ รฟม. ฝ่ายกลยุทธ์และแผน
  2. นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ รฟม. ฝ่ายวิศวกรรมและก่อสร้าง
  3. นายรณชิต แย้มสอาด ที่ปรึกษา รฟม.
  4. นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการ รฟม.
  5. นายกฤต ธนิศราพงศ์ ผู้จัดการบริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน
  6. นายศราวุฒิ ศรีศกุน อดีตผู้บริหารสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

 

 

เทียบฟอร์ม 6 แคนดิเดต-เด็ก คสช. ตัวเต็ง

     คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. จะมีการเชิญผู้ผ่านการคัดเลือกในเบื้องต้นทั้ง 6 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมการสรรหาฯ ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 นี้ โดยจะแบ่งเป็นช่วงเช้า แสดงวิสัยทัศน์ 3 คน และช่วงบ่ายอีก 3 คน ก่อนที่จะมีการเสนอรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ในวันที่ 16 ตุลาคม 2560 นี้

     ทั้งนี้เมื่อเทียบฟอร์มว่าที่ผู้สมัครแต่ละคนนั้นต้องถือว่าล้วนแล้วแต่คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงด้วยกันทั้งสิ้น โดยในส่วนของคนใน รฟม. อาทิ นายธีรพันธ์ นั้น ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ รฟม. มานับตั้งแต่นายพีระยุทธ (อดีตผู้ว่าการ รฟม.) เกษียณอายุราชการ ก่อนจะถูกโยกย้ายขึ้นไปเป็นที่ปรึกษาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

     ส่วนนายรณชิตนั้นทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าการ รฟม. มาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดถูกกระทรวงคมนาคมและบอร์ด รฟม. ขัดขวางการสมัครเข้ารับการสรรหาจนมีเรื่องฟ้องร้องอยู่กับบอร์ด รฟม. ก่อนจะถูกโยกไปเป็นที่ปรึกษา รฟม. เมื่อต้นปี 2558 แต่ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายรณชิตกับบอร์ดได้รับการแก้ไข โดยนายรณชิตได้มีการถอนฟ้องร้องดำเนินคดีในทุกคดีที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว

     ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า ผู้ที่ได้รับไฟเขียวจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และถือเป็นตัวเต็งที่มาแรง คือ นายศราวุฒิ

     โดยนายศราวุฒิ เป็นบุตรชายของนายสว่าง ศรีศกุน อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อีกทั้งนายสว่างยังเคยเป็นบอร์ด รฟม. หลายสมัย และมีความใกล้ชิดกับนายทหารระดับสูง แต่นายศราวุฒิเองก็มีปัญหาในช่วงของการเป็นผู้บริหารสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยมีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในเรื่องของการใช้งบประมาณผิดประเภท, การใช้งบประมาณมิชอบ รวมถึงการบริหารโครงการพิงคนคร

     อย่างไรก็ตาม กระบวนการสรรหาฯ เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น

     ส่วนใครจะเข้ามาทำหน้าที่บริหารงาน รฟม. สานต่อโครงการมูลค่านับแสนล้านที่ยังไม่ได้เริ่มลงนามอีกหลายสัญญา คงต้องติดตามกันต่อไป

 

Cover Photo: CHRISTOPHE ARCHAMBAULT/AFP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising