‘ศรีนานาพร’ ปักหมุดตั้งโรงงานผลิตสินค้าขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มในเวียดนาม รองรับโอกาสตลาดสแน็กเติบโตสูง บวกกับผู้บริโภคชื่นชอบสินค้าไทย พร้อมเตรียมส่งออกไปยัง CLMV ตั้งเป้ายอดขาย 2,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี
ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ‘ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง’ จากเดิมที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 30 ปี ได้ปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจใหม่ ด้วยการสลัดภาพธุรกิจครอบครัว และดึงมืออาชีพเข้ามาบริหารงาน เพื่อรุกตลาดเครื่องดื่มและสแน็กทั้งในและต่างประเทศเต็มสูบมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ศรีนานาพร เจ้าของเบนโตะและเจเล่ จากยี่ปั๊วสู่มหาชน
- ขคำตอบ ทำไม หุ้นเวียดนาม ดิ่งเกือบจะหนักสุดของโลก ล้างภาพดาวรุ่งแห่งเอเชีย
- เปิดปัจจัยเด่น ‘ หนุนโอกาสลงทุน หุ้นเวียดนาม ’ ท่ามกลางวิกฤต
ฐากร ชัยสถาพร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจต่างประเทศ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง หรือ SNNP กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจของศรีนานาพร ยังดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลักคือ การสร้างความแข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อผลักดันองค์กรไปสู่ความเป็นผู้นำตลาดในระดับอาเซียน จากการเข้าไปทำตลาดในประเทศ CLMV โดยเริ่มต้นที่ประเทศกัมพูชา และเวียดนาม ผ่านกลยุทธ์ Localization Strategy ร่วมกับพันธมิตรในแต่ละประเทศ
ปัจจุบันบริษัทมีโรงงาน 6 แห่ง ทั้งในไทย 4 แห่ง กัมพูชา 1 แห่ง และล่าสุดเพิ่งเปิดที่เวียดนาม 1 แห่ง ครอบคลุมการส่งออกไปยัง 35 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา สปป.ลาว รวมถึงจีน
สำหรับตลาดเวียดนามนับว่ามีความพร้อมในด้านแรงงาน วัตถุดิบ และภูมิประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างมาก ประกอบกับบรรยากาศการจับจ่ายของผู้คนในเวียดนามค่อนข้างคึกคัก โดยปัจจุบันเวียดนามถือเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุด
ขณะที่ GDP เวียดนาม แม้จะลดลงแต่ยังมีศักยภาพ ทั้งในด้านประชากรที่มีกว่า 99 ล้านคน ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกขยายตัวขึ้น 19.3% เวียดนามจึงถือเป็นประเทศที่เหมาะกับการขยายการลงทุนและขยายธุรกิจ
รวมถึงตลาดเครื่องดื่มและสแน็กในเวียดนามถือว่าใหญ่และกว้างมาก โดยกลุ่มประเภทสินค้ามีแนวโน้มการเติบโตทุกๆ ปี รวมถึงการแข่งขันที่ยังไม่สูงมาก เนื่องจากความหลากหลายของขนมยังน้อยถ้าเทียบกับไทย โดยพบว่าแบรนด์โลคัลมีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศที่เข้ามาทำตลาด
ส่วนสินค้าของบริษัทที่ขายดีสุด ได้แก่ เบนโตะ ตามด้วยโลตัส และเจเล่ จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวเวียดนาม มีความชื่นชอบสินค้าที่มาจากไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการทำการตลาดจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านการใช้พรีเซนเตอร์ที่ได้รับความนิยม จึงทำให้ได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่อง
จากโอกาสดังกล่าว บริษัทจึงได้ลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าภายใต้ชื่อบริษัท S.T. Food Marketing โดยถือหุ้น 100% ผ่าน บจก.SNNP International ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) 99.9% โดยตัวโรงงานตั้งอยู่จังหวัดบิ่ญเซือง ในนิคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเวียดนามสิงคโปร์อินดัสเทรียลพาร์ค
สำหรับโรงงานการผลิต มีพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ภายใต้งบลงทุน 700 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้อที่ดินและเครื่องจักร โดยโรงงานนี้มีการจ้างงานทั้งหมด 400 คน ส่วนใหญ่จะเน้นใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในอนาคต
ทั้งนี้ โรงงานจะเริ่มผลิตสินค้าเฟสแรกในไตรมาส 4 ภายใต้แบรนด์โลตัส ตามด้วยเฟสที่ 2 จะผลิตสินค้าประเภทปลาหมึกอบ ปลาหมึกเส้นแบรนด์เบนโตะ ส่วนไตรมาสแรกของปี 2566 ถึงจะเริ่มผลิตเครื่องดื่มเยลลี่ เจเล่ โดยคาดการณ์ว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้มีความได้เปรียบในการทำตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการดำเนินงานและต้นทุนค่าขนส่งที่ลดลง
ขณะเดียวกันบริษัทได้วางเป้าหมายภายในปี 2566 โรงงานที่เวียดนามจะเป็นฐานผลิตสินค้าอย่างครบวงจร เพื่อทำการตลาดและจำหน่ายในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งร้านโมเดิร์นเทรดและเทรดิชันแนลเทรด ตลอดจนการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ใน CLMV และประเทศในแถบเอเชีย
ขณะที่ผลประกอบการในปี 2564 บริษัทมีสัดส่วนรายได้จากการขายในเวียดนาม 300 ล้านบาท ส่วนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ที่ 218 ล้านบาท มีการเติบโต 67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยรายได้หลักมาจากกลุ่มขนมขบเคี้ยว 93% ตามด้วยเครื่องดื่ม 7%
อย่างไรก็ตาม จากการขยายฐานการผลิตในเวียดนามครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายในเวียดนามให้ได้ 2,000 ล้านบาท เติบโต 7 เท่าภายใน 5 ปี และตั้งเป้าทำสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังประเทศ CLMV รวมถึงเอเชียและยุโรป ให้ได้ 8,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี